เทียบประมูลในอดีตกับสนามบินอู่ตะเภา ที่ประวัติศาสตร์อาจจะซ้ำรอย ก็เป็นได้
มองไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง แต่ต้องมองไปข้างหลังอย่างมีบทเรียน กับการแข่งขันทางธุรกิจในทะเลสีเลือดในอดีต โดยเฉพาะการประมูลครั้งแล้วครั้งเล่า ที่แข่งกันเสนอราคาสูงแบบไม่ลืมหูลืมตา จนสุดท้ายหลายกรณีทำไม่ได้จริง มีการทิ้งงานบ้าง หรือธุรกิจไปไม่ได้ถึงฝั่งฝันบ้าง ทิ้งไว้แต่ซากปรักหักพังให้กับประเทศชาติกับการสร้างฝันที่ไม่มีวันไปได้จริง
ในช่วงเวลานี้ประเทศไทยมีการประมูลโครงการใหญ่ ๆ มากมาย โดยเฉพาะโครงการสนามบินอู่ตะเภา ที่มีการเสนอราคาส่วนแบ่งรายได้สูงกว่าที่รัฐเคยจ้างที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง KPMG และรับรองโดย PwC มาประเมินถึง 5 เท่า สูงกว่าอีก 2 รายถึง 300%
ทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ในใจหลายคนว่า ทำได้จริงหรือ ทำให้ต้องย้อนไปดูเหตุการณ์ในอดีตว่าเกิดบทเรียนอะไร ให้เราเดินไปข้างหน้าแบบไม่ซ้ำรอยความผิดพลาดในอดีต
บทเรียนที่ 1 ย้อนอดีต “ประมูลทีวีดิจิทัล” ปี 2556 จาก “ดีใจได้ราคาประมูลสูงเป็นประวัติศาสตร์” พลิกสู่ “จบท้ายด้วยการเยียวยา” การแข่งขันที่มุ่งประมูลหาผู้ชนะ แล้วไปตายเอาดาบหน้า คงเห็นตัวอย่างได้จากในอดีต ที่กสทช.ประมูลทีวีดิจิทัลที่ในเวลานั้น ทุกคนชื่นชมที่การประมูลทีวีดิจิทัล 24 ช่อง มูลค่ารวม 50,862 ล้านบาท พุ่ง 234% จากราคาขั้นต้น
ดูแล้วทำให้นึกถึงตัวเลขที่อู่ตะเภาเสนอสูงกว่าราคาขั้นต้นกว่า 500% แต่กลับมาในกรณีทีวีดิจิทัล เมื่อเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง หลังเริ่มดำเนินการไปแล้วลูกค้าไม่ได้เป็นอย่างที่คิด แผนการเงินไม่ได้เป็นอย่างที่เห็น กรณีทีวีดิจิทัลจึงต้องลงเอยเป็นหนังเศร้า หนังชีวิต ที่ทำหลายคนล้มละลาย ประเทศชาติเสียหาย จบลงด้วยการเยียวยาผู้ประกอบการ ที่เปิดทางให้ “คืนช่อง-ยกหนี้”
แถมช่วยสนับสนุนค่าเช่าโครงข่าย (MUX) ให้อีก 10 ปี จนสิ้นสุดใบอนุญาต ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ถึงกรรมการที่จัดประมูลทีวีดิจิทัลถึง 24 ช่องในราคาสูงลิ่ว ทั้งที่พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มไม่อยู่กับหน้าจอทีวีแบบเดิม ๆ อีกต่อไป กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว
กลายเป็นบทเรียนว่า เสนอราคาสูงกว่าความเป็นจริง ไปต่อไม่ได้ ประเทศชาติต้องมาเยียวยา เสียหาย และคนไทยเสียประโยชน์ ที่นอกจากจะไม่ได้เงินตามที่เอกชนเสนอแล้ว ต้องนำภาษีมาอุ้มบริษัทที่ไปไม่รอดอีกด้วย
บทเรียนที่ 2 การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต เมื่อปี 2558 โดย JAS เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นใบอนุญาตที่ราคา 75,654 ล้านบาท ซึ่งในครั้งนั้น รวมมูลค่าเงินประมูลสูงถึง 151,952 ล้านบาท ตัวเลขมงคลอีกแล้ว ราคามูลค่าคลื่นเฉลี่ยต่อ 1 MHz ของ JAS ในการประมูลยังสูงถึงเกือบ 300% ของราคาเฉลี่ยต่อ 1 MHz ในการประมูลคลื่น 1800 MHz ซึ่งถือเป็นราคาขั้นต้น
ดูไปแล้ว ตัวเลขเสนอราคาสูง 300% ในเวลานั้น คล้ายกับตัวเลขเสนอราคาส่วนแบ่งรัฐในโครงการอู่ตะเภา แต่ในกรณีประมูลคลื่นความถี่ครั้งนั้น จบลงด้วยการริบเงินประกัน หลังแจสโมบายทิ้งใบอนุญาต 4G ทำให้ กสทช. มีมติริบเงินประกัน 644 ล้านบาท และตั้งคณะกรรมการเพื่อเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม และสุดท้ายผู้ให้บริการรายอื่นต้องมาแบกรับต้นทุนราคาสูงแทน และกลายเป็นภาระผู้บริโภคจากต้นทุนที่สูงขึ้น
ทำให้ต่อไป กสทช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคิดทบทวนใหม่ว่า การเปิดประมูลรอบใหม่จะไม่สร้างความเสียหายจากการประมูลราคาสูงเกินความเป็นจริง และความรอบคอบในการเจรจาเงื่อนไขที่ต้องรัดกุมผูกมัดผู้เสนอราคา ไม่ให้มีการทิ้งประมูลเช่นนี้เกิดขึ้นอีกซ้ำซากในประเทศไทย
บทเรียนที่ 3 กับอวสาน 'CTH' ยักษ์ใหญ่ทีวีเคเบิ้ลไทย ก้าวพลาดทางธุรกิจ หัวใจของเคเบิ้ลทีวี คือ คอนเทนต์ และคอนเทนต์ที่เป็นพรีเมียร์ลีกอังกฤษนั้น ถือได้ว่ามีมูลค่ามากที่สุดในโลก CTH จึงใส่ราคาประมูลเข้าไปสูง หวังชิงความได้เปรียบทางการแข่งขัน
ซึ่งในเวลานั้นแผนการเงินของ CTH ที่วางไว้ ก็ดูสวยงามเป็นอย่างยิ่ง ทั้งการเพิ่มฐานลูกค้าให้ได้ 10 ล้านครัวเรือน ภายใน 3 ปี นับจากเริ่มทำธุรกิจ และมีแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วย
แต่สุดท้ายได้ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษในราคาสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้เป็นภาระต้นทุน และบอลอังกฤษไม่เคยกลับมามีราคาต้นทุนสมเหตุสมผล สุดท้ายจบลงด้วยการยุติการให้บริการแก่ลูกค้า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 และตามมาด้วยการชดเชยความเสียหายกันอีกมากมาย
การประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีความสำคัญกว่าโครงการที่กล่าวมาแล้วมาก เพราะความสำเร็จและความล้มเหลวของโครงการประมูลสนามบินอู่ตะเภานั้น เชื่อมโยงกับโครงการอื่น ๆ ในอีอีซี หากมีความล่าช้าหรือไม่เป็นตามแผน ตัวประกันชั้นดี คือโครงการอื่น ๆ ในอีอีซี ที่ตั้งหน้าตั้งตารอให้โครงการสนามบินอู่ตะเภาทำสำเร็จ
ซึ่งหากเกิดปัญหาจะทำให้โครงการอื่น ๆ กระทบเป็นโดมิโน ทำให้มีข่าวออกมาว่า ประมูลสนามบินอู่ตะเภา “เสนอราคาสูงสุด ยังไม่ใช่ผู้ชนะ” รอ PwC-กองทัพเรือชี้ขาดที่ “ไฟแนนเชียลโมเดล” ต้องมีความเป็นไปได้สูง เพื่อประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ทำให้หลายคนอาจจะสงสัย ทำไมผู้ประมูลเสนอผลตอบแทนให้ภาครัฐแตกต่างกันมากมาย รายหนึ่งให้กว่า 3 แสนล้านบาท อีก 2 รายให้กว่า 1 แสนล้านบาท
ซึ่งเท่ากับรายแรกเสนอราคาสูงกว่าอีก 2 รายถึง 300% และเสนอราคาสูงกว่าราคาขั้นต่ำที่ที่ปรึกษาระดับโลกของอีอีซีเสนอมาถึง 500% ทั้งที่สามรายต่างได้รับโจทย์เดียวกันจากภาครัฐ ที่ระบุความต้องการผลตอบแทนที่คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ หรือ net present value (NPV) ที่ 3.76% ระยะเวลาให้สัมปทาน 50 ปี ข้อเสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงเช่นนั้นจะเกิดขึ้นจริง “ได้หรือไม่ได้” คิดอย่างไร
บทเรียนในอดีตจะทำให้เราเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ดังนั้น ราคาส่วนแบ่งภาครัฐสูงเท่าไรนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ความเป็นไปได้ของโครงการจะเป็นตัว “ชี้ขาด” ซึ่งคณะกรรมการเจรจาสัญญา ต้องโปร่งใส นำทุกเงื่อนไขมาให้สังคมรับทราบ เพื่อจะได้ไม่เกิดเป็นค่าโง่ซ้ำซาก ผิดพลาดแล้วแก้ไม่ทัน กลายเป็นบทเรียนบทใหม่ ที่มีเนื้อหาแบบเดิม ๆ ที่ซ้ำแล้วก็ซ้ำอีก!!