กรมศิลปากรถอด "ภาพเขียนสีเขายะลา" จากแหล่งโบราณคดี เปิดทางสัมปทานเหมืองหิน
จากกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 กรณีการแก้ไขขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา อ.เมือง จ.ยะลา ออกจากการเป็นแหล่งโบราณคดี เพื่อทำเป็นแหล่งสัมปทานหิน โดยมีการให้เหตุผลว่า จ.ยะลา และจังหวัดใกล้เคียงประสบสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรม เนื่องจากแหล่งหินส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคง จึงมีความจำเป็นต้องใช้แหล่งหินอุตสาหกรรมในเขตโบราณสถานเขายะลา เพื่อผ่อนคลายสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรม และลดการก่อความรุนแรงที่อาจเกิดจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
สำหรับภาพเขียนสีเขายะลานั้น เป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดีที่เก่าแก่และสำคัญยิ่งของประเทศไทย จากการสำรวจศึกษาโดยเฉพาะของสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา พบว่ามีอายุเก่าแก่หลายพันปี โดยนอกจากในถ้ำจะพบภาพเขียนสีโบราณอายุมากกว่า 1,000 ปี แล้ว ยังพบหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ อาทิ เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน เครื่องมือหินกะเทาะ และเครื่องใช้โบราณอื่นๆ อีกด้วย
ขณะที่สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า ชาวบ้านตำบลยะลา ได้ทราบข่าวก็รู้สึกตกใจ และเสียใจกับการออกประกาศดังกล่าว แม้ที่ผ่านมาจะมีการร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่เขายาลอ หรือเขายะลา ดังกล่าวไว้ เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษา และแม้ที่ผ่านมาทางกรมศิลปากร จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสืบค้นข้อมูลในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางชาวบ้านเองก็มีความหวังที่จะให้เขายาลอ คงสภาพของโบราณสถานประจำจังหวัด สืบเนื่องจากห้วงเวลาที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในพื้นที่เข้าไปสำรวจ และพบภาพเขียนสีโบราณถึง 2 แห่งด้วยกัน นอกจากนี้ ยังพบอาวุธโบราณซึ่งเชื่อว่าเป็นของมนุษย์ยุคหินหลายพันปี ก่อนที่จะมีภาพเขียนสี ตามวิวัฒนาการ โดยภาพเขียนสีที่แรกที่ได้พบนั้น มีพื้นที่บนภาพเขียนเกือบ 3 เมตร แต่ก็ได้พังทลาย และเสียหายจากการระเบิดหินในการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองหิน จนล่าสุดเหลือภาพเขียนสีบนเขายาลอ หรือเขายะลาเพียง 1 แห่ง ที่ยังคงอยู่บนผนังหิน
แหล่งข่าวที่ได้ให้ข้อมูล เปิดเผยอีกว่า ชาวบ้านรู้สึกกังวลใจ และไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร เพราะที่ผ่านมาก็หวังว่า กรมศิลปากร จะให้ความสำคัญกับโบราณสถานประจำท้องถิ่น แต่เมื่อมีการประกาศออกมาแบบนี้ ก็ทำให้ห่วงว่า หากมีการอนุญาตให้ประกอบอุตสาหกรรมหินต่อไป ภาพเขียนสีโบราณ บนเขายาลอ ก็จะไม่หลงเหลือให้เห็นอีกต่อไป ที่ผ่านมานั้น มีทั้งผู้นำหน่วยงานหลายหน่วยงานพื้นที่ พากันวิ่งเข้ามาในตำบลยะลา เพื่อหวังที่จะให้ชาวบ้านยินยอมในการทำอุตสาหกรรมหิน ซึ่งชาวบ้านเองก็มองว่า การประกาศของกรมศิลปากรดังกล่าวที่ออกมานั้น เป็นการเอื้อต่อธุรกิจอุตสาหกรรมหินของกลุ่มนายทุนในพื้นที่
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ