“ผู้หญิง” แบบไหนที่การเมืองไทยต้องการ

“ผู้หญิง” แบบไหนที่การเมืองไทยต้องการ

“ผู้หญิง” แบบไหนที่การเมืองไทยต้องการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อมองดูสถานการณ์การเมืองของประเทศไทย เราจะพบว่าจำนวนของผู้หญิงที่เข้าสู่พื้นที่การเมืองมีมากขึ้น โดยในปี 2562 ประเทศไทยมีสัดส่วนของผู้หญิงที่เข้าไปทำงานในรัฐสภาเพิ่มขึ้นจากยุคของรัฐบาล คสช. แม้จะมีจำนวนมากขึ้น แต่สถานะของผู้หญิงในแวดวงการเมืองก็ยังไม่ถูกยกระดับให้สูงขึ้นตามไปด้วย ซ้ำยังถูกมองว่าเป็นเพียงไม้ประดับและสีสันของการเมือง แม้กระทั่งผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถในทางการเมืองก็มักจะถูกโจมตีอย่างหนัก จนคล้ายกับว่าการเมืองไทยจะไม่มีพื้นที่ให้กับนักการเมืองหญิงเหล่านี้เลย

แต่เมื่อประเทศต้องก้าวไปข้างหน้าและความเท่าเทียมทางเพศเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ การเมืองไทยจะปรับตัวให้ทันโลกอย่างไร จึงเป็นคำถามที่เราทุกคนต้องช่วยกันคิดหาคำตอบ และวันนี้ Sanook ก็ขอร่วมมองประเด็นดังกล่าวผ่านบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงในพื้นที่การเมืองไทย เพื่อดูว่าผู้หญิงแบบไหนที่การเมืองไทยต้องมี และจะมีวิธีการใดที่จะช่วยยกระดับสถานะของผู้หญิงในพื้นที่การเมืองให้ดีขึ้นกว่าเดิม 

ความเป็นหญิงในสังคมไทย 

ในขณะที่เส้นแบ่งเรื่องเพศสภาพดูจะพร่าเลือนในโลกปัจจุบัน แต่สังคมไทยกลับยังคงแยกความเป็นหญิงและความเป็นชายผ่านเพศสรีระ เช่น รูปร่างหรืออวัยวะเพศ ซึ่งสะท้อนชัดว่ายังเป็นการแบ่งแบบคู่ตรงข้าม และตอกย้ำว่าเพศสภาพของสังคมไทยยังคงมีแค่เพศชายกับเพศหญิงเท่านั้น การจัดแบ่งในลักษณะนี้มักก่อให้เกิดปัญหา เพราะคนในสังคมยึดติดความเป็นหญิงและความเป็นชายกับการแสดงออกหรือลักษณะของเพศนั้น ๆ เช่น การเดินบิดสะโพกเหมือนผู้หญิง สะท้อนว่าลักษณะของการเดินถูกผูกติดกับร่างกายผู้หญิงที่มีทรวดทรง มีหน้าอก มีเอว มีสะโพก หรือการพูดจาห้าวเหมือนผู้ชาย ที่มองว่าลักษณะการพูดเสียงแข็งหรือการพูดด้วยน้ำเสียงโทนต่ำเป็นลักษณะการพูดแบบผู้ชายเท่านั้น เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีการจัดสถานะของเพศสภาพ โดยให้ความเป็นชายอยู่เหนือความเป็นหญิง ซึ่งส่งผลให้ผู้หญิงบางกลุ่มในสังคมไม่พอใจและลุกขึ้นมาเรียกร้องสถานะที่เท่าเทียมกับผู้ชาย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่ต้องการสิทธิที่ดีขึ้น โดย อาจารย์ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง อาจารย์ประจำสาขาสังคมวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ถึงแม้ผู้หญิงจะมีร่างกายที่เหมือนกัน แต่นั่นไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้หญิงทุกคนจะถูกกระทำเช่นเดียวกัน เนื่องจากผู้หญิงถูกระบอบชายเป็นใหญ่กระทำในหลากหลายมิติและถูกกระทำแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับในพื้นที่การเมืองของไทย ที่มีจำนวนนักการเมืองหญิงที่เข้าไปทำหน้าที่เพิ่มมากขึ้น แต่หลายครั้งกลับพบว่านักการเมืองหญิงหลายคนใช้ความเป็นหญิงและเพศสภาพมาโจมตีผู้หญิงฝ่ายตรงข้าม ทั้งที่ผู้หญิงในพื้นที่การเมืองควรพยายามสร้างความเท่าเทียมให้เทียบเท่านักการเมืองชาย นั่นจึงเกิดเป็นคำถามตามมาว่าการเมืองของไทยจะสามารถสร้างพื้นที่ที่มีความเท่าเทียมทางเพศได้จริงหรือ  

เมื่อผู้หญิงสั่นคลอนสถาบัน  

อาจารย์ติณณภพจ์กล่าวว่า พื้นที่การเมืองถูกจัดให้เป็นพื้นที่ของผู้ชายมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากสังคมมักมองว่า ผู้ชายเป็นเพศที่มีความเป็นผู้นำมากกว่าและสามารถตัดสินใจได้ดีกว่าผู้หญิง แต่เมื่อเวลาผ่านไป พื้นที่ทางการเมืองที่ถูกกันเอาไว้ให้กับผู้ชายก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ส่งผลให้ผู้หญิงเริ่มเข้ามามีบทบาทในพื้นที่สาธารณะ ขณะเดียวกัน องค์กรระหว่างประเทศเริ่มให้ความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำให้ผู้หญิงมีพื้นที่มากขึ้น รวมถึงพื้นที่ทางการเมือง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ดูเหมือนว่าผู้ชายและความเป็นชายได้กำหนดพื้นที่ทางการเมืองเอาไว้ให้กับผู้หญิงเรียบร้อยแล้ว 

“พื้นที่ทางการเมืองอนุโลมหรืออนุญาตให้นักการเมืองหญิงเป็นได้แค่ไม้ประดับ เป็นส่วนเสริม เป็นกองกำลังหนุนสำหรับการตัดสินใจเชิงนโยบาย มีหน้าที่แค่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย มีหน้าที่นำเสนอวาระการประชุมในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องการเมืองเชิงสถาบัน ไม่ใช่เรื่องที่นำไปสู่ความขัดแย้ง มันต้องเป็นประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่มีแนวโน้มว่าคนส่วนใหญ่จะต้องเห็นด้วย คล้อยตามกัน เพราะไม่ใช่เรื่องที่ต้องถกเถียงกันใหญ่โต” อาจารย์ติณณภพจ์อธิบาย

อย่างไรก็ตาม แม้พื้นที่ทางการเมืองจะสร้างกรอบและขีดเส้นให้กับนักการเมืองหญิงไว้ แต่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ปรากฏผู้หญิงที่เข้ามาสั่นคลอนสถาบันการเมืองอย่างใหญ่โต เช่น คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคุณพรรณิการ์ วานิช 

อาจารย์ติณณภพจ์อธิบายว่า นักสตรีนิยมสายเสรีนิยมเชื่อว่า ผู้หญิงที่จะเข้ามาและได้รับการยอมรับในทางการเมืองนั้น มีคุณสมบัติเพียง 2 แบบเท่านั้น คือ หนึ่ง หากผู้หญิงใช้ความเป็นหญิงในพื้นที่การเมือง ผู้หญิงก็จะถูกจัดวางอยู่ในระดับล่างของช่วงชั้นสังคมทางการเมืองในรัฐสภา คือเป็นได้แค่ไม้ประดับ หากสามารถเป็นดาวเด่นได้ ก็จะเป็นดาวเด่นระดับล่าง ไม่ได้รับการยกย่องหรือให้เกียรติทัดเทียมนักการเมืองผู้ชาย หรือ สอง หากผู้หญิงอยากเป็นนักการเมืองแนวหน้า เธอจะต้องขายความเป็นชายด้วยการแสดงออกที่เกรี้ยวกราด ดังเช่นมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ เป็นต้น 

“สิ่งที่คุณยิ่งลักษณ์ทำคือ คุณยิ่งลักษณ์เลือกใช้ความเป็นหญิงแต่พาตัวเองไปอยู่ข้างบน ไม่ได้ถูกจัดให้เป็นแค่ไม้ประดับที่ไม่มีคนฟัง หรือเป็นไม้ประดับที่มีแต่คนรอปรบมือเพราะตลกขำขัน หรือไร้สาระเสียจนคนเอ็นดู และสิ่งที่ตอบกลับการกระทำของคุณยิ่งลักษณ์ก็ไม่ใช่ความเอ็นดู แต่เป็นความหวาดระแวงของนักการเมืองจำนวนไม่น้อย” อาจารย์ติณณภพจ์ชี้

คุณยิ่งลักษณ์ใช้ความเป็นหญิงแบบที่สังคมไทยวาดขึ้นมาใช้ในพื้นที่การเมือง เช่น การเน้นนโยบายการปรองดองซึ่งเป็นการปรองดองแบบผู้หญิง การร้องไห้ในที่สาธารณะที่ทุกคนดูตกใจกับน้ำตาของเธอ หรือวลี “ดิฉันถอยจนไม่รู้จะถอยยังไงแล้ว” ที่เธอให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและน้ำตาคลอ นอกจากนี้ ในการประชุมสภาครั้งหนึ่ง คุณยิ่งลักษณ์กำลังถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตี สิ่งที่เธอทำคือเดินไปหาพรรคฝ่ายค้านขณะพักการประชุมเพื่อจะไปคุยเป็นการส่วนตัว ซึ่งในขณะนั้น คุณยิ่งลักษณ์ถูกวิจารณ์ว่าเป็น “อีโง่” ที่เล่นเกมการเมืองไม่เป็น แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งกลับตกใจ และตั้งคำถามว่าคุณยิ่งลักษณ์กำลังเล่นเกมอะไรอยู่กันแน่ 

“ในเมื่อนิยามความหมายของความเป็นหญิงขึ้นมาใหม่ไม่ได้ คุณยิ่งลักษณ์ก็ใช้ความหมายเดิม แต่สถานะของความหมายได้รับการยกระดับขึ้น เพราะสิ่งที่คุณยิ่งลักษณ์ทำก็คือยืนกรานที่จะใช้ความหมายชุดเดิม แต่เอามันมาเป็นเครื่องมือเสริมอำนาจให้ตัวเอง ในฐานะของคนที่มีฐานะเท่าเทียมกับนักการเมืองคนอื่น” อาจารย์ติณณภพจ์กล่าว 

แต่นักการเมืองหญิงรุ่นใหม่อย่างคุณพรรณิการ์กลับทำสิ่งที่แตกต่างและก้าวหน้ากว่านักการเมืองรุ่นพี่อย่างคุณยิ่งลักษณ์ ด้วยการรื้อนิยามความหมายของความเป็นชายและความเป็นหญิงขึ้นมาใหม่ ให้ผู้หญิงสามารถทำทุกอย่างได้เหมือนผู้ชาย 

“การมีปัญญาอันฉลาดหลักแหลม การปภิปรายด้วยความฉลาดปราดเปรื่อง ซึ่งเดิมเราบอกว่ามันคือคุณสมบัติของความกล้าหาญแบบผู้ชาย แต่คุณพรรณิการ์บอกว่าไม่ใช่ นี่คือคุณสมบัติแบบที่ผู้หญิงก็ทำได้ เพราะฉะนั้น คู่ตรงข้ามระหว่างความเป็นชายและความเป็นหญิงกำลังถูกกร่อนสลายให้กลายเป็นก้อนเดียว” นั่นคือสิ่งที่อาจารย์ติณณภพจ์มอง 

ถึงเป็นหญิงก็คิดต่างกัน 

ในขณะที่นักการเมืองหญิงบางคนพยายามสร้างสถานะให้เท่าเทียมกับนักการเมืองชาย และทำลายภาพเหมารวมที่สถาบันการเมืองขีดเส้นไว้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแวดวงการเมืองไทยก็ยังมีนักการเมืองหญิงที่พยายามรักษาสถานะความเป็นหญิงและความเป็นชายให้ยังเป็นชุดเดิม เช่น กรณีของคุณปารีณา ไกรคุปต์ ที่ไลฟ์เฟซบุ๊กและพาดพิงถึงส.ส. ในที่ประชุมสภา และใช้คำว่า “อีช่อ” ซึ่งไปคล้ายกับชื่อเล่นของคุณพรรณิการ์ แต่ภายหลังคุณปารีณาก็ให้สัมภาษณ์ว่าเป็นภาษาถิ่น ใช้เรียกคนที่ไม่มีมารยาท หรือกรณีล่าสุดที่คุณปารีณาให้สัมภาษณ์ว่าหากเธอเลือกเกิดได้ เธออยากเกิดเป็นผู้ชาย เพราะการเป็นส.ส.หญิงนั้นทำงานลำบาก 

“สิ่งที่คุณปารีณาทำคือการตอกย้ำความหมายเดิม เธอโอเคที่ความเป็นชายอยู่ข้างบน และตัวเองก็ขายความเป็นหญิงที่มันมีความหมายแบบเดิม สายตาที่ทุกคนมองความเป็นหญิงคือมันอยู่ต่ำกว่าความเป็นชาย และมันควรจะอยู่ตรงที่ที่มันอยู่นี่แหละ เพราะฉะนั้น คุณปารีณาจึงไม่พอใจมาก ๆ ในสิ่งที่คุณพรรณิการ์ทำ “อะไรน่ะ แต่งตัวอะไร พูดอะไร ดิฉันไม่เห็นด้วย”หรือแม้แต่การเรียกว่า “อีช่อ” ซึ่งทั้งหมดนั้นคือการทำทุกวิถีทางเพื่อจะบอกว่า คน ๆ นี้เป็นอื่นจากสิ่งที่สังคมยอมรับ เพราะสังคมยอมรับเหมือนฉัน ความเป็นชายอยู่ข้างบน ความเป็นหญิงอยู่ข้างล่าง และความหมายมันต้องเป็นชุดเดิมแบบนี้” 

อาจารย์ติณณภพจ์อธิบายต่อว่า คนจำนวนหนึ่งไม่ได้รู้สึกว่าระบอบปิตาธิปไตยคือปัญหา เขาเหล่านั้นจะคิดว่ามันคือ “ความผาสุกของสังคม” หรือสังคมดั้งเดิมเป็นสังคมที่ดีกว่า ทั้งยังเชื่อว่าสังคมไทยที่เป็นอยู่ดีอยู่แล้วและไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันก็ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่มองเห็นปัญหาความไม่เท่าเทียม แต่เขาพยายามปกป้องไม่ให้บรรทัดฐานชุดเดิมสั่นคลอน เพราะเหตุนี้ คุณยิ่งลักษณ์จึงต้องถูกกำจัดออกไป หรือคนอย่างคุณพรรณิการ์จึงถูกโจมตีอย่างหนัก 

“สิ่งที่คุณยิ่งลักษณ์โดนคือถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ คือถอดความเป็นมนุษย์ออกไป กล่าวคือ มันมีการโจมตีเรื่องการเป็นประจำเดือน การโจมตีเรื่องโฟร์ซีซันเอาอยู่ คือมันไม่ใช่การลดทอนว่าจากนักการเมืองไปเป็นผู้หญิงน่าเอ็นดู เด็กน้อยผู้น่าสงสาร ผู้หญิงที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ แต่มันไปไกลถึงขั้นลดทอนความเป็นมนุษย์ให้กลายเป็นเพียงก้อนเนื้อที่มีชีวิต ในขณะที่สิ่งที่คุณพรรณิการ์ได้รับการปฏิบัติจากพลเอกประยุทธ์ที่เรียกว่า “คนสวย” กลางสภา หรือการโดนโจมตีจากคุณปารีณา ก็เป็นการพยายามที่จะลดทอนคุณค่าความเป็นผู้หญิง” อาจารย์ติณณภพจ์แสดงความคิดเห็น 

ผู้หญิงแบบไหนที่การเมืองไทยต้องการ 

ในแวดวงการเมืองที่ความเป็นชายยังแข็งแกร่งและมีอำนาจมากที่สุด การเป็นนักการเมืองหญิงในพื้นที่แห่งนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายและยังต้องเผชิญกับอุปสรรคทางเพศอีกมากมาย แต่สิ่งที่นักการเมืองหญิงอย่างคุณยิ่งลักษณ์และคุณพรรณิการ์ทำก็สั่นคลอนและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมการเมืองของไทย ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์การใช้ความเป็นหญิงของคุณยิ่งลักษณ์ หรือความพยายามก้าวข้ามอวัยวะเพศไปสู่การนิยามความหมายใหม่ของคุณพรรณิการ์ อาจารย์ติณณภพจ์ก็เชื่อว่ามันล้วนส่งผลต่อดีต่อการเมืองไทยทั้งคู่ 

“สำหรับผม เชื่อว่าการต่อสู้ทางการเมืองในเรื่องเพศต้องประกอบขึ้นมาจากแนวทางที่หลากหลาย เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากเห็นคนอย่างคุณยิ่งลักษณ์และคุณพรรณิการ์ให้มากขึ้น และคนอย่างใครก็ไม่รู้ที่อาจจะเลือกวิธีใหม่ขึ้นมาเลย ยิ่งเรามีวิธีการที่หลากหลาย มันยิ่งกระตุ้นให้สังคมคิดว่า เรามีแนวทางต่อสู้เรื่องการเมืองเรื่องเพศที่เป็นไปได้อีกมากมาย เพราะฉะนั้น เราไม่จำเป็นต้องยึดติดแนวทางใดแนวทางหนึ่ง และที่สำคัญ เรามีทางเลือกในชีวิต มากกว่าจะต้องเห็นด้วยกับคุณปารีณาเท่านั้น” อาจารย์ติณณภพจ์กล่าว

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศในพื้นที่ทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อความเข้าใจในเรื่องเพศของสังคมไทยเปลี่ยนแปลง ซึ่งการสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นต้องใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งในครอบครัว สถานศึกษา สถานที่ทำงาน รวมถึงพื้นที่ทางการเมือง ที่ต้องมองว่ามีการแก้ไขปัญหากฎหมายกันมากพอหรือยัง ซึ่งถ้ายังไม่พอ ทุกคนควรมีส่วนร่วมในการต่อสู้และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

“ผมคิดว่าการที่เรายังสู้อยู่ เป็นเรื่องที่ดี หรือแม้กระทั่งสิ่งที่นักการเมืองหญิงยังคงทำอยู่ก็ตอกย้ำว่าเราสามารถเปลี่ยนสถานะทางสังคมของความหมายความเป็นหญิงได้ หรือจะทำแบบคุณพรรณิการ์ก็ได้ ที่นิยามความหมายขึ้นมาใหม่เลย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าต่างฝ่ายต่างทำอะไรอยู่ ก็ทำต่อไปเถอะ ต่อให้ทางที่ทำจะไม่ใช่ทางที่บรรจบกันหรือขัดแย้งกัน ก็ไม่เป็นไร ยิ่งเราขัดแย้ง สังคมจะยิ่งไปข้างหน้า เพราะเราจะถกเถียงกัน ถ้าเราไม่หยุดถกเถียง สังคมจะไปข้างหน้าแน่นอน แต่ถ้าเราคล้อยตามและทึกทักไปว่าสิ่งที่เป็นดีอยู่แล้ว เราจะไม่ต่างจากคนที่คิดแบบคุณปารีณา หรือผู้หญิงที่เชื่อว่าตัวเองเป็นผู้หญิงและมีสิทธิ์จะได้นั่งบนรถไฟฟ้า เพราะสังคมกำหนดมาแบบนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายครับ” อาจารย์ติณณภพจ์ทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook