หมอธีระวัฒน์ จวกตรรกะเสื่อม! ใส่หน้ากากอนามัยจะเสี่ยงติดโควิด-19 มากกว่าไม่ใส่ได้ยังไง
รายการโหนกระแสวันนี้ (2 มี.ค. 63) "หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย" ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 ได้เปิดใจสัมภาษณ์ "ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา" หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งตอนนี้มีชายไทยเสียชีวิตเป็นคนแรกจากโควิด-19 และมีคนชายหนึ่งเป็นคนขับรถทัวร์ ซึ่งมีกระแสว่าโคม่า จะเป็นรายที่สองหรือไม่
อาจารย์เป็นคนแรกที่ออกมาบอกว่ามีชายไทยเสียชีวิต?
"อาจเป็นเช่นนั้น เหตุผลที่นำเรียนทั่วไปต้องการสื่อว่าจริงๆ แล้ว เราต้องเลิกสื่อให้ประชาชนทราบว่าโรคนี้จะรุนแรงขึ้น จะเกิดเฉพาะคนแก่ หรือมีโรคประจำตัวถึงจะรุนแรง เพราะฉะนั้นถ้าเราย้ำอยู่เรื่อยๆ ว่าต้องแก่ต้องมีโรคประจำตัว คนก็จะคิดว่าหนุ่มสาวที่ไม่มีโรคประจำตัวไม่เป็นไร"
อาจารย์จะบอกว่าเมื่อวานเป็นเคสที่จำเป็นต้องบอกเพื่อให้คนตระหนักว่าไม่ใช่ 60-70 แล้วนะ เป็นคนหนุ่มที่ไม่มีโรคแทรกซ้อนด้วยเสียชีวิต?
"อย่างแรกเลยพวกเราที่เป็นหมอ คุณพยาบาล หรือเภสัช เวลาเราเจอ เราจะถูกกรอกหูอยู่เรื่อยๆ ว่าโรคนี้ไม่น่ากลัว แต่วิธีระแวดระวังเวลาเจอผู้ป่วย ต้องให้ความสำคัญพอๆ กัน สองประชาชนเองต้องยอมรับว่าในกรณีอย่างนี้เราต้องระวังตัว ถ้าเราเจอเชื้อซ้ำซากอยู่เรื่อยๆ ก็อาจเสียชีวิต เกิดภาวะวิกฤติได้ อีกประเด็นที่อยากเรียนให้ทราบว่าทุกครั้งที่มีการสื่อว่ามีคนติดเชื้อ มักพูดว่าไปพบกับนักท่องเที่ยว พบคนต่างประเทศ ตรงนี้ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ว่าติดเชื้อตรงนี้ติดเชื้อในผืนแผ่นดินไทย ถ้าติดเชื้อจากคนพาเชื้อมาให้เรา ก็คือมีสิทธิ์แพร่เชื้อให้คนอื่นได้พอๆ กัน เพราะฉะนั้นการที่จะย้ำว่าคนที่ติดเชื้อคือคนต่างประเทศ จริงๆ ทำให้ลืมว่าจริงๆ แล้ว ณ ขณะนี้โรคนี้คนไทยสู่คนไทยด้วยกันเอง"
อย่างที่บอกมักมีการประกาศว่าคนไทยไปติดจากคนต่างประเทศ ทำให้เป็นโรคโควิด-19 ทำไมไม่กักกัน ไม่ประกาศว่าห้ามคนต่างชาติอยู่กลุ่มเสี่ยงเข้ามาเมืองไทย?
"จริงๆ เราต้องปฏิบัติทัดเทียมกัน ถ้าหากคนไทยไปพื้นที่เสี่ยง กลับมาให้กักตัว 14 วัน มาตรการในลักษณะแบบนี้เป็นมาตรการลั่กลั่น ไม่ได้ช่วยอะไรเลย คนไทยปฏิบัติอย่างหนึ่ง นักท่องเที่ยวปฏิบัติค่อนข้างอิสระอย่างหนึ่่ง กรณีอย่างนี้ ความพยายามของเราที่จะกัก หรือหน่วงให้มีตะแกรงที่จะไม่ให้รั่วเข้ามาตรงนั้นก็จะไม่ได้ผลนัก กลายเป็นว่าได้ผลครึ่งๆ กลางๆ"
มุมคนเสียชีวิตคนแรกในประเทศไทย เป็นชายอายุ 30 กว่าๆ ชายคนนี้เท่าที่ทราบ ออกแถลงการณ์จากห้างคิง เพาเวอร์ เขาบอกเป็นพนักงานของเขา การติด ติดได้ยังไง?
"ตรงนี้เราไม่สามารถบอกได้เลย เขาอาจสัมผัสใกล้ชิด ซื้อขายของมั้ยตอบไม่ได้ ไม่ได้ทราบรายละเอียด แต่อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ก็เป็นเครื่องชี้บ่งว่าในสถานที่ที่ต้องติดต่อกัน อาจด้วยการพูดคุยหรือผ่านทางวัตถุสิ่งของซึ่งมีการยื่นหยิบ"
สตางค์มีโอกาสมั้ย?
"ตรงนี้มีโอกาส"
สมมติคนเป็นโควิด ไอแล้วเอามือจับเงินส่งต่อให้ เขารับเงินแล้วเอามือขยี้ตา ติดมั้ย?
"เป็นหนทางที่ติดได้ เพราะทางการประเทศจีนสั่งเผาธนบัตรทิ้ง เพราะถ้าจะเอาธนบัตรมากองเรียง ฉีดสเปรย์ต่างๆ มันเสียเวลา และคนที่จะทำความสะอาดแบงก์ อาจไปสัมผัสอีก ทางการประเทศจีนก็เลยเผาแล้วพิมพ์ธนบัตรใหม่ไปเลย"
กระทรวงแถลงว่าเป็นไข้เลือดออก ลักษณะการแถลงทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นสองโรคร่วมกัน เป็นทั้งไข้เลือดออกและโควิด-19 ด้วย เหมือนไม่ได้แข็งแรง มีโรคแทรกซ้อน เรื่องนี้ข้อเท็จจริง อาจารย์ออกมาสวนในมุมหนึ่งว่ามันไม่ใช่ ขึ้นเพจเลยว่าคนนี้ตายเพราะโควิด-19 ไม่ใช่ไข้เลือดออก ตกลงยังไงกันแน่?
"ประการแรก ถ้าเสียชีวิตด้วยโควิด-19 ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีคนเป็นพันๆ คนเสียชีวิต ถ้าเราสื่อว่าเป็นโรคนั้นแล้วติดเชื้อโควิดทำให้เสียชีวิต ก็จะทำให้เกิดความสับสน เหมือนความสับสนที่เกิดในขณะนี้ ความเป็นจริงแล้วผู้ป่วยรายนี้ที่เสียชีวิต เคยเป็นไข้เลือดออก แต่ ณ เวลาที่ปรากฏตัว ที่มาหา มาพบแพทย์ที่คลินิก 2 ครั้งด้วยกัน โรคพัฒนาจนกระทั่งไปเข้าโรงพยาบาล ลักษณะโรคพบมีปอดอักเสบ ขณะเดียวกันก็ตรวจเลือด พบว่ามีหลักฐานว่าเคยเป็นไข้เลือดออก"
แสดงว่า ณ ตอนที่ตรวจ เขาไม่ได้เป็น?
"ณ ตอนที่ตรวจไม่มีหลักฐานอะไรที่บอกว่าเขาเป็นไข้เลือดออก หลังจากนั้น 4-5 วันก็เจาะเลือดซ้ำ หลักฐานที่บอกว่าเป็นไข้เลือดออกตรงนั้น ยิ่งยืนยันว่าเป็นมาไกลแล้ว ณ ขณะที่ไปโรงพยาบาล ไม่ได้มีเรื่องไข้เลือดออก อธิบายจากไข้เลือดออกไม่ได้เลย"
ชายคนนี้เคยเป็นไข้เลือดออก แต่วันเจาะเลือด มีไข้ต่างๆ นานา ไม่ได้เรื่องเชื้อไข้เลือดออกตอนนั้นแล้ว?
"สรุปว่าเคยเป็น แต่ ณ ขณะที่เป็น ไม่มีไข้เลือดออก โควิดล้วนๆ ข้อสำคัญตรงนี้คือลักษณะของหลักฐานเหมือนเคยเป็นจริงๆ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งแรกนั้น เกิดความตายใจ รู้สึกว่าลักษณะตรงนี้น่าจะเป็นไข้เลือดออก ประกอบกับตัวโควิดกับไข้เลือดออกมีลักษณะทำให้เกล็ดเลือดต่ำนิดหน่อย ตรงนี้ไม่ใช่ลักษณะเฉพาะของไวรัสอะไรเลย ไวรัสโควิด-19 ก็เป็นได้"
อาจทำให้วินิจฉัยผิดได้ว่าเป็นไข้เลือดออก?
"ครับ เนื่องจากหลักฐานเจาะเลือด และหลักฐานที่ดูเกล็ดเลือดต่ำอยู่นิดหน่อย โดยที่ไม่ได้มีลักษณะไข้เลือดออกอย่างอื่นเลย ตรงนี้ทำให้เกิดความรวนเรและวินิจฉัยว่าอาจเป็นเรื่องไข้เลือดออก ตรงนี้จะไปโทษคุณหมอไม่ได้ เพราะลักษณะโรคมันใกล้เคียงกัน ไม่มีใครในโลกนี้บอกได้ ตรงนี้เลยทำให้โรงพยาบาลเข้าไปดูแล เพราะคิดว่าเป็นไข้เลือดออกในวันที่ 30 ฉะนั้นเลยได้รับการติดเชื้อไป ลักษณะการติดเชื้อก็เรียงลำดับมา ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้ว หรือพยาบาลที่ได้รับเชื้อตรงนั้น ก็เป็นโควิด-19 ทั้งหมดเลย"
ชายไทยที่เสียชิวิต เชื้อโควิดอยู่ในร่างกายอยู่มั้ย?
"ตรงนี้น่าเสียดาย ขณะย้ายไปสถาบันบำราศนราดูร อาการค่อนข้างหนัก ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ อาการดูหนักมากขึ้นก็เลยต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตต่างๆ ยาที่กรมควบคุมโรคได้เข้าประเทศไทยมาถึงประเทศไทยวันที่ 14-15 และให้ผู้ป่วยทันทีทันใด แต่น่าเสียดาย หลังให้ไปแล้ว พบไวรัสหายไปจริง"
แล้วทำไมเสียชีวิต?
"เพราะตัวไวรัสก่อให้เกิดความเสียหาย ก่อให้เกิดความอักเสบของเนื้อปอด เรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่าปอดพัง พอปอดพังไปแล้วถึงแม้ตัวผู้ร้ายจะหายไปแล้ว แต่ตัวปอดพัง จะเยียวยาหรือใช้เครื่องช่วยอะไรต่างๆ ก็ตาม การที่ปอดพังก็กระทบอวัยวะส่วนอื่น ทำให้มีชีวิตอยู่ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าดีใจที่โรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อได้รับยาในวันเดียวกัน เช่นเดียวกัน ปรากฏว่าเชื้อก็หายไปเร็ว แต่มีความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ตรงนี้เรายังไม่ทราบว่าความเสียหายตรงนี้จะถาวรหรือกลับมาได้มั้ย ตรงนี้อยากให้ประชาชนเข้าใจบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข เภสัชทุกคน ว่าความยากลำบากในการวินิจฉัยมันยากอยู่แล้ว แล้วมีผลเรื่องห้องปฏิบัติการทำให้มันรวนเร ซึ่งเรื่องตรงนี้เป็นเรื่องปกติ กรณีอย่างนี้อยากเรียกร้องผ่านรายการ แพทย์ เภสัช พยาบาล แม้กระทั่งคนกวาดขยะในโรงพยาบาล ถ้าเกิดอะไรขึ้น ควรมีค่าชดเชย แม้ในนักวิทยาศาสตร์ที่ห้องปฏิบัติการ"
เห็นบอกว่าอาจมีรายที่ 2?
"จริงๆ แล้วข้อมูลตรงนี้กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงเป็นลำดับ ก็เป็นคนไข้ซึ่งอยู่มานานพอสมควร เหมือนกับคนที่ไข้ที่เสียชีวิตอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ป่วยมานานพอๆ กัน สิ่งที่เรากังวลก็คล้ายๆ กัน คือ ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยที่ได้รับยาตรงนี้เหมือนกัน หลังจากนั้นไวรัสหายหมดเช่นเดียวกัน แต่ก็มีความไม่เสถียร มีเรื่องปอดพัง จริงๆ เป็นปฏิกิริยาที่สำคัญ เมื่อเริ่มมีการอักเสบเกิดขึ้นก็ทำให้หลั่งไหลของน้ำที่อยู่ในเส้นเลือดออกมา ปอดไม่มีที่ที่จะรับออกซิเจนปล่อยออกซิเจนให้เลือด ขณะเดียวกันตามรายทางการอักเสบตรงนี้ก็ไปกระตุ้นเซลล์อีกหลายตัว มีกลไกอีกอย่างคือมีเนื้อเยื่อพังผืดเกิดขึ้น ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์หลายๆ ประเทศรวมทั้งจีนก็คิดสองประเด็น เรื่องการลดการอักเสบ ซึ่งเรื่องการลดการอักเสบตรงนี้ ขณะนี้เราก็ประจักษ์ชัดแล้วว่าเราไม่ใช้สเตียรอยด์ เพราะถ้าใช้สเตียรอยด์จะกดภูมิคุ้มกันด้วย แม้จะลดการอักเสบ เป็นที่ชัดเจนว่าไม่ควรใช้ สองเราใช้ยาต้านมาลาเรีย ที่รู้จักมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว มันก็มีความดีสองประการคือลดปริมาณไวรัสลงได้ สองคือลดการอักเสบลงได้ ประการที่ 3 มีความพยายามที่จะลดเจ้าตัวกระบวนการที่ทำให้เกิดเยื่อพังผืด"
หมายถึงในคนที่ 2?
"คนนี้อาจจะไม่ทัน ตรงนี้อาจเป็นปอดพังไปแล้ว เขาอายุพอๆ กับผม 60 กว่าๆ เรายังหวังว่า ณ ขณะนี้ที่เรียกว่าปอดแข็ง อาจมีบางส่วนกลับมา ไม่ได้เสียหายถาวร ถ้าเราดูทั้งหมด คนไข้แต่ละคนที่อาการหนักนั้นอยู่โรงพยาบาลเดือนหนึ่งหรือเดือนกว่า ค่ารักษาพยาบาลในผู้ป่วยอาการหนักเป็นล้านๆ ต่อหนึ่งราย คิดดูว่าห้องแยก มีเครื่องช่วยชีวิตเต็มไปหมดเลย มียาแต่ละตัวที่ให้ เพราะฉะนั้น ณ ขณะนี้ ผู้ป่วย 1 รายที่มีอาการหนักต้องอยู่โรงพยาบาล 1 เดือน และยังต้องอยู่ต่อ ทำไมเราไม่ป้องกันเข้มงวดกวดขัน เช่นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมา ทำไมเราไม่ป้องกันโดยให้ทุกคนมีจิตสำนึก ชัดเจนว่าเราต้องป้องกันตัวเองและไม่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย หนึ่งเดือนยังเอาไม่อยู่ ตอนนี้เราอย่าไปพูดเรื่องยาพอ"
ตกลงตอนนี้ยามีมั้ย ยารักษาตัวนี้?
"ยาที่ใช้รักษาเราก็เสนอมาตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. ตอนนั้นต้องขอบพระคุณท่านอาจารย์ธนารักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งหลังคณะทำงานเราได้เรียนท่านก็ขวนขวายหายาเข้ามา แต่ประเด็นสำคัญคือ ณ ตอนนี้ใครๆ ก็อยากเก็บยาไว้ใช้ในประเทศผู้ผลิต ตอนนี้ถ้าเราได้มาก็ดี แต่ตอนนี้ที่สำคัญเมื่อไหรก็ตามที่ใช้ยาตัวนี้ เราจะเก็บไว้ใช้ในผู้ป่วยอาการหนัก"
ถ้ารักษาต้องตั้งแต่ต้นๆ?
"ครับ ตอนนี้การป้องกัน การตอบโต้เรื่องการแพร่เชื้อเป็นเรื่องสำคัญ ที่สำคัญบุคลากรทางการแพทย์ต้องช่วยชีวิตอย่างวิกฤติขนาดนี้ บุคลากรต้องมหาศาล เราจะเสียโอกาสสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคอื่นๆ ที่ต้องใช้เครื่องมือวิกฤติเหล่านี้ด้วย"
การกักตัวคนไปประเทศกลุ่มเสี่ยง 14 วัน ทำไมไม่ออกเป็นกฎหมายไปเลย?
"(ถอนหายใจ) ประเทศที่เขารับทราบในหลักการเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เขาไม่ลังเลใดๆ ทั้งสิ้น อย่างจีนถึงแม้ตอบโต้เรื่องนี้ช้าไปบ้าง แต่ตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค. ปิดประเทศปิดบ้าน ขณะนี้สามารถสง่างามมากเลย คนไข้กลับบ้าน ตอนนี้ต้องมีความกล้าหาญพอที่จะต้องยอมทำทุกมาตรการเพื่อทำให้ควบคุมโรคได้ ก่อนหน้าอู่ฮั่นปิด จะมีเมืองเล็กๆ รอบๆ เขาปิดบ้าน ปิดเมืองก่อนปิดอู่ฮั่น เมืองนี้ประชากร 1 ล้านคน ติดเชื้อน้อยกว่าเมืองอื่นๆ 10 เท่า มาตรการเหล่านี้ถ้ายิ่งทำเร็วที่สุด รายได้อาจต้องคำนึงจริง แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา ถ้าผลกระทบที่ตามมมา โรงพยาบาลเกิดมีคนไข้และแพร่ไปผู้ปวย บุคลากรมีคนไข้ ถึงวันนั้นจะไม่มีโรงพยาบาลเหลืออยู่เลย"
ตอนนี้มีข่าวเรื่องหน้ากากอนามัย ทางอเมริกามีอาจารย์แพทย์ออกมาบอกว่าคนถ้าใส่หน้ากากมีสิทธิ์ติดโควิดมากกว่าคนไม่ใส่?
"หน้ากากอนามัยเรารับทราบกันทั่วไป เราใส่หน้ากากเพื่อแพทย์พยาบาลไม่ให้ละอองฝอยมาหาเรา คำถามว่าถ้าประชาชนทั่วๆ ไป เดินถนนเจอคนหนาแน่นโดยไม่ทราบว่าคนๆ นั้นติดเชื้อหรือเปล่า แล้วคนๆ นั้นมีการพูด การไอ การจาม ตกลงประชาชนทั่วไปจะไม่ใส่หน้ากากหรือ ในเมื่อแพทย์พยาบาลเมื่อไปดูคนไข้ต้องใส่ ประชาชนต้องไปเรียนหมอก่อนแล้วต้องใส่เหรอ ผมว่าตรรกะเสื่อม คิดแบบกำปั้นทุบดินก็ได้ ในเมื่อเราต้องการป้องกันโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ต้องการป้องกันเชื้อที่มาจากผู้ป่วยที่อยู่ตรงหน้าตรงนั้น"
เขาบอกในโรงพยาบาลให้หมอใช้กันไป ประชาชนข้างนอกไม่ต้องใช้ก็ได้ มันมีโอกาสดึงเข้าดึงออก มืออาจจะไปโดน อาจติดไปง่ายกว่า?
"มันคนละประเด็นกัน ถ้าใส่และถอดถูกวิธีก็จบ อย่าเอาประเด็นเรื่องการใช้ผิดมาเป็นประเด็นว่าทำให้ติดมากขึ้น ถ้าใช้ผิด ใช้อะไรทุกอย่างมันก็ผิด เพราะฉะนั้นความจำเป็นที่ต้องใช้แค่นั้นเอง แต่ถ้าไปยืนในสวนลุมฯ เดินชมนกชมไม้ มีคนเดียวเดินก็ไม่ต้องใส่ เราใส่เมื่อไปปะปนในที่คนหนาแน่น แล้วเราทราบดีว่าโควิด 80% ไม่มีอาการหรืออาการน้อยนิดแต่แพร่เชื้อได้ มาตรการตรงนี้ จริงๆ ใส่หน้ากากผ้าก็ได้ แค่นั้นเอง"
ประเด็นที่เริ่มมีกระแสว่าอย่าเอาคำพูดนี้ไปบูลลี่คนที่ไปประเทศกลุ่มเสี่ยงว่าเขาไม่รับผิดชอบต่อสังคม?
"คนกักตัวอยู่ที่บ้านอย่างถูกวิธีตรงนั้นเราต้องยกย่องส่งเสริม อย่างคุณมอส ปฏิภาณต้องยกย่องเขา เต็มใจด้วยจิตสำนึก แต่ทีนี้ในคนที่คิดว่าตัวเองผ่าน 1-2 วันแรกไปแล้ว ไม่ต้องไปตรวจก็ได้ถ้าไม่ไปสัมผัสคนมีความเสี่ยงสูง กักตัวอยู่บ้านเฉยๆ และหากไปตรวจครั้งแรกแล้วบอกว่าตัวเองเป็นโรค ไม่ใช่ อย่าไปหลอกชาวบ้าน ถ้าจะตรวจตรงนี้แล้วไปตรวจอีกทีวันที่ 14 ก็ไม่เสียหายอะไร ไม่ใช่ไปตรวจวันนั้นแล้วบอกว่าตัวเองไม่เป็น แล้วไปหลอกชาวบ้านต่อ และหลอกตัวเองด้วย"
เขาบอกว่าเขาไปตรวจแล้ว มาบูลลี่เขาทำไม อย่าเอาคำว่าไม่รับผิดชอบต่อสังคมมาบูลลี่เขา?
"จริงๆ แล้วถ้าไปตรวจ เขามีความรับผิดชอบตัวเองอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องไปบูลลี่เขา แต่เขาก็ยังไม่ปลอดภัย ต้องรอให้พ้น 14 วัน แค่นั้นเอง"
ให้คนไทยไปกลุ่มเสี่ยงกักตัว 14 วัน แต่ไม่กักตัวนักท่องเที่ยว ดูย้อนแย้ง?
"ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องกักอะไรเลย จะแพร่ก็แพร่ไป จะเอาเช่นนั้นหรือ"