กรณ์ ไฟเขียวตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติ อุ้มผู้สูงอายุตั้งแต่51ปีขึ้นไป

กรณ์ ไฟเขียวตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติ อุ้มผู้สูงอายุตั้งแต่51ปีขึ้นไป

กรณ์ ไฟเขียวตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติ อุ้มผู้สูงอายุตั้งแต่51ปีขึ้นไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รมว.คลังไฟเขียวร่างกองทุนบำนาญแห่งชาติเข้า ครม. ช่วยผู้อยู่นอกระบบประกันสังคม 24 ล้านคน เอาใจคนอายุ 51 ปีขึ้นไป รัฐสมทบให้หนึ่งเท่า ส่วนที่เหลือรับเพิ่ม 0.5-0.75 เท่าตามกลุ่มอายุ "อภิสิทธิ์" ปลื้มใจประชาชนแห่ซื้อพันธบัตรไทยเข้มแข็ง เตรียมกระจายเม็ดเงินลงทุนทั่วประเทศ

นายสมชัย สัจจพงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า วันที่ 20 กรกฎาคม จะประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุน โดยจะพิจารณาการแปรสภาพตลาดทุนไทย การแก้ไขกฎหมายต่างๆ รวมถึงเสนอการปรับปรุงระบบภาษีเพื่อพัฒนาตลาดทุน และเสนอรูปแบบการออมเพื่อการเกษียณอายุ เพื่อให้สิทธิกับประชาชนนอกระบบประกันสังคมให้มีระบบการบำนาญรองรับเมื่อเกษียณอายุ

ทั้งนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นชอบในหลักการร่างกองทุนบำนาญแห่งชาติ (กบช.) แล้ว เหลือเพียงการเสนอร่าง พ.ร.บ.กบช.เท่านั้น ซึ่งในหลักการสมทบจะแบ่งเป็น อายุระหว่าง 20-30 ปี หากประชาชนใส่เงินเข้ามาใน กบช. 100 บาท รัฐบาลจะสมทบให้ 50 บาท อายุ 31-50 ปี ใส่เงินเข้า 100 บาท รัฐบาลจะสมทบให้ 80 บาท และหากอายุ 51 ปี ขึ้นไปรัฐบาลจะสมทบให้ 100 บาท

นอกจากนั้นในรูปแบบการบริหาร กบช. รัฐบาลจะรับประกันผลตอบแทนให้ไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำอายุ 1 ปี และการจ่ายคืนตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป ด้วยการทยอยจ่าย อย่างน้อยเดือนละ 2,000-2,500 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยผู้สูงอายุอีกเดือนละ 500 บาท จะทำให้ผู้สูงอายุมีรายได้ต่อเดือนที่ 3,000 บาท น่าจะเป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐานให้กับคนแก่ที่อยู่นอกระบบการประกันสังคม และนอกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 24 ล้านคนได้

สำหรับแนวทางการลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นั้น ขณะนี้กรมสรรพากรกำลังศึกษารายละเอียด เพื่อให้สะดวกกับการจัดเก็บภาษี ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนหลายล้านคน เพราะรายได้จากการจัดเก็บภาษีส่วนนี้ไม่มาก แต่มีคนที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก และรัฐบาลไม่กลัวว่าจะสูญเสียรายได้จากขยายวงเงินลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยนี้ แต่ต้องการช่วยเหลือ 6-7 ล้านบัญชีที่มีในปัจจุบันมากกว่า

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท. 11) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ถึงกรณีรัฐบาลได้เปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์ในโครงการ "ไทยเข้มแข็ง" เพื่อระดมทุน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ประชาชนให้ความสนใจจำนวนมาก ต้องใช้คำว่า "เกินคาด" จนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องอนุมัติให้ขยายโควต้าการออกพันธบัตรอีก 3 หมื่นล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ 5 หมื่นล้านบาท ทำให้ขณะนี้รัฐบาลมีความพร้อมที่จะเดินหน้าใช้จ่ายโครงการต่างๆ ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งแล้ว พร้อมกันนี้ ครม. ยังอนุมัติระเบียบที่จะใช้เป็นตัวกำกับการใช้จ่ายเงิน และกำหนดแนวทางในการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ เพราะต้องการดำเนินการให้รัดกุม โปร่งใส ที่สำคัญจะเข้มงวดกวดขันไม่ให้โยกโครงการที่กลั่นกรองและผ่านการพิจารณามาแล้ว

"ปฏิบัติการไทยเข้มแข็งเป็นการลงทุน และยกเครื่องประเทศไทยครั้งใหญ่ เพื่อสร้างความพร้อมให้กับประเทศทั้งเรื่องของแหล่งน้ำ ถนน โรงเรียน โรงพยาบาล สถานีอนามัย ฯลฯ ซึ่งจะมีโครงการไทยเข้มแข็งทั่วประเทศ ทุกภูมิภาค ทุกจังหวัด จึงอยากเชิญชวนประชาชนให้ช่วยกันติดตามเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใสมากที่สุด ที่ผ่านมาได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานดำเนินการทุกอย่างให้โปร่งใส ทำให้โครงการต่างๆ เดินไปล่าช้า" นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า การลงไปของเม็ดเงินตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งทำให้โครงการด้านการขนส่งต่างๆ ที่พูดกันมานานเริ่มต้นได้ ในปี 2552-2557 จะเริ่มก่อสร้างรถไฟสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) อีกทั้งจะเปิดแอร์พอตลิงก์จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-สถานีรถไฟฟ้ามักกะสันในช่วงปลายปี 2552 ด้วย จากนั้นในปี 2554-2559 จะเริ่มก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-ท่าพระ-บางซื่อ-บางแค)

"นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบให้ต่ออายุ 5 มาตรการ 5 เดือนไปจนถึงสิ้นปี 2552 จากเดิมหมดอายุในปลายเดือนกรกฎาคม เพื่อสนับสนุนการลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ประกอบด้วย การตรึงราคาก๊าซหุงต้ม การลดหย่อนค่าประปา การลดหย่อนค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ที่ใช้น้ำและไฟน้อย การให้บริการรถเมล์ และรถไฟฟรี ส่วนที่ประชาชนมีความห่วงใยเรื่องราคาน้ำมันนั้น ขอย้ำว่าในการขึ้นภาษีน้ำมัน รัฐบาลได้ใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปเป็นตัวรับภาระในเรื่องภาษีทั้งหมด ถึงขณะนี้ยังไม่มีการส่งต่อภาระภาษีไปยังประชาชนผู้ใช้น้ำมันแต่อย่างใด เพียงแต่ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น แต่ขณะนี้มีข่าวดีว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกกำลังปรับลดลง รัฐบาลจึงปรึกษาหารือกัน และจะบริหารจัดการไม่ให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชน หากราคาน้ำมันในตลาดโลกกลับมาเป็นขาขึ้นเมื่อไร ก็จะมีแนวทางบรรเทาผลกระทบ หรือภาระที่เกิดขึ้นกับประชาชน" นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงวางแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการประกันราคาพืชผลและรับซื้อสินค้าเกษตรว่า จากเดิมที่ใช้วิธีรับจำนำ ซึ่งตั้งราคาจำนำไว้ค่อนข้างสูง ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา สำหรับปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสนใจที่สุดหากทำตามแนวทางเดิมคือ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการไม่ถึงครึ่ง บางโครงการมีผู้ได้รับประโยชน์เพียง 1 ใน 4 หรือ 1 ใน 5 เท่านั้น แต่แนวทางใหม่จะให้ความช่วยเหลือเกษตรกรได้ทุกราย โดยจะขึ้นทะเบียนเกษตรการทั้งหมดในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อมีข้อมูลว่าเกษตรกรแต่ละรายในแต่ละฤดูกาลนั้น เพาะปลูกพืชผลตัวใด ในปริมาณเท่าไร จะได้ไปช่วยเหลือเรื่องรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างทั่วถึง

"ขณะนี้ ครม.อนุมัติการรับซื้อข้าวโพด และมันสำปะหลังไปแล้ว ในวันที่ 21 กรกฎาคม จะพิจารณาเรื่องการรับซื้อข้าวนาปี เพื่อแก้ไขปัญหาจากการที่โครงการรับจำนำได้ทำลายกลไกตลาดในเรื่องของข้าว ทำให้หลายฝ่ายห่วงใยว่าข้าวไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก การปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งนี้จะเป็นตัวสำคัญในการหยุดยั้งปัญหาที่เกิดขึ้น และทำให้ข้าวไทยสามารถที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้" นายกรัฐมนตรีกล่าว

ด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่าขอสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการช่วยเหลือเกษตรกร จากการที่รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายการรับจำนำพืชผลการเกษตรมาใช้การประกันราคาพืชผลว่า เป็นความกล้าหาญของรัฐบาลที่กล้าเปลี่ยนแปลง เพราะพิจารณาแล้วว่าผลประโยชน์หรือรายรับที่เกษตรกรควรได้จากการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ เพื่อให้การรับจำนำอย่างที่รัฐบาลก่อนๆ เคยทำมา ไม่เคยตกถึงมือเกษตรกรโดยตรง เพราะยังมีการทุจริตคอร์รัปชั่น ระหว่างผู้ประกอบการรับจำนำสินค้าเกษตรกับข้าราชการ รวมถึงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ดังนั้น การใช้นโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรนั้นจะมีผลดีคือ
1.ตัดวงจรการทุจริตคอร์รัปชั่นในขั้นตอนต่างๆ
2.ช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐ ที่จะถูกคอร์รัปชั่นไปตามกระบวนการต่างๆ ได้มากมาย
3.ช่วยเหลือให้เกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง และเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ทั้งเป็นการสร้างความหวังให้เกษตรกรว่าลงทุนลงแรงไปแล้วจะไม่สูญเปล่า แม้จะมีปัญหาในชั้นปฏิบัติบ้าง เพราะเป็นการเริ่มใช้นโยบายนี้ในปีแรกที่ต้องลงข้อมูลประวัติของเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชประเภทต่างๆ เพื่อทำฐานข้อมูลโดยภาครัฐจะได้ให้การช่วยเหลือได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอุดรูรั่วที่จะเปิดให้มีการทุจริตตามมา ซึ่งจะเป็นปัญหาไม่จบสิ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook