ปิดผับแล้วยังไงต่อ? ความในใจผู้ประกอบการ-ศิลปินกลางคืนกับผลกระทบจากโควิด-19
คงไม่มีใครปฏิเสธว่า การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” หรือ “ไวรัสโคโรนา” ส่งผลกระทบไปสู่ทั่วโลกในทุกแวดวง ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่ทำธุรกิจหรือทำมาหาเลี้ยงชีพในยามค่ำคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กับการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากถึง 11 รายที่สังสรรค์ยามราตรีร่วมกัน และหนึ่งในสถานที่ที่พวกเขาพบปะกันก็คือย่านทองหล่อ ซึ่งเป็นแหล่งรวมร้านอาหาร ผับ บาร์ ที่เปิดให้บริการช่วงกลางคืนมากมาย มากไปกว่านั้น นายอนุทิน ชาญวีระกุล รมว.สาธารณสุข ยังเตรียมเสนอคณะกรรมการโควิด-19 ออกคำสั่งปิดสถานบันเทิงทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดไวรัสดังกล่าวแบบกลุ่มก้อน
- ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 11 ราย เป็นกลุ่มเพื่อนไทย-ฮ่องกง ดื่มเหล้า-สูบบุหรี่ร่วมกัน
- "อนุทิน" เสนอสั่งปิดผับทั่วประเทศ ป้องกันโควิด-19 แพร่ระบาด ย้ำยังไม่เข้าระยะ 3
ยอดขายลด-โดนเทงาน-เลิกจ้าง
คุณ MM (นามสมมติ) ผู้ซึ่งเปิดธุรกิจบาร์ดนตรีสดย่านราชเทวีและสนามเป้า ได้เปิดใจกับทีมงาน Sanook อย่างตรงไปตรงมาว่า หลังจากมีการพบกลุ่มเพื่อน 11 คนที่ติดเชื้อ โควิด-19 โดยมีพฤติกรรมดื่มเหล้าจากแก้วเดียวกัน และสูบบุหรี่จากมวนเดียวกัน ยอดขายของทางร้านก็ลดลงอย่างรุนแรงถึง 80% เลยทีเดียว
ด้านคุณ TJJ (นามสมมติ) ซึ่งเล่นดนตรีกลางคืนและตามโรงแรมก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการร้องเพลงในโรงแรมซึ่งมีการเลิกจ้าง เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงเป็นอย่างมาก ในขณะที่คุณ VJ (นามสมมติ) ที่มีงานร้องเพลงกลางคืนหลายร้านทั้งในย่านทองหล่อ ปิ่นเกล้า ราชเทวี สนามเป้า รวมถึงสอนร้องเพลงแบบส่วนตัวตามมหาวิทยาลัยได้เผยว่า โดยส่วนตัวยังไม่โดนแคนเซิลงาน แต่คนรอบตัวโดนยกเลิกงานกันเยอะ เจ็บปวดรวดร้าวไปตามๆ กัน อย่างไรก็ตามแม้จะไม่โดนผลกระทบโดยตรงในตอนนี้ เธอก็ขอไม่สุ่มเสี่ยงด้วยการลางานที่ร้านในย่านทองหล่อไปโดยปริยาย
กังวลกับสถานการณ์ แต่ก็ต้องทำงานเลี้ยงชีพ
แน่นอนว่าการที่ คุณ MM ต้องไปดูความเป็นระเบียบเรียบร้อยของร้าน ย่อมต้องพบปะผู้คนมากมายที่มาใช้บริการ แต่เขาเผยว่า ก็ยังใช้ชีวิตตามปกติ เพียงแต่มีความระมัดระวังมากขึ้น และป้องกันตนเองตามข้อแนะนำต่างๆ ส่วนนักร้องกลางคืนอย่างคุณ TJJ และ VJ ค่อนข้างกังวลกับโรคโควิด-19 ซึ่งคุณ VJ ก็อธิบายว่า
“การทำงานของเราคือการร้องเพลงค่ะ เปิดปากหายใจทีก็คือความเสี่ยง” โดยเธอก็ยอมรับว่าหน้ากากอนามัยก็เป็นอุปสรรคในการร้องเพลงอยู่พอสมควร ทว่าก็ยังต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ “การป้องกันที่เราทำได้ก็คือลางาน เทงาน แต่ตอนนี้งานกำลังจะเทเราเช่นเดียวกัน มันลำบากนะคนเป็นฟรีแลนซ์ หยุดงานรายได้ก็หายไปเลย” คุณ VJ กล่าว
ปิดผับบาร์ = แก้ปัญหาปลายเหตุ
ในขณะที่ประเด็นการปิดสถานบันเทิงทั่วประเทศ คุณ MM ก็มีความเห็นว่า “ส่วนตัวยินดีปิดร้านนะครับ ถ้าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยระงับการระบาดได้จริงๆ แต่ก็ต้องขอความชัดเจนในนโยบายด้วย ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการรวมถึงประชาชนคนอื่นๆ ก็ไม่รู้จะดำเนินชีวิตอย่างไรต่อ เพราะตอนนี้ต่อให้ไม่ปิดร้าน ก็ไม่ต่างอะไรกับปิด” นอกจากนั้นเขายังมองว่า นี่อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะหากไม่มีมาตรการ รวมถึงการแก้ปัญหาที่ชัดเจนจากรัฐบาล ตอนนี้ทุกที่ก็สุ่มเสี่ยงหมดไม่แพ้กัน
ด้านคุณ TJJ และ VJ ก็มองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุไม่ต่างกัน โดยฝ่ายแรกอยากให้รัฐประกาศให้คนที่รู้สึกว่าสุ่มเสี่ยงหรือเข้าข่ายการติดเชื้อได้ตรวจฟรีเพื่อความสบายใจต่อทุกฝ่าย ส่วนฝ่ายหลังมองย้อนกลับไปถึงช่วงแรกที่เกิดปัญหาขึ้นว่า ไม่มีระบบการจัดการหรือกักกันที่แน่ชัด จุดที่สุ่มเสี่ยงที่สุดก็ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งหากมีการปิดสถานบันเทิงจริงๆ ก็คงโดนผลกระทบเต็มๆ
จากใจคนทำงานกลางคืน
เราสอบถามทั้ง 3 ท่านว่าคาดหวังให้ภาครัฐเยียวยาอย่างไรกับสถานการณ์ในตอนนี้ คุณ TJJ มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการร่วมมือกับเอกชนหรือบริษัทการเงินต่างๆ ในการผ่อนผันหนี้ หรือไฟแนนซ์ต่างๆ ในระยะสั้นๆ นี้ ส่วนคุณ VJ ซึ่งไม่ได้หวังการเยียวยาใดๆ จากภาครัฐก็ได้ตั้งข้อสงสัยเอาไว้อย่างน่าคิดว่า
“ทำไมประเทศที่เขาวิกฤต เขาเคลียร์ได้แล้ว ตอนแรกประเทศเรายังควบคุมได้ จนต่อมามันกลับควบคุมไม่ได้ อยากให้ไตร่ตรองดีๆ ว่าความผิดพลาดมันมาจากไหน แล้วใครเป็นคนจัดการ แต่คนที่รับกรรมคือพวกเรา คือทุกคน เพราะผลกระทบมันไม่ใช่แค่สถานบันเทิงหรือนักดนตรี มันกระทบหมด” ซึ่งเธอก็ขอฝากให้คิดและรีบจัดการปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
ท้ายที่สุด คุณ MM ก็ตบท้ายด้วยประโยคที่ว่า “แต่คงคาดหวังอะไรไม่ได้มากนักหรอกครับ ประชาชนลำบากจากเหตุการณ์นี้มากมาย ยังไม่เห็นว่าจะมีใครได้รับความช่วยเหลือเลย”
ไม่ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือเลวร้ายไปมากกว่า Sanook ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ อาชีพที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอันหนักหน่วงในช่วงนี้ทุกๆ คน