วิถีชาวเน็ต: เมื่อสังคมคลั่ง “ความดี” จนหลงลืมความเป็นมนุษย์

วิถีชาวเน็ต: เมื่อสังคมคลั่ง “ความดี” จนหลงลืมความเป็นมนุษย์

วิถีชาวเน็ต: เมื่อสังคมคลั่ง “ความดี” จนหลงลืมความเป็นมนุษย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เหตุการณ์ “กราดยิงโคราช” นับเป็นเหตุสะเทือนขวัญที่คนทั้งโลกให้ความสนใจ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นสร้างความสะเทือนใจให้กับทุกคนที่ได้ติดตามข่าว แต่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกลับไม่ใช่เหตุการณ์แรกในประเทศไทย เพราะเมื่อเรามองย้อนกลับไปในช่วงเวลาตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ความรุนแรงมากมายที่สร้างความหวาดกลัวให้กับคนทั้งประเทศ เช่น เหตุการณ์ปล้นทองลพบุรี กรณีของไอซ์หีบเหล็ก เป็นต้น 

ในขณะที่ความหวาดกลัวก่อตัวขึ้น ความเกลียดชังก็เข้าเกาะกุมหัวใจคน เห็นได้จากถ้อยคำด่าทอในโลกออนไลน์และความปรารถนาอยากให้ผู้ก่อเหตุได้รับการลงโทษ “อย่างสาสม” แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็มีเบื้องหลังที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ “ชาวเน็ต” อาจมองไม่เห็นหรือไม่ทันได้ฉุกคิด แต่อะไรอยู่เบื้องหลังพฤติกรรม “ด่ากราด” ของชาวเน็ตเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง เป็นคำถามที่สังคมควรหยิบยกมาพูดคุยเพื่อสร้างความตระหนักและไม่ก่อให้เกิดการผลิตซ้ำความรุนแรงผ่านถ้อยคำด่าทอ 

ความรุนแรงสู่ความรุนแรง 

เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา อาจเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำมาเท่านั้น เพราะลึกลงไปแล้ว เหตุการณ์รุนแรงเหล่านี้ล้วนมีที่มาจากความรุนแรงที่หลายคนอาจมองข้ามไป จน “ระเบิด” ออกมาในที่สุด แต่ความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่งที่ซุกซ่อนอยู่ใต้น้ำคือ “ถ้อยคำ” ในโลกออนไลน์ทั้งการด่าทอและสาปแช่งผู้กระทำความผิดก็เป็นอาวุธที่คอยทิ่มแทงทำร้ายคนได้ไม่ต่างกัน ซึ่งการใช้ถ้อยคำหยาบคายกับเหตุการณ์เช่นนี้ในโลกออนไลน์จึงสะท้อนให้เห็นว่าคนในสังคมคุ้นเคยกับการใช้ความรุนแรง 

“เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่คนใช้ความรุนแรง เราจะรีบตัดสินว่าต้องวิสามัญ มีการรีบด่าทอ รีบตัดสินคนที่ถืออาวุธทำร้ายคนอื่นอยู่ ซึ่งการกระทำแบบนี้ทำให้สังคมของเรากลายเป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ ไม่ได้ใช้เหตุผลในการคุยกัน ซึ่งหลาย ๆ ครั้งมันไม่ใช่การแก้ปัญหา” อาจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดประเด็น 

สังคมเชื่อว่าเหตุการณ์ความรุนแรงเป็นปัญหาของปัจเจกและไม่มีความเชื่อมโยงกันกับปัญหาทางสังคมอื่น ๆ แต่การมองปัญหาในลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นลักษณะความเป็นไปของสังคมไทยที่เป็นปัญหาเรื้อรัง เราเชื่อในการใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหาความรุนแรง โดยไม่ได้มองว่ามีโครงสร้างของสังคมที่กำหนดวิถีชีวิตและความคิดของเราอยู่ ซึ่งคุณจะเด็จ เชาว์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ก็มองปัญหานี้ว่า 

“มันคือการบ่มเพาะเรื่องความดีและความไม่ดี เป็นวาทกรรมที่บ่มเพาะกันมาตั้งแต่ในครอบครัว ซึ่งมันรวมถึงการมองคนด้วยว่าคนนี้เป็นโจรฆ่าคน เป็นคนไม่ดีแน่นอน และคนส่วนใหญ่ก็จะถูกผลิตซ้ำมาเรื่อย ๆ ว่าคนดีเป็นอย่างไร คนไม่ดีเป็นอย่างไร จนเชื่อและไม่เคยตั้งคำถามเชิงโครงสร้างเลย”

เบื้องหลังของการใช้ความรุนแรงผ่านถ้อยคำของชาวเน็ตคือ “อำนาจนิยม” ที่ทับซ้อนกันอยู่หลายชั้น ซึ่งอำนาจเหล่านี้ได้สร้าง “คนดี” และ “คนไม่ดี” ที่มีรูปแบบตายตัว และสร้างความชอบธรรมให้ผู้ที่ทำตัวอยู่ในกรอบคนดี และขับให้คนไม่ดีต้องโดนประนามลงโทษ  

“คนตัดสินคนทำผิดเพราะเขาคิดว่าเขาเป็นคนดีกว่า เขาไม่มีทางไปทำแบบนั้นหรอก เพราะเขาเป็นคนดี ที่บ้านปลูกฝังมาดี อำนาจความดีที่เหนือกว่า เขาจึงไปบอกว่าคนนี้ไม่ดี แต่เราลืมตั้งคำถามว่าไม่มีใครดี 100% ความดีมันถูกบอกผ่านระบบอำนาจนิยมแบบชายเป็นใหญ่ ระบบอำนาจนิยมที่เจ้านาย-ลูกน้อง หรืออำนาจนิยมแบบรัฐที่เหนือกว่า  มันเลยทำให้คนเชื่อว่าความดีเป็นแบบนี้ แล้วก็ไปวิจารณ์ในโลกออนไลน์” คุณจะเด็จชี้

หน่วยเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ครอบครัว” 

“ครอบครัว” หน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม แต่มีความสำคัญและใกล้ชิดกับมนุษย์ในสังคมมากที่สุดเช่นกัน ทัศนคติของคนในสังคมถูกบ่มเพาะขึ้นมาจากการขัดเกลาของครอบครัวเป็นอันดับแรก ซึ่งรวมไปถึงวาทกรรมความดีที่หากมองมิติชายเป็นใหญ่ นั่นคือการแบ่งแยกหน้าที่และให้คุณค่ากับความดีความชั่วโดยอ้างอิงจากเพศสภาพของคนในครอบครัว เช่น ผู้หญิงที่ดีจะไม่ท้องก่อนวัยอันควร เป็นต้น การกำหนดรูปแบบความดีที่ตายตัวของคนในครอบครัวส่งผลให้เกิดการตีตราคนที่มีพฤติกรรมไม่เป็นไปตามแบบความดีที่กำหนดและก่อให้เกิดเป็นปัญหาสังคม 

“เราถูกบอกว่าคนแบบนี้คือคนดี คนแบบนี้คือไม่ดี แต่เราไม่เคยถูกบ่มเพาะว่าคนเรามีทั้งดีและไม่ดีอยู่ในตัว ในแง่ของความเป็นมนุษย์ไม่มีใครเป็นคนดี 100% หรือเลว 100% หรอก มันเลยส่งผลให้คนลืมตั้งคำถามกับตัวเองเพราะคนก็ได้รับมายาคติชุดหนึ่งมาจากครอบครัว ดังนั้น เมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงและคนเข้าไปคอมเมนต์ในโลกออนไลน์ พวกเขาจึงสรุปแบบนั้น เพราะเขาถูกบ่มเพาะมาแบบนั้น” คุณจะเด็จอธิบาย

อย่างไรก็ตาม คุณจะเด็จก็ชี้ว่าการบ่มเพาะในครอบครัวไม่ได้ชี้ขาดพฤติกรรมของคน เพราะคนเราต้องไปโรงเรียน ต้องเจอสังคมขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้คน ๆ หนึ่งถูกบ่มเพาะจากครอบครัว ระบบการศึกษา สื่อ จนถึงสถาบันต่าง ๆ ที่มาในนามของความดี ซึ่งสถาบันเหล่านั้นจะพูดอย่างชัดเจนว่า “คนดีคืออะไร”

“ดูจากกรณีกราดยิงโคราชก็จะเห็นชัดว่า โครงสร้างคือเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาถูกโกงเงิน ถ้าดูในแง่ของการบ่มเพาะทางสังคมคือมันไม่มีการฝึกให้คนตั้งคำถามว่าเหตุผลของปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร แล้วทุกคนก็สรุปกันไปเลย แล้วไปโพสต์บนโลกออนไลน์เลย มันก็ทำให้คนเข้าใจว่าถ้าจะเป็นคนดี มันต้องไม่เป็นแบบนี้” คุณจะเด็จกล่าว 

การศึกษาสร้างความดี

ไม่เพียงครอบครัวที่ทำหน้าที่บ่มเพาะคนในสังคม แต่สถาบันการศึกษาก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างความคิดความเชื่อของคนในสังคม และกำหนดความเป็นไปในสังคมได้เช่นกัน ซึ่งอาจารย์อรรถพลมองว่า การศึกษาจะต้องมีส่วนช่วยให้คนมองเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวมนุษย์ แต่ปัญหาหนึ่งของระบบการศึกษาไทยคือทัศนคติของการจัดแบ่งคน ซึ่งมาในรูปแบบของการแย่งกันเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ขณะที่โรงเรียนอีกจำนวนมากถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง หรือแม้แต่การจัดห้องพิเศษที่หากจ่ายเงินเพิ่มขึ้น ก็จะได้เรียนในห้องแอร์ ในขณะที่เด็กที่ไม่มีเงินจ่าย ก็ต้องเรียนห้องทั่วไป ซึ่งถือเป็นเศษเสี้ยวของปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนซึ่งทำหน้าที่ผลิตซ้ำโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมและเหลื่อมล้ำ 

“สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้รู้สึกว่า ความรุนแรงเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องปกติ คนเราไม่จำเป็นต้องเท่ากัน เมื่อเกิดการผลิตซ้ำความรุนแรง และโรงเรียนไม่สอนให้เด็กเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ทำให้เด็กเชื่อว่าคนเราต้องเป็นเพื่อนร่วมสังคมเดียวกันที่ต้องเกื้อกูลกัน โรงเรียนจึงไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง เพราะตอนนี้โรงเรียนในประเทศเราไม่ได้จัดให้เรื่องเหล่านี้มีความสำคัญในลำดับต้น ๆ จนกลายเป็นว่าหลายโรงเรียนกลายเป็นที่ผลิตซ้ำว่าคนต้องมีความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าห่วง” อาจารย์อรรถพลชี้ 

การแบ่งแยกเด็กยังรวมไปถึงวาทกรรม “เด็กดี” กับ “เด็กไม่ดี” ที่ถูกส่งต่อมาในพื้นที่โรงเรียน ทำหน้าที่ไม่ต่างจากสถาบันครอบครัวที่บ่มเพาะเรื่องความดีที่ตายตัว เด็กคนไหนทำตัวสวนทางกับการเป็นเด็กดีที่โรงเรียนวางไว้ เด็กคนนั้นก็จะกลายเป็นเด็กไม่ดีและมีปัญหาในทันที ดังนั้น การศึกษาจึงมีส่วนสร้างวาทกรรมความดีที่เข้าไปตอกย้ำว่าพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุความรุนแรงเป็นพฤติกรรมของคนไม่ดีและต้องได้รับการลงโทษ

สื่อตัวดี 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญไม่ต่างไปจากสถาบันครอบครัวหรือการศึกษาในการบ่มเพาะความคิดและทัศนคติให้กับคนในสังคม รวมไปถึงการเติมเชื้อไฟให้กับคนรับข่าวในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งทำให้คนเข้าไปผสมโรงกับความรุนแรงด้วยการใช้ถ้อยคำด่าทอต่าง ๆ 

“สื่อไม่ได้ทำหน้าที่ในการกระตุกให้คนกลับมามีสติ นำเสนอข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น แต่มีการใช้ดราม่าในการนำเสนอ คือเขาพยายามจะวิ่งตอบโจทย์ที่คนอยากรู้ ซึ่งบางทีมันล้ำเส้นมากเกินไป เมื่อสื่อไปถึงหน้างาน ทุกคนต่างก็พุ่งไปทำหน้าที่ของตัวเอง และลืมคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่จะกระทบใครบ้าง เช่น การเปิดเผยชื่อของผู้เกี่ยวข้องหรือการเปิดเผยหน้าตาคนร้าย ซึ่งมันกลายเป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะมันกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่เปิดเผยใบหน้าของคนในครอบครัวที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง เกิดเป็นการเหมารวม คนก็ตื่นตระหนก สะบัดงวง สะบัดงาใส่ทุกคนที่นามสกุลเหมือนคนร้าย จากสังคมที่ไม่เคารพกันอยู่แล้ว เลยยิ่งเห็นชัด ว่ายิ่งความรุนแรงปรากฏ ยิ่งพบว่าคนไม่เคารพกัน และคนลืมมองเห็นความเป็นมนุษย์ในคนอื่นไปแล้ว” อาจารย์อรรถพลอธิบาย 

ขณะที่คุณจะเด็จก็แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยคุณจะเด็จมองว่าสื่อมีอิทธิพลในการชักจูงให้ชาวเน็ตใช้ความรุนแรงผ่านถ้อยคำ ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหา ยังเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นอีกด้วย 

“หน้าที่ของสื่อคือต้องลงไปให้มากขึ้น ให้เห็นว่าสาเหตุของปัญหาคืออะไร มากกว่าจะรายงานดราม่าเอายอดไลก์ หรือเอาความเศร้าของคนมาขาย หน้าที่ของสื่อคือทำหน้าที่วิเคราะห์ปัญหาเชิงโครงสร้างให้ทะลุทะลวง แล้วหลังจากนั้นเราจะรู้ว่าเหตุผลคืออะไร แต่เหตุผลก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะใช้ความรุนแรงไปฆ่าคนได้นะ เราต้องบอกกับโซเชียลมีเดียว่าต้องเตือนสติกัน อย่าพูดจาหยาบคาย สังคมจะได้มองหลาย ๆ ด้าน สังคมจะได้เห็นว่าการทำแบบนี้ก็ไม่ถูก” คุณจะเด็จกล่าว 

หนทางสู่การเปลี่ยนแปลง 

ปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างในสังคมไทยเปรียบเสมือนพิษไข้ที่สถาบันทางสังคมต่างช่วยกันหล่อเลี้ยงเอาไว้ให้ดำรงอยู่ มันคือบาดแผลที่ถูกซุกซ่อนเอาไว้และวันหนึ่งก็กลายเป็นแผลติดเชื้อที่ปรากฏออกมาในรูปแบบความรุนแรงทางกายภาพ สิ่งที่คนในสังคมจะสามารถทำได้คงเป็นการหาวิธีการรับมือกับความรุนแรงที่ยังซ่อนเร้นอยู่ในวิถีชีวิตของทุกคน  สถาบันหน่วยย่อยของสังคมอย่างสถาบันครอบครัวและการศึกษามีบทบาทในการช่วยแก้ไขทัศนคติที่มองข้ามความเป็นมนุษย์ ซึ่งคุณจะเด็จกล่าวว่า หน้าที่สำคัญของครอบครัว คือการบ่มเพาะความเชื่อว่าการเป็นมนุษย์มีทั้งความดีและไม่ดีอยู่ในตัว ทั้งนี้ ทุกคนสามารถทำผิดพลาดได้ ทั้งเรื่องการเรียน วิถีชีวิต คู่ครอง หรือเรื่องการงาน เราต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม ขณะที่การศึกษาก็ต้องทำหน้าที่ขับเคลื่อนให้สังคมก้าวไปข้างหน้าและเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคม มากกว่าการเตรียมตัวสอบเรียนต่อเท่านั้น 

“เด็กควรมีโอกาสค้นพบว่าตัวเองเป็นใคร แล้วเพื่อนก็เก่งคนละแบบ คนอาจจะมาจากต้นทุนชีวิตที่ไม่เท่ากัน แต่ก็มีศักยภาพในการพัฒนาต่อไปได้ ถ้าการศึกษาการใช้แนวคิดแบบนี้ มันก็มีส่วนในการช่วยลดความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” อาจารย์อรรถพลกล่าว 

อย่างไรก็ตาม ทั้งอาจารย์อรรถพลและคุณจะเด็จก็เห็นตรงกันว่า แม้พฤติกรรมของชาวเน็ตต่อเหตุการณ์ความรุนแรงสะท้อนให้เห็นความรุนแรงที่ถูกซุกซ่อนอยู่ภายใต้ถ้อยคำด่าทอหยาบคาย แต่ก็มีสัญญาณที่ดีมากขึ้น เมื่อชาวเน็ตบางกลุ่มเริ่มตั้งคำถามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

“ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยตั้งถามกับสิ่งที่ข่าวนำเสนอ คือมันก็ยังมีคนที่ไหลไปกับกระแสข่าว เพราะอารมณ์พาไปหรือเพราะความตื่นตระหนก แต่ในขณะเดียวกัน มันก็มีคนที่ทักท้วงขึ้นมา เพราะยุคนี้เป็นยุคของการต้องเท่าทันสื่อสารสนเทศ ซึ่งเครื่องมือดิจิตอลนั้น หากใช้ให้เป็นประโยชน์ มันก็จะเป็นประโยชน์ แต่ถ้าใช้ให้เป็นโทษ มันก็จะเป็นโทษ” อาจารย์อรรถพลแสดงความคิดเห็น 

สุดท้าย คุณจะเด็จก็ชี้ว่าคนมีการเรียนรู้และชาวเน็ตบางส่วนก็เริ่มรู้สาเหตุมากขึ้นว่าทำไมจึงเกิดกรณีการใช้ความรุนแรงที่ปรากฏในข่าว โดยคนเริ่มทำความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งคุณจะเด็จมองว่าหากสังคมมีการสืบหาสาเหตุให้ชัดเจน สังคมก็จะมีสติมากขึ้น ดังนั้น คนบนโลกโซเชียลต้องรู้จักเตือนสติกัน อย่าพูดจาหยาบคาย และมองปัญหาในหลาย ๆ ด้าน เพื่อหยุดยั้งความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook