ไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 อีก 2 ราย ยอดรวม 37 เร่งร่วมมือวิจัยฟ้าทะลายโจรต้านภัยไวรัส
วันนี้ (25 ก.พ.) นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทย
ทั้งนี้ นายแพทย์สุขุม กล่าวว่า วันนี้ได้รับรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้ง 2 แห่ง (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ได้ผลยืนยันพบผู้ป่วยเพิ่ม 2 ราย รายที่ 1 เป็นหญิงไทยอายุ 31 ปี อาชีพแม่บ้าน ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี แพทย์ตรวจพบปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งจากการซักประวัติ พบว่ามีสมาชิกในครอบครัวเดินทางกลับจากประเทศจีน
รายที่ 2 เป็นชายไทย อายุ 29 ปี อาชีพทำงานสัมผัสใกล้ชิดนักท่องเที่ยวชาวจีน ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งในช่วงบ่ายวันนี้จะมีการนำข้อมูลผู้ป่วยและการสอบสวนโรคเบื้องต้นเข้าสู่การพิจารณาของคณะผู้เชี่ยวชาญ 3 ด้าน เพื่อพิจารณาโดยละเอียดอีกครั้ง
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคอยู่ระหว่างทำการสอบสวนและเก็บตัวอย่างจากผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยทั้ง 2 ราย เพื่อส่งตรวจ ทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันในประเทศไทย รวม 37 คน ส่วนผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วนั้น ปัจจุบันพบมีผู้ป่วยที่กลับบ้านได้เพิ่มอีก 1 คน ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยที่กลับบ้านแล้ว ล่าสุดอยู่ที่ 22 คน อยู่ระหว่างพักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล 15 คน
ขณะเดียวกัน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม ยังได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการวิจัยยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรกับไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อศึกษาวิจัยประสิทธิผลของยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในการต้านเชื้อไวรัสดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม การพบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการที่กระทรวงสาธารณสุขปรับนิยามการเฝ้าระวังคัดกรองตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 โดยขยายพื้นที่ครอบคลุมประเทศเสี่ยงใหม่ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน (ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน) และ 8 จังหวัดของไทย คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย สมุทรปราการ กระบี่ ภูเก็ต ชลบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งประเทศไทยได้มีการคัดกรองผู้เดินทางจากทุกด่าน ทั้งด่านท่าอากาศยาน ด่านท่าเรือ ด่านพรมแดนทางบก และจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 3,141,879 คน (24 กุมภาพันธ์ 2563) รวมถึงการเฝ้าระวังที่โรงพยาบาลและชุมชน พบผู้อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง 1,580 คน กักตัวไว้ที่โรงพยาบาล 420 คน กลับบ้านได้ 1,160 คน
สำหรับการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 นั้น เพื่อประโยชน์ต่อการดูแลประชาชน มีกฎหมายรองรับ ทำให้โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ และบุคลากร สามารถบังคับรับรักษา ปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัว ประโยชน์ต่อสังคมก็คือ ทำให้ประชาชนรู้สถานการณ์โรคเร็ว ลดการแพร่ระบาดในวงกว้าง