ปิดฉาก 708 วัน เมื่อ “พรรคอนาคตใหม่” ถูกลบชื่อออกจากการเมืองไทย

ปิดฉาก 708 วัน เมื่อ “พรรคอนาคตใหม่” ถูกลบชื่อออกจากการเมืองไทย

ปิดฉาก 708 วัน เมื่อ “พรรคอนาคตใหม่” ถูกลบชื่อออกจากการเมืองไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปิดฉาก 708 วันของ "พรรคอนาคตใหม่" ที่อยู่บนถนนการเมืองไทยมาเพียงแค่ระยะเวลาเกือบ 2 ปี นับตั้งแต่วันก่อตั้งพรรคของพวกเขาขึ้นมาในวันที่ 15 มีนาคม 2561 จนมาถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ที่เป็นวันสุดท้ายของพรรคการเมืองเลือดใหม่พรรคนี้ ที่ต้องปิดฉากลง

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่จากประเด็นการกู้ยืมเงินจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191.2 ล้านบาท และมันคือความผิดตามกฎหมายที่บัญญัติเอาไว้

คำสั่งยุบพรรคยังพ่วงไปถึงกรรมการบริหารพรรคอีก 16 ชีวิตในบ้านสีส้ม ที่ต้องม้วนเสื่อหยุดการทำงานทางการเมืองไปอีก 10 ปี

ตลอดระยะเวลาการเดินทางของพรรคการเมืองที่ชื่ออนาคตใหม่ อุดมไปด้วยความเผ็ดร้อนบนสนามการเมือง โดยเฉพาะการตั้งธงต่อสู้กับขั้วอำนาจเดิมที่ยังคงมีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน ภายใต้การนำของคนการเมืองหน้าใหม่คือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรองประธานบริหารบริษัทไทยซัมมิท และ ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมไปถึง พรรณิการ์ วานิช จากนี้ถือได้ว่าพวกเขาปิดฉากอย่างสมบูรณ์แล้วกับการทำงานการเมืองภายใต้ชื่อพรรคอนาคตใหม่ ที่ต้องเป็นไปตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ

แนวทางการดำเนินงานของพรรคอนาคตใหม่ ที่สามารถดึงเอาฐานเสียงของคนรุ่นใหม่มาอยู่ในมือได้ โดยมีจุดยืนต่อต้านรัฐประหารเป็นแกนสำคัญของพรรค ด้วยความที่เป็นพรรคใหม่ หน้าใหม่บนสนามการเมือง ภาพลักษณ์ดังกล่าวที่แปลกใหม่ สด จึงเป็นอีกทางเลือกของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจทางการเมือง ทำให้กลุ่มฐานเสียงของพรรคคือกลุ่มคนที่อยู่อาศัยในเมือง กลุ่มนักศึกษา รวมถึงผู้ที่เบื่อหน่ายทางการเมืองแบบเก่าๆ

ที่ผ่านมา พรรคอนาคตใหม่ เน้นชูนโยบายบน 2 ฐานหลัก คือ นโยบายในระดับฐานราก และนโยบายเสาหลักของพวกเขา โดยสามารแบ่งได้เป็น

นโยบายฐานราก ประกอบด้วย

  1. การกระจายอำนาจ
  2. รัฐสวัสดิการ
  3. ลงทุนการศึกษา

นโยบายเสาหลัก ประกอบด้วย

  1. การต่อต้านการผูกขาด
  2. พัฒนาการขนส่งสาธารณะ
  3. การส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร การแก้ปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดิน และการพักหนี้เกษตรกร
  4. ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
  5. ส่งเสริมการปกครองแบบโปร่งใส
  6. ยอมรับความหลากหลาย
  7. การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
  8. การเลิกการเกณฑ์ทหาร และการปฏิรูปกองทัพ

แต่กระนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าพรรคอนาคตใหม่ต้องการจะล้มล้างอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเดิม ที่ยังคงมีอำนาจต่อเนื่องในห้วงเวลาปัจจุบัน นั่นคือการพุ่งเป้า "ล้างมรดกรัฐประหาร" ให้หมดไปจากเมืองไทยให้ได้ ซึ่งก็ทำให้เกิดทั้งกระแสต่อต้าน และกระแสสนับสนุน

ที่น่าสนใจคือ ก่อนหน้าคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญจะออกมา อนาคตใหม่ มีส.ส.อยู่ในมือทั้งหมด 81 คน แต่ระหว่างที่ได้ส.ส.มาเพียงไม่กี่เดือนก็ทำให้จำนวนส.ส.ลดลงเหลือ 76 คน เนื่องจากมีส.ส.ที่ถูกเรียกกันว่า "งูเห่า" แปรพักตร์ไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่น 4 คน ขณะเดียวกันธนาธร ก็ถูกคำสั่งศาลให้พ้นสภาพความเป็นส.ส.ไปก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน ในส่วนกรรมการบริหารพรรค ที่มีอยู่ 16 คน แต่เป็นส.ส. 11 คน ซึ่งทั้งหมดจะต้องพ้นสภาพเพราะศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นระยะเวลา 10 ปี

นั่นจึงทำให้ ส.ส.ของอนาคตใหม่ในขณะนี้เหลืออยู่ 65 คน ที่ยังคงเคว้งไร้หลักพักพิง

กระนั้นก็ตาม ตามกฎหมายแล้วส.ส.ที่ไร้พรรคสังกัด จะต้องหาพรรคการเมืองสังกัดให้ได้ในกรอบระยะเวลา 60 วัน ซึ่งเท่ากับว่า 65 ส.ส.ของอนาคตใหม่จะต้องมีพรรคสังกัดให้ได้ในวันที่ 11 เมษายน 2563

รายชื่อ 16 กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองทุกอย่างเป็นเวลา 10 ปี ประกอบไปด้วย

  1. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (พ้นสภาพส.ส.)
  2. ปิยบุตร แสงกนกกุล
  3. กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
  4. ชำนาญ จันทร์เรือง
  5. พล.ท.พงศกร รอดชมภู
  6. รณวิต หล่อเลิศสุนทร (ไม่ได้เป็นส.ส.)
  7. พรรณิการ์ วานิช
  8. ไกลก้อง ไวทยการ
  9. นิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ (ไม่ได้เป็นส.ส.)
  10. สุนทร บุญยอด (ไม่ได้เป็นส.ส.)
  11. เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์
  12. สุรชัย ศรีสารคาม
  13. เจนวิทย์ ไกรสินธุ์
  14. ชัน ภักดีศรี (ไม่ได้เป็นส.ส.)
  15. จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ
  16. นิรามาน สุไลมาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook