ประกาศเตือน 63 จังหวัด เตรียมรับมือ พายุถล่ม-ฝนตก-ลมแรง 15-18 มีนาคม
“ปภ.” ประกาศเตือน 63 จังหวัดเตรียมรับมือ “พายุถล่ม ฝนฟ้าคะนอง ลมแรง” 15-18 มีนาคม
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา และพิจารณาปัจจัยเสี่ยง พบว่า หย่อมความกดอากาศต่ำจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อน อีกทั้งบริเวณความกดอากาศสูงที่แผ่ลงมาปกคลุมสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และทะเลจีนใต้ ส่งผลให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ตอนบน ขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ทำให้เกิดพายุฤดูร้อน โดยมีลักษณะของฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่
กอปภ.ก. จึงได้ประสานจังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยง เตรียมพร้อมรับมือวาตภัย ฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ในช่วงวันที่ 15-18 มีนาคม นี้ แยกเป็น
- ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ภาคกลาง 18 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครนายก เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
- ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด
- ภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร
“กอปภ.ก ได้กำชับให้หน่วยปฏิบัติในพื้นที่จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และแนวโน้มสถานการณ์ภัยต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) รถปฏิบัติการ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีอีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ตลอดจนตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ห้ามหลบพายุบริเวณใต้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะอาจได้รับอันตรายจากการถูกล้มทับ ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย” อธิบดีปภ. กล่าว