COVID-19 ระบาดใหญ่ เราต้องทำอย่างไร

COVID-19 ระบาดใหญ่ เราต้องทำอย่างไร

COVID-19 ระบาดใหญ่ เราต้องทำอย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันที่ 11 มีนาคม 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) ซึ่งในขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงมากกว่า 1 แสนรายและยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสร้างความหวาดกลัวและเป็นที่กังวลใจให้กับประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก ดังนั้น เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการระบาดของโรค COVID-19 มากขึ้น วันนี้ Sanook จึงขอรวบรวมวิธีการรับมือกับภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโรค COVID-19 มาฝากทุกคน

การระบาดใหญ่ (Pandemic) คืออะไร

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้นิยามความหมายของ “การระบาดใหญ่ (Pandemic)” ว่าเป็นการระบาดของโรคติดเชื้อที่แพร่ระบาดจากคนสู่คน และกระจายไปหลายส่วนของโลก ซึ่งแตกต่างจากภาวะการระบาด (Epidemic) ซึ่งมักใช้อธิบายการระบาดที่ไม่สามารถควบคุมได้แต่ยังกระจายอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้น

จากคำนิยามดังกล่าวหมายความว่าโรคที่ถูกจัดเป็นภาวะการระบาดใหญ่นั้น ต้องมีการระบาดข้ามประเทศหรือข้ามทวีป และจะส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก จากภาวะการระบาดใหญ่นี้เองก็อาจนำไปสู่การรับข้อมูลที่ผิดพลาด ความสับสน และความตระหนกของคนในสังคม ดังนั้น การเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจทวีความรุนแรงมากกว่าเดิม ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทุกคนควรลงมือทำ

เตรียมตัวรับมือกับการระบาดใหญ่ COVID-19

ถึงแม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะประกาศให้โรค COVID-19 เป็นการระบาดใหญ่แล้ว แต่ตอนนี้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในชีวิตประจำวันของเรา อย่างไรก็ตาม อาจจะได้รับผลกระทบจากความพยายามในการป้องกันการแพร่เชื้อของโรคดังกล่าว เช่น โรงเรียนประกาศหยุดการเรียนการสอน หรือสำนักงานต่าง ๆ ประกาศปิดทำการ เป็นต้น ดังนั้น การใช้คำว่า “ระบาดใหญ่” ไม่ได้แปลว่าโรค COVID-19 มีความอันตรายมากกว่าเดิม หรือความเสี่ยงในการติดเชื้อจะเพิ่มมากขึ้น แต่ทุกประเทศ รัฐบาล และประชาชนต้องปฏิบัติตัวและรับมือกับโรค COVID-19 เช่นเดิม

สิ่งที่ทุกคนควรทำในสถานการณ์โรคระบาด คือ ต้องมีสติ เพราะการระบาดใหญ่ทั่วโลกอาจทำให้ผู้รับข่าวสารรู้สึกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ของโรค COVID-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน แต่การตื่นตระหนกมากจนเกินไปก็ไม่เป็นผลดีต่อตัวเองเช่นกัน ทั้งนี้ก็ต้องคอยรับข่าวสารจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ เช่น เว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค หรือองค์การอนามัยโลก และควรมีการวางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง

ทำอะไรบ้างในช่วงการระบาดใหญ่ของโรค

เราสามารถลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อได้ โดยปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค เช่น กักตัวเองหากมีรู้ตัวว่าสัมผัสกับผู้ติดเชื้อหรือมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อ ดังนี้

  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค โดยกรมควบคุมโรคได้ออกคำแนะนำและข้อควรปฏิบัติในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 เพื่อควบคุมและป้องกันประชาชนทั่วไป เช่น การกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน สำหรับผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากต่างประเทศและผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ, ติดตามข่าวสารการเดินทางเข้าออกประเทศใด ๆ ที่กรมควบคุมโรคประกาศให้เป็นพื้นที่เสี่ยงติดโรค
  • ศึกษาข้อมูลของโรคและอาการต่าง ๆ เพื่อสังเกตอาการของตัวเอง อาการของโรค COVID-19 นั้นจะเริ่มจากมีไข้ ไอ และหายใจติดขัด ซึ่งหากผู้ใดพบว่าตัวเองมีอาการดังกล่าวก็ควรพบแพทย์ทันที ขณะเดียวกันก็ต้องสวมหน้ากากอนามัยเพื่อไม่ไปแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น และพยายามอยู่ห่างจากผู้อื่นเป็นระยะ 2 เมตร

  • ล้างมือด้วยสบู่เป็นวิธีการทำความสะอาดมือที่ดีที่สุด เช่นเดียวกับการไม่สัมผัสใบหน้า (จมูก ปาก หรือตา) ปิดปากทุกครั้งที่ไอหรือจามด้วยข้อศอก เพราะการใช้มือปิดปากทำให้เกิดการแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ง่าย ทั้งนี้ ก็ต้องดูแลตัวเองด้วยการนอนหลับให้เพียงพอและทานอาหารที่มีประโยชน์
  • หลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชน เพราะโรค COVID-19 มีการแพร่ระบาดจากคนสู่คน และมีความเสี่ยงสูงหากเราพาตัวเองไปอยู่ในที่แออัดหรือมีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น คอนเสิร์ต กีฬา หรือการทำกิจกรรมทางศาสนา เป็นต้น

ในขณะที่เราควรตื่นตัวและตระหนักถึงโรค COVID-19 ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในตอนนี้ที่องค์การอนามัยโลกออกมาประกาศให้เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวคือต้องมีสติ และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคเพื่อป้องกันตัวเองและคนรอบตัวให้ปลอดภัยจากโรคระบาดดังกล่าว 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook