เมื่อสังคมอุดมดราม่า ดาราพูดเรื่องการเมืองได้ไหม
ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าทุกวันนี้ กระแสวิพากษ์วิจารณ์การเมืองเกิดขึ้นอย่างดุเดือดในทุกวงการ คำเรียกอย่าง “สลิ่ม” ถูกหยิบยกมาใช้อย่างแพร่หลาย ในการพูดถึงกลุ่มคนที่เป็นฝ่ายเห็นด้วยกับรัฐบาล ขณะเดียวกัน เหล่าศิลปิน ดารา หรือคนดังในสังคมที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในทางตรงข้ามกับกระแสสังคม ถ้าไม่ถูกแปะป้ายว่าเป็นสลิ่ม ก็ถูกขุดคุ้ยประวัติที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองเมื่อหลายปีก่อน ก่อให้เกิดดราม่าในโลกออนไลน์ ซึ่งไม่ต่างจากในช่วงก่อนหน้านี้ ที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลถูกเรียกว่าเป็น “เสื้อแดง” และดารานักแสดงหลายคนต้องออกจากวงการด้วยความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากกระแสหลักในสมัยนั้น
แต่ในทางกลับกัน เมื่อมองวงการบันเทิงต่างประเทศ เราจะพบว่ามีศิลปิน นักแสดง และคนดังจำนวนมากที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงรุ่นใหญ่อย่าง โรเบิร์ต เดอ นีโร และสตีเฟน คิง นักเขียนชื่อดัง ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมทั้งแร็ปเปอร์อย่างเอ็มมิเน็ม ที่ร้องแร็ปโจมตีทรัมป์ในประเด็นกฎหมายครอบครองอาวุธปืน หรือแม้กระทั่งในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2559 ก็มีนักแสดงฮอลลีวูดประกาศตัวเป็นทีมนางฮิลลารี คลินตัน ทั้งเบน เอฟเฟล็ก, จอร์จ คลูนีย์ และสตีเวน สปีลเบิร์ก ด้านทรัมป์ก็ไม่น้อยหน้า ได้นักกีฬาดังอย่างไมค์ ไทสัน เป็นกองเชียร์ นอกจากนี้ เวทีมอบรางวัลระดับโลกยังเป็นพื้นที่ยอดฮิตสำหรับดารานักร้อง ที่ออกมาเรียกร้องประเด็นทางการเมืองต่างๆ ด้วย
อะไรที่ทำให้คนดังในต่างประเทศกล้าลุกขึ้นส่งเสียงของตัวเองเพื่อท้าทายอำนาจรัฐ คุณจักรพันธุ์ ขวัญมงคล นักเขียนและอดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสาร The Hollywood Reporter Thailand อธิบายว่า ปัจจัยที่ทำให้คนดังเหล่านี้สามารถแสดงออกทางการเมืองได้อย่างเสรี คือพื้นฐานทางระบอบประชาธิปไตย
“อาจจะเป็นเพราะว่าพื้นฐานทางระบอบประชาธิปไตยของต่างประเทศ ค่อนข้างที่จะเปิดกว้างเรื่องนี้พอสมควร แต่ผมคิดว่าคนทุกคน ไม่ว่าจะมีอาชีพอะไร ก็มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ มันคือสิทธิพื้นฐาน เพราะฉะนั้น เมื่อคนในสังคมเชื่อว่าคนทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นทางการเมืองได้ เขาก็ต้องรับฟังความคิดเห็นทางการเมืองของคนนั้น ส่วนคนที่แสดงความเห็นทางการเมืองก็ต้องรู้ว่าตัวเองมีสิทธิ และต้องรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองพูดไปจะมีกระแสเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไรบ้าง อันนี้มันคือหลักการของระบอบประชาธิปไตย”
แต่สำหรับสังคมไทย การใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์การเมืองของเหล่าดาราและศิลปินอาจสร้างความผิดหวังให้กับแฟนคลับ และมีราคาที่ต้องจ่ายคือหน้าที่การงานและรายได้ ดังจะเห็นได้จากกรณีของ “จอย-ศิริลักษณ์ ผ่องโชค” ที่เคยขึ้นเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก่อนที่จะห่างหายจากวงการบันเทิง หรือ “พชร ธรรมมล” ดารานักร้องดาวรุ่งที่กลายเป็นดาวดับ เมื่อเขาวิพากษ์กรณีทางการเมือง จนกระทั่งถูกยกเลิกงาน ถูกตราหน้าว่าเป็นดาราเสื้อแดง และหายหน้าจากวงการไปเช่นกัน จากกรณีเหล่านี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ศิลปินและดาราไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะเงียบ และไม่แสดงความคิดเห็น แม้ว่าจะเป็นพลเมืองของสังคมเช่นเดียวกับคนอื่นๆ
ด้านคุณวิญญู วงศ์สุรวัฒน์ หรือ “จอห์น วิญญู” พิธีกรและไอคอนด้านการเมืองคนหนึ่งของไทย มองว่า ดาราควรแสดงความเห็นทางการเมือง เพื่อให้สังคมได้ตื่นตัวเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง
“ดาราควรแสดงความเห็นทางการเมือง เพราะดาราได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและสังคม หมายถึงว่า เขามีที่ยืนในสังคมที่ใหญ่กว่าคนอื่นก็เพราะประชาชน เพราะฉะนั้นเมื่อสังคมเปิดโอกาส ทำให้เขามีพื้นที่ เขาก็ควรจะทำอะไรให้สังคมบ้าง เมื่อมันเกิดสิ่งที่ผิดปกติในสังคม อย่างเช่นเรื่องการเมือง เมื่อเราเห็นว่ามันผิดหลักการ มันไม่ถูกต้อง มันเป็นพิษเป็นภัย หรือก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคม เราก็ควรจะออกมาแสดงความคิดเห็นเพื่อให้คนอื่นได้ฉุกคิดหรือตื่นตัว แล้วก็สนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหนถูก เรื่องไหนผิด ก็ขอให้เป็นวิจารณญาณของประชาชน ประเมินกันเองอีกทีว่าจะเชื่อข้อมูลฝั่งไหนและจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างไร” คุณจอห์นกล่าว
ในความเห็นของคุณจอห์น ไม่ว่าจะอยู่ในขั้วการเมืองฝ่ายใดก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ เพราะความเห็นที่แตกต่างย่อมดีกว่าความเงียบที่ไม่นำไปสู่การตื่นตัวและการแก้ไขปัญหา
“ถ้าเงียบมันเหมือนคุณไม่คิดจะทำอะไร คุณลอยตัวเหนือปัญหา โดยเฉพาะคนที่ได้รับชื่อเสียงมาจากการสนับสนุนจากประชาชน เพราะเขาเชื่อถือในตัวคุณ เขาให้โอกาสคุณ คุณควรจะทำอะไรให้สังคมเป็นการตอบแทนด้วย อาจจะไม่ต้องบอกว่ารัฐบาลนี้มันแย่ หรือว่าการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านมันดีหรือไม่ดีก็ตาม แต่อย่างน้อยก็มีการบอกว่าควรสนใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้หน่อยนะ หรือสังคมตอนนี้มีการถกเถียงจนนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประชาชนควรให้ความสนใจเพราะว่ามันเกี่ยวข้องกับภาษีของคุณ สิทธิเสรีภาพของคุณ คือการออกมาส่งเสียงให้สังคมตื่นตัว ผมว่ามันดีกว่าการที่จะอยู่เงียบๆ เฉยๆ เอาความปลอดภัยดีกว่า”
ความเห็นของคุณจอห์นสอดคล้องกับแนวทางของคุณภูวนาท คุนผลิน หรือ “อั๋น” พิธีกรและดีเจชื่อดัง ที่ยืนยันว่าอยากให้ทุกคนออกมาแสดงความเห็นและจุดยืนทางการเมือง
“ผมรู้สึกว่าถ้าเราเห็นว่าอะไรไม่ถูกต้อง เราไม่ควรเงียบ ถ้าเราเห็นปัญหาหรือเห็นอะไรก็แล้วแต่ ง่ายที่สุดคือเราก็แกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น แต่ถ้ามันเป็นแบบนั้น ก็จะทำให้ความชั่วความผิด แล้วก็ปัญหาทั้งปวงอยู่ที่เดิมและไม่ได้รับการแก้ไข พอตรรกะนี้มันอยู่ในใจ เราก็รู้สึกว่ามันใช้ได้กับทุกเรื่องเลย เราต้องไม่หนีปัญหา แต่การช่วยของเราต้องมั่นใจว่ามันเป็นไปในทางสร้างสรรค์นะ คือไม่ใช่ไปเพิ่มปัญหา” คุณอั๋นกล่าว
นอกจากนี้ คุณอั๋นมองว่าสิ่งสำคัญในการแสดงความคิดเห็น คือต้องมีข้อมูลหรือความรู้ในเรื่องนั้นๆ พร้อมเปิดกว้างเพื่อรับฟังความเห็นในมุมอื่นๆ และต้องแสดงออกอย่างสุภาพ
“การแสดงความเห็น ผมแสดงความเห็นบนพื้นฐานความรู้ที่มี แสวงหาความรู้มาพอสมควรแล้ว แต่ในอีกมุมมันเปิดพื้นที่ให้ผมเองและบอกกับคนอื่นด้วยว่าผมพร้อมที่จะเรียนรู้ในความต่าง และสิ่งที่ผมเน้นมากในทุกครั้งคือผมไม่เคยใช้คำหยาบเลย และที่เน้นอีกอันเลยคือ การที่คุณจะเห็นเหมือนผม หรือเห็นต่างจากผม เราไม่ได้จำเป็นเลยที่จะต้องทะเลาะหรือเกลียดกัน” คุณอั๋นกล่าว พร้อมเล่าเสริมว่า ที่ผ่านมาเขาไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงด้านหน้าที่การงานจากการแสดงออกทางการเมือง เนื่องจากโดยปกติจะแสดงความเห็นผ่านทางโซเชียลมีเดียส่วนตัว
“ผมไม่ใช้พื้นที่สาธารณะ เช่น ผมไม่พูดแสดงความคิดเห็นผ่านวิทยุกรีนเวฟที่จัดรายการอยู่ รายการทีวีที่ผมทำอยู่ หรือพื้นที่อื่นๆ ที่ผมไม่ได้เป็นเจ้าของ ผมใช้แค่เฟซบุ๊กกับอินสตาแกรมเท่านั้น ผลกระทบก็น้อยมาก คนที่เห็นต่างที่เข้ามาก็เป็นคนเห็นต่างที่สุภาพมากเลย ซึ่งดีมาก เขาคงเกรงใจว่านี่คือพื้นที่เรา มันก็จะมีแต่คนที่สุภาพมารวมตัวกัน”
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของ "ม้า - อรนภา กฤษฎี" พิธีกรและนางแบบชื่อดัง ที่แสดงความเห็นตำหนิเยาวชนที่ออกมาชุมนุมทางการเมือง หรือนักแสดงอย่าง “เหมี่ยว-ปวันรัตน์ นาคสุริยะ” และ “ท็อป-ดารณีนุช ปสุตนาวิน” ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง เมื่อทั้งคู่แสดงท่าทีสะใจที่มีบุคคลเสียชีวิตในเหตุชุลมุน ขณะที่มีการชุมนุมของ กปปส. โดยเข้าใจว่าผู้เสียชีวิตเป็นฝ่ายตรงข้าม ซึ่งกรณีเหล่านี้เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในการแสดงจุดยืนทางการเมืองเช่นกัน
“การแสดงความคิดเห็นต้องไม่ไปละเมิดคนอื่น อันนี้เป็นหลักการพื้นฐานของการอยู่ร่วมกัน หมายถึงคุณต้องไม่ไปเหยียดใคร กล่าวหาใคร ใส่ร้าย ยุยงปลุกปั่นให้ใครเกลียดใคร มันต้องไม่มี hate speech มันต้องเป็นความคิดเห็นของคนคนนั้นบนเรื่องที่เหมาะสม เป็นองค์ประกอบที่เหมาะสม ถ้าคุณไปด่าใคร ผมว่ามันผิด มันไปละเมิดคนอื่น” คุณจักรพันธุ์กล่าว
สำหรับคุณอั๋นเองก็มีหลักในการแสดงความคิดเห็นในฐานะที่เป็นบุคคลมีชื่อเสียง นั่นคือต้องแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ สุภาพ และเป็นข้อเท็จจริง
“อย่างแรกเลยต้องแสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์ สุภาพ และมีข้อเท็จจริงมากพอก่อน ไม่แชร์อะไรที่เต็มไปด้วยอารมณ์และความโกรธ มันอยู่ที่ว่าแสดงความคิดเห็นอย่างไร ผมว่าอันนี้สำคัญ ผมอยากให้ทุกคนออกมาแสดงความคิดเห็น แสดงจุดยืนกันได้อย่างสุภาพ และพร้อมเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แล้วช่วยกันบอกให้โลกและสังคมไทยรู้ว่าการเห็นต่างไม่ต้องทะเลาะกัน แต่คุณต้องฟังฉันบ้าง ฉันก็ฟังเธออยู่ เธอก็พูดกับฉันดีๆ แล้วเธอก็ฟังฉันดีๆ แค่นั้นเอง”
เมื่อคนดังก็มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น และอาจจะมีหน้าที่ในฐานะผู้ที่ชี้นำสังคมด้วย แต่การแสดงความคิดเห็นนั้นก็อาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับแฟนคลับที่เห็นต่าง ซึ่งอาจส่งผลต่องานในวงการและรายได้ที่จะหายไป กรณีนี้คุณจอห์นมองว่า สังคมไทยควรสร้างบรรทัดฐานใหม่ ในการแยกเรื่องการเมืองออกจากงานของศิลปินและดารา
“ผมรู้สึกว่าสังคมควรจะมีมุมมองแบบใหม่ ไม่ใช่ว่าเอาการเมืองไปผูกกับเรื่องผลงาน หมายความว่ามีความเห็นเกี่ยวกับการเมืองก็ไม่ควรจะไปกระทบกับหน้าที่การงานของเขา ความคิดเห็นทางการเมืองไม่ได้ไปกระทบกับฝีมือการแสดง หรือว่านักร้อง เขาก็ยังสามารถเอนเตอร์เทนได้ ทำคอนเสิร์ตได้ ในสังคมอเมริกา พอเกิดเหตุอย่างทรัมป์ออกมาโจมตีแบรด พิทท์ เพราะว่าแบรด พิทท์ พูดบนเวทีรับรางวัลและพาดพิงไปถึงโดนัลด์ ทรัมป์ ผมรู้สึกว่าทรัมป์เป็นตัวอย่างของการไม่แยกแยะ คนก็จะมองว่าทรัมป์แยกแยะเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ ซึ่งในอเมริกา เราเห็นกันมาตั้งนานแล้วว่าเขาก็แสดงความเห็นทางการเมืองกันเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ว่าเขาไม่ได้รับผลกระทบนะ ก็ได้รับผลกระทบบ้าง เพียงแต่ว่ามันเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างมากกว่า” คุณจอห์นอธิบาย
เช่นเดียวกับคุณจักรพันธุ์ ที่มองว่าความเห็นทางการเมืองของคนดังก็เป็นอีกเสียงหนึ่ง ที่มีคุณค่าไม่ต่างจากเสียงของคนทั่วไป และประชาชนมีสิทธิที่จะมีปฏิกิริยากับเสียงนั้นได้ตามสมควร แต่การจะบอกว่าดาราคนนั้นต้องคิดเหมือนกับที่แฟนคลับของตนคิด อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะคิดอะไรก็ได้ เพราะสุดท้ายแล้วเขาก็ต้องรับผลจากการแสดงความคิดเห็นนั้นเอง
“ถ้าเกิดนักแสดงที่เราชื่นชอบเขาแสดงความเห็นทางการเมืองแบบที่เราไม่ชอบ เราจะทำอย่างไร ผมคิดว่าเราควรจะใช้โอกาสนี้ในการฝึกความเห็นต่าง แต่ถ้าไม่สามารถชอบเขาได้ต่อไปแล้ว ก็ไม่ผิดที่จะเลิกชอบนะ แต่อย่างน้อยที่สุด ถ้าคุณจะเลิกศรัทธาเขา คุณก็ขอบคุณที่เขาอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้คุณ มอบงานดีๆ ให้คุณ แล้วคุณก็ไปต่อ ก็เลิกชอบ เลิกสนับสนุน เขาจะได้รู้ว่ามันเป็นแบบนี้ และได้ทบทวนในสิ่งที่เขาทำลงไป” คุณจักรพันธุ์กล่าว
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปฏิกิริยาต่อความเห็นต่างที่สังคมไทยควรมี คือการใช้สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นกลับไปยังคนบันเทิง โดยแสดงออกในลักษณะที่เป็นเสียงของสังคม ไม่ใช่การด่าทอหรือบูลลี่ ซึ่งคุณจอห์นอธิบายว่า
“สมมติว่าคนบันเทิงให้สัมภาษณ์แล้วคนในสังคมได้รับฟังแล้วเขารู้สึกไม่เห็นด้วย เขาก็น่าจะมีสิทธิที่จะแสดงออกในลักษณะ social voice ที่บอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย มันเป็นเรื่องปกติ ถ้ามันเป็นแนว บทสนทนาที่แสดงความคิดเห็นที่เห็นต่างอย่างมีอารยะ ผมรู้สึกว่าไม่ได้เสียหายอะไร และคนเรามีสิทธิที่จะเห็นต่างกันได้ เพียงแต่ว่าถ้ามีคนเห็นต่างและเขาอยากเถียงกับคุณ เขาก็ควรจะรับฟังกัน”
นอกจากดาราและศิลปินจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแล้ว ยังเป็นฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนวงการบันเทิงด้วย ซึ่งคุณจอห์นเชื่อว่า การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของศิลปินและนักแสดง จะช่วยยกระดับวงการบันเทิง และสังคมก็จะได้ประโยชน์ด้วย
“หลายๆ อย่างที่มันกำลังเกิดขึ้นอยู่ในสังคมไทย มันก็เกิดขึ้นในวงการบันเทิงเหมือนกัน สมมติว่ามีการเหยียดเพศ หรือมีการลิดรอนสิทธิของคนอื่นในสังคม คนในสังคมก็ออกมาโวยวายส่งเสียงกันเยอะ แล้วมันก็ทำให้เกิดการตื่นตัวและระมัดระวังมากขึ้น แต่ในวงการบันเทิงจะมีความเกรงอกเกรงใจกัน แล้วก็บอกว่ามันเป็นเรื่องตลก มันเป็นสคริปต์ ถ้ามีการถกเถียงและแสดงความเห็นกันมากขึ้น มันก็จะยิ่งยกระดับขึ้นไปอีกว่าวงการบันเทิงแคร์เรื่องพวกนี้ แล้วก็มีการปรับปรุง มีการรับฟังกันมากขึ้น แล้วก็นำเสนอออกไปสู่สาธารณะ แล้วก็ทำให้สาธารณะได้บริโภคและทำความเข้าใจมากขึ้นด้วย แล้วยิ่งถกเถียงเรื่องการเมืองออกสื่อสาธารณะ สังคมก็จะได้เรียนรู้วิธีการถกเถียงกัน หรืออยู่ร่วมกันในความเห็นต่างไปด้วย” คุณจอห์นสรุป