ไวรัสโคโรนา: "อ.เจษฎา" แนะ 4 วิธีง่ายๆ เช็กว่าแอลกอฮอล์เป็นของปลอมหรือไม่
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant รวมวิธีการทดสอบแอลกอฮอล์ ว่าปลอมหรือไม่ โดยระบุข้อความว่า
ตอนนี้สถานการณ์การขาดแคลนแอลกอฮอล์ใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคนั้น ยังไม่บรรเทาลงเท่าไหร่ แถมมีมิจฉาชีพเริ่มเอา "เมทิลแอลกอฮอล์" มาหลอกขาย ปลอมว่าเป็น "เอทิลแอลกอฮอล์" บรรจุขวด ติดฉลากให้คนหลงเชื่อ ซื้อไปทำเจลแอลกอฮอล์ใช้กันก็อันตรายมาก
ทั้งนี้ เราจะตรวจสอบได้อย่างไรว่า แอลกอฮอล์ที่เราซื้อมานั้น เป็นของปลอมจากเมทิลแอลกอฮอล์หรือเปล่า ลองมาดูวิธีการง่ายๆ กันครับ
- วิธีที่แม่นยำที่สุดคือ "การนำไปวัดจุดเดือด" ด้วยการใส่ในภาชนะทางเคมี ตั้งไฟ แล้วใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิเมื่อถึงจุดเดือด เอทิลแอลกอฮอล์ จะมีจุดเดือดประมาณ 78 องศาเซลเซียส ขณะที่ เมทิลแอลกอฮอล์ จะมีจุดเดือดประมาณ 65 องศาฯ
- วิธีที่ง่ายแต่ไม่แม่นยำ คือการดมกลิ่นเอทิลแอลกอฮอล์ จะมีกลิ่นแบบแอลกอฮอล์ที่แรงกว่าเมทิลแอลกอฮอล์มาก แต่เมทิลแอลกอฮอล์จะดมแล้วแสบจมูกมากกว่า (อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ต้องระวัง อย่าสูดดมเข้าไปมากเกินไป เพราะจะเป็นพิษต่อร่างกายได้)
- ทำปฏิกิริยาไอโอโดฟอร์ม iodoform reaction โดยการเอาตัวอย่างแอลกอฮอล์นั้นใส่หลอดทดลอง เอาไปเติมสารละลายไอโอดีน (เช่น เบตาดีน) ผสมกับโซเดียมไฮดรอกไซด์ (ก็คือ โซดาไฟ) แช่หลอดในอ่างน้ำอุ่น เขย่าหลอด แล้วทิ้งไว้สัก 2 นาที ถ้าเป็นเอทิลแอลกอฮอล์ จะมีตะกอนสีเหลืองของหมู่ไตรไอโอโดมีเทน CHI3 (triiodomethane) เกิดขึ้น ส่วนเมทิลแอลกอฮอล์ จะไม่มีตะกอน (การทดลองนี้อาจจะทำค่อนข้างยากหน่อย)
- ลองจุดไฟ ดูลักษณะสีของเปลวไฟ เปรียบเทียบกับในคลิปวิดีโอนี้ ซึ่งเอทิลแอลกอฮอล์ (ด้านขวา) จะติดไฟโชติช่วงและสว่างเป็นสีเหลืองมากกว่า ขณะที่ เมทิลแอลกอฮอล์ (ด้านซ้าย) จะติดไฟน้อยกว่า และแสงจะออกไปทางสีฟ้า
สำหรับวิธีทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ใช้ทดสอบในส่วนของแอลกอฮอล์ที่เป็นของเหลวบริสุทธิ์ ไม่ใช่ในรูปของเจลแอลกอฮอล์นะครับ ซึ่งจะมีสารอื่นเข้ามาปนและทำให้ผลการทดลองผิดเพี้ยนได้ ใครจะลองทดลองดูก็ได้นะครับ แต่ให้ทำด้วยความระมัดระวังด้วยนะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ไฟ หรือการสูดดม
อย่างไรก็ตาม เตือนอีกครั้งว่า วิธีการทดสอบเจลแอลกอฮอล์ที่แชร์ๆ กันอยู่ เช่น เอาไปจุดไฟ หรือเอาไปทาบนใบเสร็จรับเงิน ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องนะครับ มีสารเคมีอีกหลายตัวที่ผสมอยู่ในเจล และทำให้ผลการทดลองไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ เช่น กรีเซอรีนในเจล จะทำให้จุดไฟไม่ติด เป็นต้น