ลูกสาวนอกสมรสอดีตกษัตริย์เบลเยียม ได้สิทธิแบ่งมรดก หลังต่อสู้พิสูจน์ DNA มากว่า 20 ปี
ราชอาณาจักรเบลเยียม เป็นประเทศในยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ทั้งหมด 30,528 ตารางกิโลเมตร อาณาเขตติดต่อกับประเทศเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส และทะเลเหนือ
เบลเยียมมีประชากรประมาณ 11,398,311 คน ซึ่งลักษณะของประแทศเบลเยียมนั้นคล้ายกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวคือ เบลเยียมมีความหลากหลายทางภาษาสูงมาก ส่งผลต่อระบบการปกครองที่ซับซ้อน โดยประเทศเบลเยียมแบ่งออกเป็นสองภูมิภาคใหญ่ๆ ได้แก่ ภูมิภาคฟลานเดอส์ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาดัตช์ และภูมิภาควัลโลเนีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาฝรั่งเศส ในขณะที่กรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียมตั้งอยู่ในฟลานเดอส์ แต่กรุงบรัสเซลส์เป็นเขต 2 ภาษา คือใช้ทั้งภาษาดัตช์และภาษาฝรั่งเศส นอกจากนี้ ยังมีชุมชนที่พูดภาษาเยอรมันในทางตะวันออกของวัลโลเนียด้วย
ทั้งนี้ เบลเยียมจัดว่าเป็นประเทศใหม่ที่ตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2374 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือประมาณ 180 ปีที่ผ่านมานี่เอง อาจจะเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่อังกฤษตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นรัฐกันชนระหว่างอังกฤษกับประเทศในภาคพื้นยุโรป เพราะเมื่อก่อตั้งขึ้นนั้นจักรวรรดิบริติชรับรองความเป็นเอกราชและความเป็นกลางของเบลเยียมมาจนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
นอกจากนี้ เมื่อสถาปนาประเทศเบลเยียมขึ้น อังกฤษก็เจ้ากี้เจ้าการหากษัตริย์ให้ราชอาณาจักรที่เกิดขึ้นใหม่นี้ด้วย โดยเชิญเจ้าชายเลโอโปลด์จากราชวงศ์แซ็กซ์-โคบูร์กและโกธา (ราชวงศ์เดียวกันที่ปกครองอังกฤษอยู่ในขณะนั้น) ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เลโอโปลด์ที่ 1 โดยมีการปกครองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยแบบรัฐสภาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม เบลเยียมมีกษัตริย์ตั้งแต่ก่อตั้งประเทศจนถึงปัจจุบันนี้ 7 พระองค์ด้วยกัน แต่กษัตริย์องค์ที่สองแห่งราชวงศ์แซ็กซ์-โคบูร์กและโกธา คือ กษัตริย์เลโอโปลด์ที่ 2 เป็นกษัตริย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านความไม่ดีสูงสุด ได้ยึดดินแดนคองโกในทวีปแอฟริกาเป็นดินแดนส่วนพระองค์และปกครองอย่างโหดเหี้ยมทารุณจนผู้คนล้มตายนับล้านคน กระทั่งรัฐบาลเบลเยียมต้องยึดคองโกมาจากกษัตริย์เลโอโปลด์ที่ 2 ให้เป็นอาณานิคมของประเทศเบลเยียมเองจนกระทั่งประเทศคองโกได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2503
ส่วนกษัตริย์องค์ที่ 3 คือกษัตริย์อัลแบร์ที่ 1 สิ้นพระชนม์เมื่ออายุ 58 ปีจากอุบัติเหตุในการปีนเขาในภาคตะวันออกของเบลเยียมในปี พ.ศ. 2476 มีพระชนมพรรษา 58 พรรษา และกษัตริย์องค์ที่ 4 คือกษัตริย์เลโอโปลด์ที่ 3 ทรงปกครองเบลเยียมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งถูกบีบให้สละราชสมบัติให้พระโอรสคือ กษัตริย์โบดวงขึ้นครองราชย์ต่อไป ซึ่งนำมาซึ่งสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองอันยาวนานถึง 42 ปีตลอดรัชกาลของกษํตริย์โบดวง
แต่ทว่าเนื่องจากกษัตริย์โบดวงไม่มีบุตรหรือธิดา ดังนั้นพระอนุชาคือกษัตริย์อัลแบร์ที่ 2 จึงขึ้นครองราชย์สืบต่อไปเป็นเวลา 20 ปี จึงสละราชสมบัติยกให้พระโอรสคือ กษัตริย์ฟิลิปขึ้นครองราชย์ต่อไปเมื่อปี พ.ศ. 2556
เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่เพิ่งผ่านมานี้ อดีตกษัตริย์อัลแบร์ที่ 2 แห่งเบลเยียมวัย 85 ปี ซึ่งได้สละราชสมบัติไปเมื่อปี พ.ศ. 2556 ได้ยอมรับว่าพระองค์เป็นบิดาของนางเดลฟิน โบเอล ประติมากรหญิงอายุ 51 ปีผู้ยื่นฟ้องร้องเพื่อพิสูจน์ดีเอ็นเอจากพระองค์ หลังผลการตรวจดีเอ็นเอโดยใช้น้ำลายระบุชัดถึงความสัมพันธ์ทางสายเลือดของพระองค์กับนางเดลฟิน โบเอล ผู้เป็นบุตรสาวที่เกิดจากความสัมพันธ์นอกสมรสกับบารอนเนส ซิบิล เดอ เซลีส ล็องช็องป์ส ผู้เป็นแม่ของนางเดลฟิน โบเอล ในช่วงปี พ.ศ. 2503 – 2513 ในขณะที่พระองค์ได้ปฏิเสธมาโดยตลอดว่า พระองค์ไม่มีลูกนอกสมรส
นางเดลฟีน โบเอล พยายามฟ้องร้องให้อดีตกษัตริย์อัลแบร์ที่ 2 ยอมรับว่าเธอเป็นลูกตั้งแต่ 20 ปีก่อน แต่การฟ้องร้องนั้นศาลไม่รับพิจารณาเนื่องจากกษัตริย์มีเอกสิทธิ์คุ้มครองจากการฟ้องร้องตามกฎหมาย แม้จะมีหลักฐานว่ากษัตริย์อัลแบร์ที่ 2 มีส่วนพบเห็นเยี่ยมเยือนในช่วงที่เธอยังเป็นเด็ก แถมเธอยังเคยเรียกพ่อของเธอว่า “ปาปิลยอน” ที่แปลว่าผีเสื้อ
ต่อมานางเดลฟีน โบเอลได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลเมื่ออดีตกษัตริย์อัลแบร์ที่ 2 สิ้นเอกสิทธิ์คุ้มครองภายหลังสละราชบัลลังก์ให้เจ้าชายฟิลิปแล้ว จนกระทั่งในเดือนพฤษภาคม 2562 อดีตกษัตริย์อัลแบร์จึงได้ยอมตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ เพื่อสะสางเรื่องราวทั้งหมดหลังจากศาลอุทธรณ์เบลเยียมตัดสินลงโทษปรับเงินพระองค์วันละ 5,000 ยูโร (ราว 170,235 บาท) หากยังยืนกรานไม่ให้ความร่วมมือมอบน้ำลายของพระองค์ให้ตรวจดีเอนเอ
ดังนั้น หลังจากการต่อสู้คดีในชั้นศาลมายาวนานถึง 6 ปี ในที่สุดก็ทำให้นางเดลฟีน โบเอล มีสิทธิ 1 ใน 8 ของมรดกจากอดีตกษัตริย์อัลแบร์ที่ 2 ในฐานะที่เป็นลูกหนึ่งใน 4 คนของอดีตกษัตริย์อัลแบร์ที่ 2 ตามกฎหมายนั่นเองละครับ