"กรมการค้าภายใน" จ่อแจ้งความ "โฆษกศุลกากร" ปูดข่าวเท็จ ส่งออกแมสก์ 330 ตัน
วันนี้ (12 มี.ค.) มีการรายงานข่าวจากสื่อหลายสำนักว่า นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เตรียมแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ให้ข่าวผิดพลาด ทั้งความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และหมิ่นประมาท หลังจากที่โฆษกกรมศุลกากร ให้ข่าวว่า กรมการค้าภายในอนุญาตส่งออกหน้ากากอนามัย ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 63 มากถึง 330 ตัน โดยนายวิชัยระบุว่า การให้ข้อมูลดังกล่าวของ โฆษกกรมศุลกากร เป็นการให้ข่าวที่ไร้ความรับผิดชอบ ทำให้กรมการค้าภายในเสียหาย เป็นการกระทำที่ไม่สามารถให้อภัยได้ โดยตนเตรียมจะแจ้งความเอาผิดกับผู้ให้ข่าวเท็จดังกล่าว พร้อมทั้งเตรียมแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดด้วย
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวสืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. ที่ผ่านมา มีการส่งออกหน้ากากอนามัยมูลค่าทั้งสิ้น 160 ล้านบาท หรือ คิดเป็นปริมาณ 330 ตัน แบ่งเป็นเดือน ม.ค. จำนวน 150 ตัน เดือน ก.พ. จำนวน 180 ตัน และยืนยันว่ากรมศุลกากรเก็บข้อมูลเอกสารส่งออกหน้ากากอนามัยตามใบอนุญาตของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งการส่งออกดังกล่าวเป็นการดำเนินการของผู้ประกอบการไม่กี่ราย ไปในหลายประเทศทั้ง จีน ฮ่องกง สหรัฐฯ
ขณะที่การนำเข้าหน้ากากอนามัยในเดือน ม.ค. อยู่ที่ 145 ตัน มูลค่า 55 ล้านบาท และเดือน ก.พ. อยู่ที่ 71 ตัน มูลค่า 45 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน ในส่วนนี้จะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าที่สำแดง โดยการนำเข้ามาเพื่อใช้ในประเทศ หรือเป็นการนำเข้ามาเพื่อส่งออกต่อนั้น กรมศุลกากรไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ และประเมินได้ยากว่าจำนวนหน้ากากอนามัยที่นำเข้ามาคิดเป็นจำนวนกี่ชิ้น เพราะการสำแดงสินค้าให้ทำตามน้ำหนัก
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา กรมศุลกากรต้องออกเอกสารชี้แจงถึงข่าวดังกล่าว ระบุว่าตัวเลข 330 ตัน ที่แถลงไปก่อนหน้านี้ เป็นตัวเลขจากพิกัดศุลกากร ซึ่งรวมสินค้าชนิดอื่นนอกจากหน้ากากอนามัยอีกหลายชนิด เช่น ชุดผ้าหุ้มเบาะ เชือกผูกรองเท้า ผ้ากันเปื้อน ผ้าคลุม สายคล้องคอทำด้วยผ้าทอ เป็นต้น โดยที่ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลข ในช่วงเดือน ม.ค. ถึงวันที่ 4 ก.พ. 2563 ก่อนที่จะมีประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่อง การควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งหน้ากากอนามัย ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. 2563 เพื่อควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัย เพื่อลดการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในประเทศ