สื่อจะเดินไปทางไหน เมื่อ “อำนาจทุน” ครอบงำสังคม

สื่อจะเดินไปทางไหน เมื่อ “อำนาจทุน” ครอบงำสังคม

สื่อจะเดินไปทางไหน เมื่อ “อำนาจทุน” ครอบงำสังคม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์สำคัญอย่างการเปิดโปงการทำงานของ IO หรือปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งกรณี “ป่ารอยต่อ” โดย ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ เป็นเหมือนหมุดหมายหนึ่งที่ทำให้สังคมตระหนักถึงอำนาจบางอย่างที่คอยลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเงียบๆ และต่อมาไม่นาน ก็เกิดกรณี “เขายะลา” ที่กรมศิลปากรประกาศแก้ไขขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ออกจากการเป็นแหล่งโบราณคดี เพื่อทำเป็นแหล่งสัมปทานหิน ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการทำลายแหล่งโบราณคดีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุน 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกระแสประท้วงในรูปแบบต่างๆ แต่ดูเหมือนพลังของประชาชนจะน้อยมาก เมื่อต้องสู้กับอำนาจที่เหนือกว่า ขณะเดียวกัน “สื่อมวลชน” ที่เชื่อกันว่าเป็นกระบอกเสียงของประชาชน กลับถูกมองว่าไม่ได้ทำหน้าที่ขุดคุ้ยและนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีเหล่านี้อย่างเต็มที่

เมื่อสื่อยังคงถูกคาดหวังให้เป็นกระบอกเสียงของสังคม และใช้เสรีภาพของตัวเองเพื่อขยายพื้นที่เสรีภาพของประชาชน แต่สื่อกลับไม่ตั้งคำถามกับอำนาจ จึงนำไปสู่คำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับสื่อไทยในปัจจุบัน และในสถานการณ์ที่อำนาจต่างๆ ครอบงำสังคมอยู่ สื่อควรจะเดินไปทางไหน เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

อ.ดร.เอกสิทธิ์ หนุนภักดีอ.ดร.เอกสิทธิ์ หนุนภักดี

อำนาจทุนทำงานอย่างไรในสังคม

อ.ดร.เอกสิทธิ์ หนุนภักดี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า โดยธรรมชาติแล้ว รัฐกับสังคม ผู้มีอำนาจกับผู้ถูกปกครอง มักจะมีพื้นที่ที่ต้องต่อสู้กันอยู่เสมอ คือพื้นที่ในการขยายเสรีภาพของประชาชนและพื้นที่ในการควบคุมของรัฐ ซึ่งรัฐก็จะพยายามลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือแม้กระทั่งสื่อมวลชน ในนามของความมั่นคงหรือศีลธรรมอันดีงาม โดยแสดงออกในรูปแบบการลงโทษ การให้รางวัล หรือขนบธรรมเนียมประเพณี ในขณะที่กลุ่มทุนหรือบริษัท ซึ่งมีฐานะเป็นประชาชน สามารถใช้สิทธิในการแสวงหาประโยชน์ได้ แต่ก็ต้องถูกตรวจสอบโดยสถาบันต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชน เมื่อกลุ่มทุนไม่อยากถูกตรวจสอบ แต่ไม่ได้มีอำนาจอยู่ในมือเช่นเดียวกับรัฐ วิธีการควบคุมสื่อของทุนจึงแตกต่างออกไป คือจะเน้นที่การให้รางวัลหรือสิทธิพิเศษต่างๆ เพราะฉะนั้น การขยายพื้นที่เสรีภาพของสื่อจึงมีโอกาสที่ถ้าไม่ถูกครอบงำก็อาจจะถูกกีดขวาง ทั้งโดยส่วนของรัฐและส่วนที่เป็นกลุ่มทุน

เนื่องจากสังคมไทยอยู่ในระบบทุนนิยม ที่สังคมขับเคลื่อนด้วยการซื้อขายแลกเปลี่ยน โดยมีตัวกลางคือ “เงิน” หรือทุน ซึ่งเป็นฐานอำนาจของคน ดังนั้น ผู้ที่มีทรัพยากรมาก มีเงินมาก หรือมีทุนมาก ย่อมมีโอกาสและมีช่องทางในการใช้เสรีภาพมากกว่าคนอื่น

“ถ้าคุณเป็นคนธรรมดาและอยากจะเสนอไอเดียในสังคม วิธีที่เราจะเสนอความคิดออกไปในสังคม มันก็มีน้อย แต่ถ้าคุณเป็นทุน คุณมีช่องทางเต็มไปหมดเลย โฆษณาประชาสัมพันธ์ก็ได้ หรือใช้เงินของคุณจ่ายเลยก็ได้ หรือถ้าจะไปให้สุด คุณให้คนอื่นพูดแทนก็ได้ หรือถ้าคุณอยากจะผลักดันวาระของคุณจริงๆ คุณอาจจะไปยุ่งกับการเมืองโดยการให้การสนับสนุนพรรคการเมืองหรือบุคคล ในแง่นี้ ทุนมีพื้นที่ในการพูด ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งส่วนสาธารณะและส่วนผู้ที่มีอำนาจโดยตรง ทั้งส่วนที่เอาเงินไปซื้อโดยตรง โฆษณาประชาสัมพันธ์โดยตรง เราไม่มีข้อห้ามเรื่องของการใช้สิทธิเสรีภาพของทุนมากนัก”

แม้เราจะเห็นว่าสังคมทุนนิยมนั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนมีเสรีภาพ อีกทั้งเรายังมีกฎหมายและองค์กรมากมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล แต่ อ.ดร.เอกสิทธิ์กลับมองว่า ในความเป็นจริง ทุนนิยมกลับให้เสรีภาพแก่กลุ่มทุนค่อนข้างมาก โดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างการจัดมหกรรมสินค้ากับการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งการรวมตัวของปัจเจกบุคคลในสองเหตุการณ์นี้มีความแตกต่างกันอย่างที่เราอาจไม่สังเกตเห็น

“ระหว่างมหกรรมขายสินค้ากับการชุมนุมทางการเมือง กฎหมายในประเทศไทยจะเข้มงวดกับการชุมนุมทางการเมืองมากกว่า การรวมตัวกันของปัจเจกบุคคลในทางการเมือง ซึ่งเป็นการพูดถึงเรื่องข้อตกลง กติกาที่เราจะอยู่ร่วมกัน การจัดสรรทรัพยากร จะเกิดขึ้นได้ยากกว่าการรวมตัวกันของปัจเจกบุคคลเพื่อการซื้อขายและการบริโภค อันนี้สภาพสังคมมันออกแบบไว้ชัดเจนเพื่อให้เสรีภาพกับทุนมากกว่าเสรีภาพของปัจเจก ถ้าคุณอยากจะค้าขาย เขาจะพยายามให้คุณได้ค้าขาย แต่ถ้าคุณอยากพูดเรื่องการเมือง มันจะมีเงื่อนไขต่างๆ มาคอยบังคับให้คุณเคลื่อนไหวได้ยาก ซึ่งเรื่องการเมืองเป็นพื้นที่สำคัญในการพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพ” อ.ดร.เอกสิทธิ์กล่าว

และไม่ใช่แค่สภาพสังคมเท่านั้นที่เอื้อให้ทุนสามารถมีเสรีภาพได้อย่างไม่จำกัด กลุ่มทุนเองก็ยังมีวิธีการที่แยบยลในการแสวงหาประโยชน์ของตัวเอง ซึ่ง อ.ดร.เอกสิทธิ์กล่าวว่า ในทางสังคม ผู้ที่ใช้อำนาจหรือแสวงหาผลประโยชน์จะมีวิธีการหลายอย่าง วิธีที่ล้าหลังที่สุดคือการใช้กำลัง ซึ่งไม่เป็นที่นิยมและไม่ได้ผล แต่วิธีที่ดีกว่านั้น ได้แก่ การทำให้ผู้อื่นคิดเหมือนผู้มีอำนาจ และวิธีที่ดีที่สุดคือทำให้ผู้อื่นคิดบนตรรกะเดียวกับผู้มีอำนาจ

“ถ้าคุณคิดบนตรรกะเดียวกันกับเขา บนโลกทัศน์เดียวกันกับเขา คุณจะหลุดไปจากกรอบที่เขาได้ประโยชน์ยากมากเลย ตัวอย่างที่เขาทำคืออย่างนี้ ในประเทศเราต้องผลักดันให้ GDP ขยายตัว แปลว่าบริษัทต้องได้กำไร ทันทีที่ประเทศเราคิดอยู่บนหลักการที่ว่า GDP ต้องเติบโตตลอดเวลา รัฐบาลจะมีภาระในการผลักดันให้บริษัทได้กำไร บริษัทไม่ต้องบอกหรอกว่าช่วยฉันหน่อย รัฐบาลเอาตรรกะนี้ไว้ในหัวแล้ว รัฐบาลคิดช่วยบริษัทตลอดเวลาอยู่แล้ว ทำไม GDP ขยายตัวเป็นคำที่น่าฟัง ก็เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ ไม่ได้ทำเพื่อบริษัท แต่บริษัทได้ประโยชน์ บางทีประชาชนไม่ได้ด้วยซ้ำไป เพราะไปกดค่าแรง” อ.ดร.เอกสิทธิ์อธิบาย

อ.ดร.เอกสิทธิ์เสริมว่า วิธีการที่จะทำให้ผู้อื่นคิดบนตรรกะเดียวกับผู้มีอำนาจ มีตั้งแต่ทำให้เห็นเฉพาะสิ่งที่เขาอยากให้เห็น ทำให้ผู้อื่นเชื่อในสิ่งเดียวกับเขา ซึ่งหากสื่อคล้อยตาม สื่อก็จะกลายเป็นเพียง “ลำโพง” หรือ “จอโทรทัศน์” ของทุน นำเสนอเฉพาะภาพที่ผู้มีอำนาจอยากให้เห็น นี่คือการครอบงำของทุนในสังคมโดยตรง ซึ่งหากฝังรากลึกแล้ว ประชาชนก็จะมองไม่เห็นการครอบงำนั้น โดยเฉพาะเมื่อมี “ตัวกลาง” ที่พูดแทนทุนในยุคปัจจุบันอย่างสื่อมวลชนหรือ influencers ในโลกโซเชียล ที่คิด พูด และทำแทนทุน โดยที่กลุ่มทุนไม่ต้องออกมาพูดด้วยตัวเอง

“ถ้าลองสังเกต พวกวิธีคิด ข้อแนะนำ ข้อเตือนใจ หรือนโยบายอะไรที่เป็นประโยชน์กับคนในวงกว้าง ที่มาจากชนชั้นนำ หรือนายทุน หรือมาจากคนมีอำนาจในรัฐบาล จำนวนมากเลยมันเป็นความดี ที่คุณทำแล้วเป็นความดีส่วนบุคคล เพราะว่าถ้าคุณเชื่อว่าทั้งหมดมันเป็นเรื่องส่วนบุคคล ผลร้ายหรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับคุณจะเป็นความรับผิดชอบของคุณเอง ถ้าคุณทำดี คุณก็ดี ที่มันดีกว่านั้นสำหรับพวกเขาก็คือว่า ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคุณมันไม่กระทบความเป็นอยู่ที่ดีของเขาเลย หรือยิ่งดีกว่านั้นเลยคือ ยิ่งคุณดีขึ้นเท่าไร เขายิ่งดีกว่าคุณ 2 - 3 เท่า คุณเป็นพนักงาน คุณอยากได้เงินเดือนสูงๆ มีบ้าน มีรถ คุณต้องขยัน ยิ่งคุณรวย เขายิ่งรวย” 

“แต่ถ้าคุณมีนโยบายหรือเสนอแนวคิดในเชิงโครงสร้าง เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้สูงกว่านี้ เพิ่มค่าแรงให้คนงานมีชีวิตที่ดีทันที นโยบายนี้ ไม่ใช่แค่นายทุนไม่ยอมรับหรอก คนทั่วไปก็ไม่ยอมรับ เพราะคิดว่าจะกระทบตัวเอง สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมักจะไม่ค่อยถูกบรรจุในวิธีคิดหรือกระแสของสังคมเท่าไร เพราะว่ากระแสสังคมเกิดมาจากชนชั้นนำและผู้มีอำนาจอยู่แล้ว มันเป็นมาตรฐานที่พวกเขาคิด คุณไปทำอะไรที่ฝืนมาตรฐานเหล่านี้ ในเชิงโครงสร้าง มันกระทบผลประโยชน์ของเขา เขาไม่ยอม แล้วคุณก็จะถูกลงโทษด้วยวิธีการต่างๆ นานา ถ้าคุณเป็นสื่อแล้วคุณไปกระทบกับเรื่องเหล่านี้ คุณจะถูกลงโทษโดยการที่เขาไม่มาลงโฆษณากับคุณ อันนี้คือการทำงานของวาทกรรมและการครอบงำในสังคม มันเป็นเงื่อนไขที่บังคับให้คุณต้องทำ โดยที่คุณไม่รู้ตัวแล้วคุณก็คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดี” อ.ดร.เอกสิทธิ์กล่าว

พื้นที่เสรีภาพสื่อในระบบทุนนิยม

เมื่อทุนมีอำนาจในการขยายพื้นที่เสรีภาพในการแสวงหาผลประโยชน์ จนอาจเบียดบังพื้นที่เสรีภาพของประชาชน สื่อจะมีบทบาทอย่างไรในความสัมพันธ์นี้ อ.ดร.เอกสิทธิ์อธิบายว่า ในขณะที่สื่อสมัยก่อนให้ความสำคัญกับอุดมการณ์ในการทำหน้าที่สื่อ มากกว่าค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ สื่อในปัจจุบันก็ยังทำหน้าที่เหมือนเดิม แต่มีเงื่อนไขต่างๆ กดดันให้สื่อมองถึงเรื่องราคาและผลกำไรด้วย โดยอาจารย์มองว่า รายได้ กำไร หรือความนิยมที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับรายได้ เริ่มมีอิทธิพลต่อสื่อมากขึ้น

“ถ้านึกถึงหนังสือพิมพ์รุ่นเก่ามากๆ เวลาคอลัมน์หรือข่าวตีพิมพ์ มันเป็นการสื่อสารเกือบจะด้านเดียว เพราะมันก็เป็นกระดาษ คนอ่านแล้วชอบก็ซื้อ เหมือนกับสื่อทำหน้าที่เพื่อตอบสนองความต้องการบางอย่างของผู้อ่าน และเมื่อผู้อ่านเกิดความนิยมชมชอบ สื่อก็จะเอาความนิยมตรงนี้ไปหารายได้ได้ เป้าหมายแรกต้องตอบสนองต่อผู้บริโภคก่อน แล้วเมื่อคุณได้ความนิยม คุณก็ค่อยไปคุยกับบริษัททุน ทุนก็ค่อยสนับสนุนคุณ แต่ในปัจจุบัน เนื่องจากมันมีปฏิสัมพันธ์กันได้มากขึ้น ข่าวสารข้อมูลมันไหลเวียนได้มากขึ้น ไม่ค่อยมีการผูกขาด พอมาเป็นยุคดิจิตอล รูปแบบของ advertorial มันซับซ้อนยิ่งขึ้น ทุนเริ่มทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ทุนไม่รอให้สื่อได้รับความนิยมแล้วค่อยไปซื้อโฆษณา ทุนเล็งเห็นเลยว่าสื่อแต่ละสำนักมีบุคลิกลักษณะอย่างไร ทุนเป็นคนช้อปปิ้งเลือกสื่อ แล้วก็คุยกับสื่อโดยตรงเลยว่า เราอยากจะให้ข้อมูลข่าวสารกับใครอย่างไร

ด้วยเหตุนี้ อ.ดร.เอกสิทธิ์จึงมองว่าสื่อในปัจจุบันตกอยู่ในสถานะรองมากขึ้น ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกคนเป็นสื่อได้ สื่อมีคู่แข่งมากขึ้น ขณะเดียวกัน ทุนก็มีตัวเลือกมากขึ้นในการซื้อโฆษณา ทำให้สื่อส่วนใหญ่ทุกวันนี้ต้องปรับตัวอย่างหนักไปโดยปริยาย จากที่วางตัวเองเป็นผู้นำทางความคิด ก็เริ่มนำเสนอในสิ่งที่ผู้ใช้งานต้องการเป็นหลักมากกว่าเดิม เพื่อสร้างความนิยมให้เข้าตานายทุน นำมาซึ่งรายได้และผลกำไร

อย่างไรก็ตาม ยุคนี้ก็ถือว่าเป็นยุคของคนรุ่นใหม่ จากการที่คนรุ่นใหม่เริ่มมีความตื่นตัวในสิทธิและเสรีภาพ และมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น รวมทั้งยังเกิดสถาบันสื่อใหม่ที่ก่อตั้งโดยคนรุ่นใหม่เช่นกัน แต่สุดท้ายสื่อรุ่นใหม่ที่มีภาพลักษณ์หัวก้าวหน้ากลับถูกตั้งคำถาม จากท่าทีที่สยบยอมต่อนายทุน ซึ่ง อ.ดร.เอกสิทธิ์อธิบายพฤติกรรมเช่นนี้ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องความดีความเลวส่วนบุคคล แต่เป็นเรื่อง “ความเชื่อร่วมกันทางสังคม” ท่าทีเช่นนี้ของสื่อรุ่นใหม่แสดงให้เห็นว่าเขาเชื่อว่าสิ่งที่ตนเองทำไม่ได้ขัดกับจุดยืนที่ประกาศไว้แต่อย่างใด สาเหตุที่ทำให้สื่อเชื่อเช่นนี้ได้ก็คือ “วาทกรรม” สิ่งที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบความเชื่อ และบังคับให้คนเราคิดเรื่องอื่น โดยปิดบังเรื่องผลประโยชน์ในเชิงอำนาจหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

อ.ดร.เอกสิทธิ์กล่าวว่า หนึ่งในวาทกรรมที่ซ่อนตัวอยู่ในการทำงานของสื่อก็คือ “ความดี” ซึ่งโดยทั่วไป เมื่อสื่อพูดถึงนายทุน ก็มักจะเป็นภาพชีวิตที่เต็มไปด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ความมีวิสัยทัศน์ ความเฉลียวฉลาด และประหยัดมัธยัสถ์ โดยไม่ได้พูดถึงแง่มุมอื่นๆ เช่น การประสบความสำเร็จทางธุรกิจจากการมีเส้นสาย การผูกขาดธุรกิจ หรือแม้กระทั่งโครงสร้างทางสังคมที่เอื้อให้นายทุนนั้นๆ ประสบความสำเร็จ ในทางกลับกัน เมื่อสื่อพูดถึงทุนในแง่ที่ไม่ดี ก็จะเป็นเรื่องการคอร์รัปชัน และมักจะใช้ข้อหานี้เมื่อพูดถึงนายทุนที่สังคมไม่ชอบเท่านั้น

“เวลาคนในสังคมพูดถึงคอร์รัปชัน อะไรที่ไม่ชอบมาพากลของทุน มันก็จะออกไปในทำนองเดียวกัน คือเป็นการคอร์รัปชันหรือการโกงที่ไม่ซับซ้อน เราก็จะมองแต่แง่ของการใช้อำนาจโดยมิชอบ สิ่งที่เราลืมมองไปคือการใช้อำนาจทุนโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่มันลิดรอนสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลทั่วไป หรือใช้ทรัพยากรสาธารณะมาก เอาเปรียบคนอื่น ทำไมเราไม่มี มันมีอะไรบังตาบางอย่างทำให้เราไปสนใจอย่างอื่น ขาวกับดำ รวยเท่ากับขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน กับรวยอีกแบบคือ คอร์รัปชัน ใช้อำนาจโดยมิชอบ ยัดเงินใต้โต๊ะ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เห็นง่าย สังเกตง่าย ซึ่งจริงๆ ต่อให้เราไปมุ่งจัดการตรงนั้น เราไม่ได้จัดการเรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคมเท่าไร” อ.ดร.เอกสิทธิ์กล่าว

นอกจากจะกำกับ “การพูด” ของสื่อแล้ว วาทกรรมความดีอย่าง “ความกตัญญู” ก็มาคอยกำกับท่าทีของสื่อที่มีต่อทุนด้วย เมื่อใดที่ทุนให้ผลประโยชน์หรืออภิสิทธิ์แก่สื่อ สิ่งที่สื่อควรตอบแทนคือการพูดถึงทุนเหล่านั้นในแง่ดี และทันทีที่สื่อกล่าวถึงทุนในแง่ลบ ก็จะถูกมองว่าอกตัญญู ซึ่ง อ.ดร.เอกสิทธิ์กล่าวว่า ผลจากวาทกรรมนี้ทำให้สื่อมองไม่เห็นด้านอื่นของสิ่งที่ตนกำลังเผชิญหน้าอยู่

“เวลาที่เขาพาคุณไปเลี้ยง แล้วคุณอธิบายการเลี้ยงนั้นว่าเป็นการแสดงน้ำใจ คำว่าน้ำใจก็เป็นเรื่องที่ดี ทำให้มันกลบเกลื่อนด้านที่เป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างทุนกับสื่อ คือคุณต้องพูดถึงเขาในแง่ดีมากขึ้น เคยได้ยินคำขวัญของนายพลคนหนึ่งไหม ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน เป็นเรื่องที่ดีทั้งสิ้น เป็นคุณธรรมที่ควรจะมี ถ้าคุณเป็นปัจเจกบุคคล โอเค แต่ถ้าคุณเป็นบุคคลสาธารณะ ใชัทรัพยากรสาธารณะ คำถามก็คือว่า แล้วผลประโยชน์สาธารณะอยู่ตรงไหน ถ้าเผื่อเพื่อนคุณ นายคุณ น้องคุณ ทำอะไรที่ละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคมหรือทำอะไรที่ส่งผลกระทบต่อสังคม คุณจะทำอย่างไร ที่มันแย่คือ เราใช้สิ่งเหล่านี้ไม่คงเส้นคงวา เราใช้เฉพาะกับคนที่เราอยากจะปกป้องเท่านั้น แต่ถ้าเป็นคนที่เราไม่ชอบหน้า หรือเป็นศัตรูทางการเมือง เราจะบอกว่า เราต้องยึดหลักกฎหมาย”

“การที่คุณเห็นว่าสื่อไม่ทำหน้าที่ แล้วยังประกาศตัวได้อยู่ ไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็นคนไม่ดี แต่เขาเป็นคนดีและเชื่ออย่างจริงจังว่าสิ่งที่เขาทำเป็นเรื่องที่ดี ปัญหามีอยู่นิดเดียว ความดีที่เขาเชื่อมันมีด้านที่เป็นวาทกรรมด้วย ทุกๆ ความดีที่สังคมเราเชื่อถือมันมีด้านที่เป็นวาทกรรม มันทำให้เราเห็นบางเรื่อง ไม่เห็นบางเรื่อง แล้วก็บังเอิญเรื่องที่ไม่เห็นมักจะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ทั้งในเชิงอำนาจและเศรษฐกิจ ถ้าคุณเป็นบุคคลทั่วไป คุณก็ใช้เรื่องนี้แบ่งปันทรัพยากรหรือผลประโยชน์กับคนที่คุณเกี่ยวข้อง ถ้าคุณเป็นสถาบันหรือบริษัท มันจะพัวพันกับประโยชน์สาธารณะที่ใหญ่มากขึ้นไปเรื่อยๆ อันนี้เป็นปัญหาของวาทกรรม แล้วก็เป็นปัญหาของสื่อกับทุนในปัจจุบัน”

สื่อต้องเป็นกลาง?

ในโลกที่ใครก็เป็นสื่อได้ ทำให้การแข่งขันในสนามสื่อสารมวลชนเป็นไปอย่างเข้มข้น สื่อยอดนิยมจะดึงดูดรายได้เข้ามา ขณะเดียวกันก็อาจกลายเป็นไมโครโฟนให้กับนายทุนแทนที่จะยืนข้างประชาชนโดยไม่รู้ตัว สื่อจึงพยายามใช้คำว่า “เป็นกลาง” เพื่อยืนยันถึงจรรยาบรรณของตนเอง อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ อ.ดร.เอกสิทธิ์ ความเป็นกลางก็ถือเป็นวาทกรรมและมายาคติของสื่อเช่นกัน

“ทันทีที่คุณใช้คำว่าคุณเป็นกลาง มีผลอย่างน้อย 2 อย่าง อย่างแรกคือ ถ้าคุณทำให้สังคมเชื่อได้ว่าคุณเป็นกลาง มันจะช่วยให้คุณเลือกข้างได้อย่างเต็มที่มากขึ้น อย่างที่สองก็คือ เมื่อคุณประกาศตัวว่าเป็นกลาง คุณจะใช้การที่บอกว่าเป็นกลางไปเอารัดเอาเปรียบคนได้อีกเยอะเลย ยกตัวอย่างเช่น เวลามีนายทุนกับชาวบ้านมีปัญหากัน คุณเชิญเขามาสัมภาษณ์ออกรายการ เวลา 1 ชม. คุณจะแบ่งเวลาให้ทั้งสองฝ่ายพูดคนละครึ่ง เพราะคุณคิดว่านั่นคือความเป็นกลางใช่ไหม แต่สำหรับผมแล้วมันโคตรไม่แฟร์เลย ถ้าคุณมีอำนาจมาก รวย คุณอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบทางสังคมอยู่แล้ว คุณมีโอกาสพูดมากกว่าและแทบจะพูดตลอดเวลาอยู่แล้ว คนอำนาจน้อยต่างหาก เขาไม่มีโอกาสพูด ถ้าสื่ออยากจะเป็นกลางจริง คุณต้องให้โอกาสคนมีอำนาจน้อยกว่าได้พูดมากกว่า ความเป็นกลางไม่ได้แปลว่าทุกอย่างต้องเท่ากันเป๊ะ แต่มันคือคุณต้องชดเชยให้คนที่เสียเปรียบ ให้เขามีพื้นที่ มีเวลา มีโอกาสได้แสดงความเห็นหรือข้อมูลของเขา อย่างน้อยให้มันใกล้เคียงกับคนที่มีอำนาจมากกว่า”

เพราะฉะนั้น อ.ดร.เอกสิทธิ์จึงระบุอย่างชัดเจนว่า “สื่อไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง” แต่ต้องทำหน้าที่นำเสนอข้อเท็จจริง เพื่อให้ประชาชนได้ตั้งคำถามและเชื่อข้อมูลนั้นเมื่อได้พิสูจน์ด้วยตัวเอง และเครื่องมือที่จะช่วยให้สื่อสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ “จรรยาบรรณ” ซึ่งประกอบด้วยการพูดความจริง ตรวจสอบความจริง และเผยแพร่ความจริงอย่างมีมาตรฐาน

“ทุกครั้งที่เรานำเสนอข่าวออกสู่สังคม มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ แต่คุณมีเกณฑ์ในการเลือกนำเสนอข้อมูลนั้นบนจริยธรรม บนจรรยาบรรณของสื่อ เช่น อาจจะถือประโยชน์ของหมู่มาก หรือถือประโยชน์ของคนที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบ คุณคิดแค่ว่าสิ่งที่คุณทำมันละเมิดหลักการที่คุณยึดถือว่าดีไหม ตราบใดที่คุณไม่ละเมิดหลักการ ผลงานที่คุณทำมันจะเป็นกลางเองโดยอัตโนมัติ ถ้าคุณไม่ยึดถือหลักการ แล้วคุณยึดถือความดีซึ่งมันเป็นนามธรรม คุณก็ละเมิดหลักการได้ตลอดเวลา แล้วคุณก็อ้างว่าคุณมีข้อยกเว้นที่จะละเมิดหลักการนั้น เพราะคุณกำลังอยู่ในฟากที่ทำความดี เช่น คุณอยากจะด่าฝ่ายตรงข้าม คุณก็ละเมิดหลักการเรื่องข้อเท็จจริง เรื่องการตรวจสอบ การเผยแพร่อย่างมีมาตรฐานจนหมดสิ้นเลย แล้วเราก็บอกว่าเราเป็นกลาง เพราะฉะนั้น เราก็เสนอข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งมันไม่ใช่” อ.ดร.เอกสิทธิ์กล่าว

นอกจากนี้ อ.ดร.เอกสิทธิ์ยังเสนอว่า เมื่อวาทกรรมของผู้มีอำนาจทำงานอยู่ในสังคม และสื่ออาจจะหลงทางจนกระทั่งกลายเป็นผู้ผลิตซ้ำวาทกรรมเหล่านี้ สื่อจึงต้องตั้งคำถามในการทำงานของตัวเองอยู่เสมอว่าประเด็นนี้ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ ใครได้ประโยชน์มากกว่า หรือใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์ก่อน เป็นต้น

ทางรอดของสื่อในมือทุนนิยม

อย่างไรก็ตาม เมื่อสื่อจำเป็นต้องมีรายได้เพื่อการอยู่รอด สื่อจะต้องมีท่าทีอย่างไรต่อการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือทุน ประเด็นนี้ อ.ดร.เอกสิทธิ์มองว่า ความเป็นสถาบันของสื่อเอื้อให้สื่อสามารถพูดได้มากกว่าประชาชนทั่วไป ดังนั้น สื่อต้องเข้าหาความจริงให้มากกว่าที่ผู้มีอำนาจอนุญาต โดยยังรักษากรอบกฎหมายและฉันทามติของสังคม การแตะเส้นที่ “เซนสิทีฟ” ของผู้มีอำนาจ จะทำให้สื่อรู้ข้อจำกัดในการนำเสนอข่าว และทำให้คนในสังคมรู้ว่าเรามีความอ่อนไหวในเรื่องใดบ้าง และจะช่วยให้สังคมรู้ทิศทางว่าควรขยับเส้นเสรีภาพไปทางไหน รวมทั้งยังช่วยขยายพื้นที่เสรีภาพให้ประชาชนสามารถส่งเสียงได้มากขึ้นในที่สุด

ในทางกลับกัน หากสื่อมวลชนไม่พยายามแตะเส้นที่ผู้มีอำนาจกำหนด จนกระทั่งเส้นเสรีภาพของประชาชนไม่ถูกขยับขยาย เส้นของอำนาจก็จะรุกล้ำพื้นที่เข้ามา ทำให้พื้นที่เสรีภาพของประชาชนหดแคบลงโดยอัตโนมัติ เนื่องจากโดยทั่วไป อำนาจจะมุ่งควบคุมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการออกกฎหมาย อำนาจในการจัดสรรทรัพยากร รวมทั้งวัฒนธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อค้ำจุนผู้มีอำนาจ 

ตราบใดที่สื่อทำหน้าที่ในการขยายพื้นที่เสรีภาพ สื่อก็จะอยู่ได้ด้วย เพราะประชาชนจะสนับสนุนสื่อประเภทนี้ สื่อที่เซ็นเซอร์ตัวเองมากๆ เข้า กลัวนั่นกลัวนี่มากไป จนไม่ไปแตะเส้นที่มันหมิ่นเหม่ระหว่างความจริงกับอำนาจกับความกลัวของตัวเอง ผมว่าสื่อจะอยู่ไม่ได้ เพราะถึงวันหนึ่งที่สื่อเขียนแต่สิ่งที่เราหาอ่านเอาได้จากข่าวประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล ผมก็ไม่รู้ว่าจะอ่านสื่อไปทำไม ผมก็ไปอ่านสื่อโซเชียล เพราะว่ามันพูดความจริงได้เยอะกว่า” อ.ดร.เอกสิทธิ์ระบุ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook