ไฟเขียวขยายสิทธิบัตรทอง ครอบคลุมการรักษา "โควิด-19" จัดงบพันล้านดูแลประชาชน
เมื่อวานนี้ (2 มี.ค. 63) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ - นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อยู่ในประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) พร้อมอนุมัติหลักการให้ใช้เงินกองทุน "รายการรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสม" จำนวนไม่เกิน 1,020 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการเบิกจ่ายในกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของหน่วยบริการ
นายอนุทิน กล่าวว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “กองทุนบัตรทอง” ซึ่งเป็นระบบหลักประกันสุขภาพใหญ่ที่สุดของประเทศ มีภารกิจหลักสำคัญในการดูแลคนไทยให้เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็น รวมถึงในกรณีที่เกิดโรคระบาดอย่างกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในขณะนี้ ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ยังได้มอบให้ สปสช. ใช้งบประมาณจากองทุนฯ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกัน และควบคุมโรค ในการร่วมสกัดปัญหาการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าการแพร่ระบาดของประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 คือไม่พบการแพร่ระบาดในประเทศ แต่ สปสช.จำเป็นต้องเตรียมงบประมาณรองรับไว้เพื่อสร้างความมั่นใจและสนับสนุนการบริการของหน่วยบริการในการดูแลผู้ป่วยและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
ในวันนี้บอร์ด สปสช.ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบให้กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อยู่ในรายการประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ครอบคลุมดูแลทั้งการป้องกันโรค สร้างเสริมสุขภาพ ตรวจวินิจฉัยโรค รักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ และมอบให้คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและดำรงชีวิต พิจารณารายละเอียดมาตรฐาน และแนวทางบริการ
ขณะเดียวกัน บอร์ด สปสช. ยังได้มอบคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน พิจารณาแหล่งงบประมาณและกำหนดหลักเกณฑ์และการดำเนินงาน วิธี เงื่อนไข และอัตราการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ โดยเบื้องต้นให้ สปสช.จ่ายชดเชยค่าบริการสำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากเงินกองทุนรายการรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสม จำนวนไม่เกิน 1,020 ล้านบาท และให้ติดตามผลการใช้งบประมาณ กรณีที่ไม่เพียงพอ ให้ดำเนินการเพื่อขอรับงบกลางจากรัฐบาลต่อไป โดยงบประมาณที่อนุมัตินี้ไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์และงบประมาณในระบบปกติแต่อย่างใด
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ส่วนการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงการปรับปรุงพื้นที่โรงพยาบาลเพื่อรองรับในการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบให้เสนอต่อ รมว.สาธารณสุข พิจารณาออกประกาศเพื่อให้หน่วยบริการสามารถใช้เงินค่าใช้จ่ายเพื่อชดเชยค่าเสื่อมของสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์สำหรับซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์หรือปรับปรุงพื้นที่ในหน่วยบริการมารองรับได้ ซึ่งเป็นวงเงินจำนวน 6,211 ล้านบาท โดยกำหนดเป็นค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามคำสั่ง คสช. ที่ 37/2559 ข้อ 23 (3)
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คณะกรรมการฯ และ สปสช. ขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรสาธารณสุขทุกท่านที่เป็นด่านหน้าต่อสู้กับโรคโควิด-19 อย่างเข้มแข็ง และกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้ให้บริการประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองอยู่แล้ว และสามารถเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายจากกองทุนบัตรทอง เพียงแต่การกำหนดไว้ในประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข จะทำให้เกิดความชัดเจนในการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการยิ่งขึ้น ขณะที่งบประมาณที่บอร์ด สปสช. อนุมัติในวันนี้ก็เพื่อให้มีงบประมาณรองรับหากเกิดการระบาดเพิ่มมากขึ้น เป็นการเตรียมความพร้อมไว้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับหน่วยบริการและประชาชน
นอกจากนี้ ภายใต้กองทุนบัตรทองยังมีกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ที่ดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ โดยท้องถิ่นสามารถนำมาใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ตามบริบทและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่มีประชากรจำนวนมาก เช่น ในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถจัดซื้อหน้ากากอนามัยให้กับประชาชน เจลแอลกอฮอล์ล้างมือได้ หรือบางพื้นที่อาจจะจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจในการป้องกันโรค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชนเพื่อป้องกันโรค เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีหลายพื้นที่ได้ดำเนินการไปแล้ว