ดีไซเนอร์ไทยสุดงง! เจอคนในวงการเคลมผลงานไปโชว์บนเวทีระดับโลกหน้าตาเฉย

ดีไซเนอร์ไทยสุดงง! เจอคนในวงการเคลมผลงานไปโชว์บนเวทีระดับโลกหน้าตาเฉย

ดีไซเนอร์ไทยสุดงง! เจอคนในวงการเคลมผลงานไปโชว์บนเวทีระดับโลกหน้าตาเฉย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลายเป็นประเด็นดราม่าในวงการออกแบบของบ้านเราไปซะงั้น เมื่ออยู่ดีๆ ก็ปรากฏว่ามีข่าวและภาพประกอบข่าวที่นำเสนอว่ามีดีไซเนอร์สาวไทยคนหนึ่ง ซึ่งถือสัญชาติอังกฤษ และเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นแบรนด์หนึ่งบนเกาะอังกฤษ ยกขบวนนายแบบ-นางแบบ ร่วมเปิดรันเวย์แฟชั่นวีคระดับโลกที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเป็นงานที่จัดขึ้นตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว

แต่ที่กลายเป็นประเด็นก็คือ ในเนื้อหาและภาพที่เห็นนั้นดูเหมือนจะนำเสนอว่าชุดที่นำไปโชว์บนรันเวย์ดังกล่าวได้รับการออกแบบและรังสรรค์โดยดีไซเนอร์สาวที่มีชื่อและภาพตามที่ปรากฏในข่าว ทว่าในข้อเท็จจริงนั้น กลุ่มแฟชั่นดีไซเนอร์ไทยกลุ่มหนึ่งยืนยันว่าไม่ใช่ผลงานของดีไซเนอร์สาวคนนั้นแต่อย่างใด

ดังนั้น Sanook เลยขอยกหูโทรศัพท์สัมภาษณ์หนึ่งในกลุ่มแฟชั่นดีไซเนอร์ที่เป็นเจ้าของผลงานว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

งงใจ! ทำไมกล้าพรีเซนต์เหมือนเป็นงานตัวเองขนาดนั้น

แฟชั่นดีไซเนอร์คนที่พูดคุยกับเรา ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าเสื้อผ้าชุดที่มีการนำไปแสดงในเวทีแฟชั่นที่ดูไบเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมานั้น เป็นงานของตนเองและกลุ่มดีไซเนอร์ที่ร่วมกันทำงานกับกระทรวงวัฒนธรรมมาก่อนหน้านี้

โดยเป็นงานที่ทำเพื่อช่วยสนับสนับสุนและส่งเสริมงานออกแบบของพื้นที่ในภาคใต้ของประเทศ ซึ่งกลุ่มดีไซเนอร์เข้าใจว่างานออกแบบทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของกระทรวงวัฒนธรรม แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ยังคงมีความมึนงงและสงสัยว่าเหตุใดดีไซเนอร์สาวคนที่ไปออกงานจึงแสดงออกเหมือนกับว่าเป็นงานของตนเองขนาดนั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลย

เมื่อถามว่าพอทราบหรือไม่ว่ามีชุดของกลุ่มที่ถูกนำไปแสดงในงานดังกล่าวจำนวนเท่าใด คำตอบคือมีหลายชุด แต่ยังไม่ทราบจำนวนแน่ชัด แต่ที่แน่ๆ ชุดฟีนาเล่ซึ่งเป็นชุดที่แสดงปิดท้ายก็เป็นของกลุ่มตนเองแน่นอน

ชุดที่นำไปแสดงมาจากกลุ่มดีไซเนอร์ในโครงการ "ผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้"

หลังจากได้รับการบอกเล่าเช่นนั้น Sanook จึงไปสืบค้นข้อมูลจนพบว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เคยร่วมกับเหล่าแฟชั่นดีไซเนอร์ไทย ดำเนินโครงการ "ผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้" เมื่อปี พ.ศ. 2561 โดยมี 3 แฟชั่นดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศเข้าร่วม คือ เอก ทองประเสริฐ ธีระ ฉันทสวัสดิ์ และ ศรันรัตน์ พรรจิรเจริญ ซึ่งกระทรวงระบุว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงได้เดินหน้าสานต่อจนเกิดเป็น "โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และออกแบบลายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้" (Contemporary Southern Batik by OCAC) ขึ้นในปี พ.ศ. 2562 เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านกระบวนการคิดสร้างสรรค์ มุ่งยกระดับผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาสู่ระดับสากล

มึนหนัก! ดีไซเนอร์สาวได้รางวัลออกแบบ บนเวทีที่เอางานคนอื่นไปแสดง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มแฟชั่นดีไซเนอร์ซึ่งเป็นเจ้าของผลงาน ยอมรับว่ายังไม่มีการติดต่อหรือสอบถามไปยังกระทรวงวัฒนธรรมถึงประเด็นที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่รู้สึกหลังรับรู้เรื่องราวก็คือ ทุกคนต่างรู้สึกตลกและขบขันว่าเหตุใดเรื่องราวจึงเป็นเช่นนี้ เพราะถึงแม้ดีไซเนอร์สาวคนดังกล่าวอาจจะมีข้อตกลงบางประการกับทางกระทรวงวัฒนธรรม แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่มีการให้เครดิตในผลงานการออกแบบชุดแต่งกายในกลุ่มของตนที่นำไปโชว์ในงานระดับอินเตอร์เนชั่นแนลแบบนั้น ทั้งที่ผลงานของกลุ่มตนเคยผ่านการนำไปแสดงบนเวทีแฟชั่นต่างๆ มากมายมาแล้วนับไม่นับถ้วน อีกทั้งยังเป็นงานที่มีความโดนเด่นเป็นเอกลักษณ์มากๆ

และที่ทำเอาตกใจและสงสัยหนักขึ้นไปก็คือ เนื้อหาข่าวยังระบุเพิ่มเติมอีกว่าดีไซเนอร์สาวคนดังกล่าวได้รับรางวัลออกแบบยอดเยี่ยมบนเวทีที่นำเอาผลงานของคนอื่นไปแสดงอีกต่างหาก

ทั้งนี้ หนึ่งในแฟชั่นดีไซเนอร์คนดังที่ถูกเอาผลงานไปโชว์แบบมึนๆ งงๆ ปิดท้ายว่า อยากให้ดีไซเนอร์สาวคนดังกล่าวออกมาชี้แจงแถลงไขหน่อยว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร เหตุผลที่ทำแบบนั้นคืออะไร จะได้เคลียร์ให้หายคาใจกันไปนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook