กรมศิลป์ชี้ เขายะลาเป็นแหล่งสัมปทานอยู่แล้ว ยันไม่กระทบ "ภาพเขียนสี" เป็นคนละที่กัน

กรมศิลป์ชี้ เขายะลาเป็นแหล่งสัมปทานอยู่แล้ว ยันไม่กระทบ "ภาพเขียนสี" เป็นคนละที่กัน

กรมศิลป์ชี้ เขายะลาเป็นแหล่งสัมปทานอยู่แล้ว ยันไม่กระทบ "ภาพเขียนสี" เป็นคนละที่กัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ชี้แจงประกาศกรมศิลปากร เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา โดยระบุว่า จากกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับประกาศกรมศิลปากร เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ตำบลลิดล-ยะลา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา นั้น ขอเรียนชี้แจง ดังนี้

1. ประกาศดังกล่าว ไม่ใช่การประกาศเพิกถอนภาพเขียนสีเขายะลาออกจากการเป็นแหล่งโบราณคดี แต่เป็นการประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานโดยรอบภาพเขียนสีเขายะลา โดยภาพเขียนสีเขายะลายังคงสภาพเป็นโบราณสถานเหมือนเดิม และได้รับการปกป้องตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ฯ

2. การประกาศดังกล่าวไม่ใช่การเปลี่ยนพื้นที่โบราณสถานให้เป็นแหล่งสัมปทานเหมืองหิน เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าว เป็นแหล่งสัมปทานเดิมอยู่ก่อนแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี ก่อนที่จะมีการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และบริเวณดังกล่าวไม่ใช่ตำแหน่งที่ตั้งของแหล่งภาพเขียนสี ทั้ง 2 แห่ง

3. กรณีที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวการสัมปทานแร่หินในบริเวณใกล้เคียง มีผลทำให้ภาพเขียนสีเขายะลา เสียหายไปแล้วหนึ่งจุดนั้น ผลจากการตรวจสอบ โดย สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 1 สงขลา พบว่าการพังทลายดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2551 จากรอยเลื่อน และการกัดเซาะของน้ำใต้ดิน ทำให้รอยแตกขยายกว้างขึ้น ประกอบกับบริเวณเชิงเขามีลักษณะเป็นโพรง รวมถึงการทำเหมืองในอดีตด้วยวิธีแบบโบราณที่มีมาก่อนการให้ประทานบัตร ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมการพังทลาย โดยไม่เกี่ยวข้องกับสัมปทานเหมืองหินที่อยู่โดยรอบแต่อย่างใด

4. เหตุผลการประกาศแก้ไขเขตที่ดินฯ ในครั้งนี้ มีที่มาจากการขอความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย 1) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี 2) ศูนย์อำนวยการบริหารส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม 4) จังหวัดยะลา

และ 5) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในครั้งนั้นกรมศิลปากรพิจารณาแล้วเพื่อเหตุผลด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และความมั่นคงของประเทศ จึงพิจารณาให้ความร่วมมือ โดยการพิจารณาแก้ไขเขตพื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ในเกณฑ์ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งศิลปกรรมภาพเขียนสีเขายะลาแต่อย่างใด

สำหรับกรณีตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นั้น นายประสพ เรียงเงิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และนายพนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร ผู้แทนกรมศิลปากร ได้รับหนังสือร้องเรียนดังกล่าว และได้นำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมตามลำดับ หลังจากนี้จะได้ดำเนินการตามขั้นตอน โดยกรมศิลปากรจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ เพื่อหาข้อสรุปชี้แจงแก่ผู้ร้องเรียนโดยด่วนต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook