เผยมติ 7 ต่อ 2 ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ ชี้เจตนาเลี่ยงทำตามกฎหมาย

เผยมติ 7 ต่อ 2 ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ ชี้เจตนาเลี่ยงทำตามกฎหมาย

เผยมติ 7 ต่อ 2 ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ ชี้เจตนาเลี่ยงทำตามกฎหมาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้ (21 ก.พ.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ผลการวินิจฉัย

ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (๘ ต่อ ๑) วินิจฉัยว่า การดำเนินการกรณียุบพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๙๒ ของผู้ร้องนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องมีมติในคราวประชุมเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ว่า ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน กรณีมีการร้องเรียนว่ามีเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองตามมาตรา ๙๒ ซึ่งนายทะเบียนฯ ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเสนอต่อนายทะเบียนฯ แล้ว และนายทะเบียนฯ ได้นำเสนอต่อผู้ร้องเพื่อพิจารณา ผู้ร้องเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๗๒ อันเป็นเหตุให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา ๙๒ วรรคหนึ่ง (๓) จึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นคดีนี้ ซึ่งเป็นคนละกรณีกับกระบวนการดำเนินคดีอาญาที่แยกเป็นอิสระต่างหากจากคดีนี้ การยื่นคำร้องของผู้ร้องจึงชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

ประเด็นที่สอง มีเหตุสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามมาตรา ๗๒ ประกอบมาตรา ๙๒ หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (๗ ต่อ ๒) วินิจฉัยว่า การที่พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันจะเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๗๐ นั้น

เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา ๗๒ ได้กำหนดข้อห้ามไว้เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมืองไปเกี่ยวข้องกับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเหล่านั้น อันจะทำให้พรรคการเมืองกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมหรือสนับสนุนหรือช่วยเหลือในการกระทำความผิดไปด้วย และมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสถาบันพรรคการเมืองของประเทศไทย อันเป็นมาตรการที่สำคัญเพื่อเสริมสร้างสถาบันพรรคการเมืองของประเทศไทยให้เป็นสถาบันที่มีความโปร่งใสและเป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน

การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองต้องอาศัยรายได้ของพรรคการเมืองซึ่งกฎหมายกำหนตแหล่งที่มาไว้ตามมาตรา ๖๒ ดังนั้น เงินส่วนใดที่พรรคการเมืองนำมาใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองซึ่งมิได้มีแหล่งที่มาและวิธีการได้มาตามที่กฎหมายระบุไว้ ย่อมถือว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบ แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มิได้บัญญัติห้ามการกู้ยืมสำหรับพรรคการเมืองไว้โดยชัดเจน แต่ก็ไม่ได้รับรองว่าให้กระทำได้ ประกอบกับพรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน และเงินกู้ยืมแม้มิได้เป็นรายได้แต่ก็เป็นรายรับและเป็นเงินทางการเมือง การดำเนินการเกี่ยวกับการได้มาและการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองจึงต้องกระทำภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว การกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองจึงต้องสอดคล้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

คำว่า "บริจาค" และ "ประโยชน์อื่นใด" ตามพระราชญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นคำที่มีความหมายเฉพาะในกฎหมายนี้เพื่อกำหนดสิ่งที่อยู่ในขอบข่ายบังคับแห่งกฎหมายในเรื่องนี้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ต้องการควบคุมการสนับสนุนทางการเงินที่ให้แก่พรรคการเมือง ให้เป็นอิสระจากการถูกครอบงำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า งบการเงินประจำปื ๒๕๖๑ ของผู้ถูกร้อง มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้อยู่เพียง ๑,๔๙๐,๕๓๗ บาท แต่ผู้ถูกร้องกลับทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคผู้ถูกร้อง รวม ๒ ฉบับ รวมเป็นจำนวนเงินสูงถึง ๑๙๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า ถือเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคผู้ถูกร้องที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ เป็นการทำสัญญากู้ยืมเงินที่ไม่เป็นตามปกติทางการค้าและไม่เป็นไปตามปกติวิสัยของการให้กู้ยืมเงินและการชำระหนี้เงินกู้ยืม ถือเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ถูกร้องที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ และเมื่อรวมประโยชน์อื่นใดที่ผู้ถูกร้องได้รับจากเงินกู้ยืมดังกล่าวกับเงินที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้บริจาคให้แก่ผู้ถูกร้องในปี ๒๕๖๒ จำนวน ๘,๕๐๐,๐๐๐ บาท แล้ว ย่อมชัดแจ้งว่าเป็นกรณีการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อปีซึ่งต้องห้ามตามมาตรา ๖๖ วรรคสอง

จากข้อเท็จจริง พฤติการณ์และพยานหลักฐานดังกล่าว เห็นว่า การกู้ยืมเงินของผู้ถูกร้องมีเจตนาหลีกเลี่ยงการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นตามมาตรา ๖๖ เมื่อการรับบริจาคดังกล่าวต้องห้ามตามมาตรา ๖๖ จึงเป็นการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๗๒ กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๗๒ อันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามมาตรา ๙๒ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๙๒ วรรคหนึ่ง (๓)

ประเด็นที่สาม คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองของผู้ถูกร้องจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๙๖ วรรคสอง หรือไม่ อย่างไร

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (๗ ต่อ ๒) วินิจฉัยว่า เมื่อผู้ถูกร้องได้กระทำการอันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง จึงต้องสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องแล้ว จึงชอบที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๒ หรือวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๒ โดยกำหนดระยะเวลาของการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งให้เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณี ดังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรมนูญที่ ๓/๒๕๖๒ ลงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๒ ดังนั้น จึงให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องมีกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง

ประเด็นที่สี่ ผู้ซึ่งถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจะไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่พรรคผู้ถูกร้องถูกยุบตามมาตรา ๙๔ วรรคสอง หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (๗ ต่อ ๒) วินิจฉัยว่า เมื่อสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องแล้ว จึงต้องสั่งห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๒ หรือวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๒ ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook