ไวรัสโคโรนา: นพ.ทวี ไขข้อสงสัยโควิด-19 ในไทย ยังไงถึงจะเรียกว่าเข้าเฟส 3
"นพ.ทวี" รับสถานการณ์โควิด-19 ในไทย เข้าใกล้เฟส 3 เต็มที ลั่นยังไงก็หนีไม่พ้น อย่าไปต่อต้าน เล็งเทรนด์หมอ-พยาบาลด้านอื่นมาช่วย
รายการโหนกระแสวันที่ 18 มี.ค. "หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย" ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 ยังเกาะติดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โดยเปิดใจสัมภาษณ์ "รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์" ที่ปรึกษากรมการแพทย์และกรมควบคุมโรค "นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน" รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ถาม อ.ทวี ยืนยันว่าประเทศไทยเข้าสู่เฟด 3 แน่ๆ?
นพ. ทวี : "คงจะใกล้แล้วล่ะ เข้าแน่ แต่ตอนนี้ยัง จวนเจียนแล้ว เพราะว่าต้องมีผู้ติดเชื้อหลายแห่งพร้อมๆ กันและหาที่มาไม่ได้ แต่เมื่อกี้เห็นในทีวีว่ามีที่ขอนแก่น มีที่จังหวัดอื่นๆ ปรากฏว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มาจากสนามมวยหมด แสดงว่าเราสามารถสืบได้ว่าเขากลับบ้านและแพร่กระจายไป อันนี้ยังนะครับ 7 พันคนในสนามมวย ตอนนี้แพร่ไปหลายจังหวัดที่คนกลุ่มนี้เดินทางไปถึง ซึ่งทางการแพทย์กังวลมาเป็นเดือนแล้วคือสงกรานต์ ซึ่งไมใช่ 7 พัน คนกลับบ้านไปเป็นล้าน ฉะนั้นเรากังวลตรงจุดนี้ การที่ภาครัฐบาลออกมาเลื่อนสงกรานต์ เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด"
หลายคนไม่สบายใจ ภาครัฐประกาศ 15 วัน ปิดสถานบันเทิง โรงเรียน สนามมวย หรือสถานที่ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไปเจอคนเยอะแยะมากมายแล้วมีการแพร่กระจายของเชื้อ แต่อีกมุมว่าแต่ละคนยังทำงาน ไปขึ้นรถไฟฟ้า ห้างยังเปิด ยังมีโอกาสอยู่หรือเปล่า?
นพ.ทวี : "ยังมีอยู่ครับ แต่ว่าสมมติคุณขึ้นรถไฟฟ้า คุณจะนั่งเป็นชั่วโมงมั้ยครับ"
แต่ขึ้นไปเกาะ มือโดนก็มีโอกาส?
นพ.ทวี : "แต่เราป้องกันอยู่แล้ว ถูกมั้ย หนึ่งใส่หน้ากาก สองพยายามล้างมือ ตราบใดที่ใส่หน้ากาก ล้างมือ โอกาสเชื้อเข้าค่อนข้างยาก ฉะนั้นอย่างนั่งรถไฟฟ้า รถเมล์ สูงสุดครึ่งค่อนชม. แต่ในผับ สนามมวยไม่ตีกว่า 4-5 ชม."
คำว่าเฟส 3 หลายคนไม่เข้าใจว่ายังไงถึงจะเรียกว่าเฟส 3?
นพ.ทวี : "คำว่าเฟส 3 มีคำอยู่สองคำ คือคำว่ากว้างขวางและรวดเร็ว กว้างขวางคือไปหลายจังหวัดโดยที่สืบรากไม่ได้ว่าติดมาจากไหน ซึ่งถ้าเราปล่อยให้สงกรานต์เป็นแบบนี้คนกลับบ้านไป ถามว่าป่วยไหม บางทีเขาเป็นอยู่แล้วก็จะแพร่เชื้อไปหลายจังหวัด หลายท้องที่ สืบไม่ได้ ถ้าสืบได้ก็เป็นวงๆ ที่ระบาด 4 ทอด 4 ทอดอันนี้เข้าแล้ว ต้องมีส่วนประกอบหลายๆ อย่าง
แต่สิ่งที่อยากพูดมากที่สุด พอเข้าเฟส 3 ไม่ได้แปลว่าฟ้าถล่ม ตอนนี้มันครืนไปเรื่อยๆ วันนี้เราอยากให้ปัญหาเป็นไปตามนี้เรื่อยๆ วันนึง 30-40 รายเป็นสิ่งที่เราคาดไว้นะ เป็นสิ่งที่เราอยากเห็น ไม่ใช่พรุ่งนี้พุ่งมา 300 อีกวัน 500 อันนี้รับไม่ได้"
เห็นเขาว่าต่อไปถัดจากนี้ 1 ปี คนไทยจะติดเชื้อขึ้นไป 8 ล้าน?
นพ.ทวี : "ได้ยินครับ อาจเป็นไปได้ เพราะเชื้อตัวนี้เป็นเชื้อตัวใหม่ มนุษย์เราไม่รู้จักเลย มนุษย์เราจะติดและป้องกันการระบาดในชุมชนได้ต้องมีการติดเชื้อ 50-60 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ของเราถ้าครึ่งนึงก็ 30 กว่าล้าน แต่จะเห็นว่ามีประเทศนึงที่บอกว่างั้นเราปล่อยดีกว่า ให้เขาติดไปเลย"
อังกฤษ?
นพ.ทวี : "ใช่ครับปล่อยให้ติดไป ก็จะพุ่งพรวด 3-4 เดือนเป็นเยอะแยะ เขาไม่สนใจการแยกตัวเอง จะไม่สนใจอะไรต่างๆ เขาเอาเฉพาะคนหนักมารักษาเท่านั้น ซึ่งอันนี้เขาบอกเจ็บแต่จบ แต่อันนี้จะเจ็บมาก เลยนะครับ เพราะถ้ามีคนติดเชื้อเป็นล้าน จะมีคนตายเป็นหมื่น"
อาจจบก่อนเจ็บ?
นพ.ทวี : "อาจจะตายก่อนจบ ไม่ทันจะเจ็บ ก็ตายก่อนจบ เพราะมีการตายสูงมาก แต่ทีนี้เราจะทำยังไงให้มันค่อยเป็นค่อยไป และทางการแพทย์เราสามารถรับมือได้ เช่น สมมติร้อยคนจะมีคนเจ็บหนักต้องอยู่ไอซียู 5 คน ใน 5 คนนี้ถ้าไม่ทำอะไรเลย หรือบางประเทศล้นพ้นทำอะไรไม่ได้ ใน 5 คนนี้อาจตาย 3 แต่ถ้าไอซียูดีและเราค่อยๆ รับมือ ใน 5 คนนี้จะตายน้อยลง"
ใน 5 คน ตายซะ 3 มันมากกว่า50 เปอร์เซ็นต์?
นพ.ทวี : "เป็นไปได้ครับ ถ้าเราไม่มีเครื่องช่วยหายใจพอ ไม่มีคนพอ ถ้าเทโครมมาอย่างนี้ทางการแพทย์เราไม่เพียงพอ"
แล้วจะเตรียมยังไงเรื่องเครื่องช่วยหายใจต่างๆ นานา?
นพ.ทวี : "มีหลายจุดที่เราต้องเตรียม คือคน ของ สถานที่ คนคือบุคลากรทางการแพทย์ คือมีแพทย์ พยาบาล รวมทั้งแล็ปด้วย"
แต่แพทย์ตอนนี้ยังแทบไม่มีหน้ากาก?
นพ.ทวี : "นั่นน่ะสิ ตอนนี้ภาครัฐสัญญาแล้วว่จะหาหน้ากากมาให้ได้ เครื่องป้องกันเป็นเสื้อป้องกันไม่ให้เชื้อเข้า หน้ากาก แว่นตา ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมไว้ก่อน แพทย์มีประมาณ 3 หมื่นคนทั่วประเทศ แต่ต้องเข้าใจนะ 3 หมื่นคนบางคนเป็นหมอสูฯ ทำเฉพาะคลอดลูก เขาจะมาทำแบบนี้ยาก หมอศัลย์ก็ผ่าตัด ก็มีแต่หมออายุรกรรมและหมอเด็กที่ทำได้ แต่เราก็ต้องเตรียมให้หมออื่นๆ เชี่ยวชาญด้านอื่นมาทำงานด้านนี้ได้ ซึ่งคงไม่เหลือบ่ากว่าแรง แต่ก็ไม่ง่ายนะครับ เหมือนวันนี้เราขับรถเก๋ง แต่พรุ่งนี้ต้องไปขับรถสิบล้อ มันต้องเทรนด์คน พยาบาลก็เหมือนกัน เราต้องเทรนด์ พยาบาลที่ดูแลหลังคลอด ออกลูก ก็เอามาดูแล และมีการฝึก เพราะมีโอกาสติดเชื้อได้มาก"
สิ่งของ?
นพ.ทวี : "ตอนนี้เขารับประกันแล้วว่าจะหามาให้ใช้ได้เพียงพอ เขาคือกระทรวง และติดต่อหลายภาคส่วนแล้ว สถานที่เมื่อกี้เห็นมั้ยเกิดปัญหา รพ.บางบัวทอง 2 ชาวบ้านออกมาต่อต้าน ผมเรียนให้ทราบว่าหนีไม่พ้นครับ ต่อให้คุณอยู่จังหวัดไหนในอนาคตอันใกล้ หนีไม่พ้น คุณใกล้รพ. เวลาคุณป่วยหนัก คุณก็จะมีโอกาสใช้บริการได้ง่ายขึ้น การเตรียมตัวไม่ต้องไปกังวลว่าเชื้อจะโดดออกจากรพ. เราต้องระบบการป้องกัน ฆ่าเชื้อ อยู่แล้ว"
อย่าไปต่อต้าน?
นพ.ทวี : "ขอให้คิดว่าเราช่วยคนไทยด้วยกันเอง เราจะมีมาตรการต่างๆ ในการป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อ"
ในมุมภาคปฏิบัติการบ้าง เห็นว่ามีการตรวจเชื้อได้โดยใช้วิธีอะไรสักอย่าง ใช้เงิน 400-500 บาท ข้อเท็จจริงเป็นยังไง?
นพ. สมฤกษ์ : "เมื่อวานเป็นเรื่องการตรวจหาเชื้อ เนื่องจากการตรวจวินิจฉัยเราตรวจด้วยวิธีซีพีอาร์ คือตรวจเชื้อไวรัสจากเนื้อเยื่อ การตรวจเชื้อซีพีอาร์เราใช้เวลา 3 ชม.และราคาแพง ทำให้การกระจายการตรวจไม่มากพอ ค่าใช้จ่ายก็สูง เขาก็เลยจะพัฒนาวิธีที่ง่าย ตอนนี้มีอยู่ 2-3 ที่ที่พัฒนาอยู่ ต้นแบบได้แล้ว แต่ต้องพัฒนาต้นแบบไปสู่เรื่องการผลิต ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อยก็ 6 เดือน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่อาจไม่ทันการ ที่ต้องใช้ในเวลาอันสั้น ถ้าเราจะเข้าเฟด 3 คนไข้เยอะขึ้น"
กรณีตัวคัดกรองเชื้อตัวใหม่ ที่บอกราคา 475 บาท ใช้เวลา 15 นาที ความแม่นยำชัวร์หรือยัง?
นพ.สมฤกษ์ : "หลังจากเขาได้ตัวต้นแบบแล้ว เขาต้องมาทดสอบความแม่นำ ตอนนี้ยังไม่ได้ทำ ที่เห็นเป็นการแม่นยำในระดับห้องทดลองเท่านั้น และไม่เกี่ยวกับการตรวจจากเลือด ตรวจจากเนื้อเยื้อและสารคัดหลั่ง"
อีกมุมกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ห้องปฏิบัติการเพียงพอมั้ย?
นพ.สมฤกษ์ : "สำหรับการตรวจเชื้อโควิด-19 เพียงพอสำหรับบริการที่ต้องการในเวลานี้ และตามเกณฑ์กลุ่มคนไข้ที่ต้องเฝ้าระวัง ปัจจุบันที่ผ่านมา 2-3 เดือนถ้าดูค่าเฉลี่ยตรวจประมาณ 3 หมื่นกว่าราย คิดเป็นประมาณ 500 เคสต่อวันเอง ศักยภาพกรมวิทยาศาสตร์ และเครือข่ายอีก 40 แห่ง สามารถตรวจได้ 4 พันเคสต่อวัน ถ้าหากว่าเข้าเฟด 3 ก็น่าจะรองรับได้ แต่ทางกรมก็รองรับเตรียมขยับเพิ่มให้เป็น 1 หมื่นเคสต่อวัน อีก 60 แห่งจะเป็นอีก 1 เดือนข้างหน้า"
ตอนนี้คนไปตรวจกี่คนต่อวัน?
นพ.สมฤกษ์ : "เป็นสองส่วน ส่วนที่อยู่ในที่ว่าไม่ใช่ยูพีไอ ก็จะเป็นเคสตามรพ.เอกชนและส่งเข้ามา เคสเท่าที่ทราบรายใหญ่ วันนึงประมาณ 1500-2500 คน แต่ถ้าของกระทรวงเอง ถ้ายูพีไอจะไม่มีปัญหา"
"ทีนี้อยากอธิบายสักนิด ก็จะเป็นประเด็นกระแสเหมือนกัน ว่าถ้าไม่ใช่ยูพีไอเขาไม่อยากตรวจ จริงๆ แล้วการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 เราได้รับเชื้อไปจนกระทั่งเกิดอาการไม่สบาย โดยเฉลี่ย 5-7 วัน ไทม์มิ่งวันแรกอาจไม่เจอเชื้อ จะเริ่มตรวจเจอเชื้อตั้งแต่ 5-7 วันขึ้นไป ถ้ามีอาการไข้จะตรวจเจอทุกราย คนไม่มีอาการแล้วไปตรวจคุณอาจไม่เจอ และไม่เป็นก็ได้ ทำให้พันกว่ารายที่ไปตรวจที่รามา ส่วนใหญ่เป็นเนกาทีฟหมด ไม่เจอ"
คนใกล้ชิดคนที่เป็นมา บางท่านไปตรวจมา ไม่เจอ กลับบ้านสบายใจ แต่วันรุ่งขึ้นมีอาการไข้ไปตรวจซ้ำใหม่แล้วเป็น?
นพ. สมฤกษ์ : "เราแนะนำว่าคนมีความเสี่ยงให้สังเกตอาการตัวเอง 14 วัน ถ้าไม่สบาย มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว เริ่มมาตรวจได้ ดีกว่าไปตรวจตั้งแต่ไม่มีอาการเลย หลายรายไปตรวจแล้วสุดท้ายไม่ได้เป็น"
เมื่อกี้ยืนยันว่าคนที่รู้สึกว่าตัวเองยังไม่ถึงขั้นกลุ่มเสี่ยงไม่จำเป็นต้องไปตรวจ อย่าไปตื่นตระหนกขนาดนั้นเหรอ?
นพ.สมฤกษ์ : "ครับ"
คนที่จะตรวจได้ต้องเริ่มมีอาการแล้วเหรอ?
นพ.ทวี : "อันแรกต้องเริ่มจากมีความเสี่ยงก่อน เช่นเป็นกลุ่มอยู่ที่อยู่ในสนามมวย นี่คือมีความเสี่ยง ถ้าไม่มีอาการขอไปตรวจได้มั้ย แล้วไม่เจอเชื้อ วันรุ่งขึ้นถึงไปตรวจซ้ำแล้วเจอ นี่คือตัวอย่างที่ดีที่สุดว่าไม่ป่วยโอกาสเจอเชื้อแทบไม่มีเลย แล้วรับประกันแค่ในรพ. พอเดินออกจากรพ. คุณไปติดที่ไหนไม่รับประกันแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือเมื่อไหร่มีเสี่ยง เราต้องดูว่าเริ่มป่วยมั้ย การป่วยอาจไม่มาก เช่นปวดเมื่อยตามตัวมากๆ รู้สึกเวียนหัว ไม่สบาย อย่างนี้ไปตรวจได้ แต่ถ้าสบายดี ถามเท่าไหร่ก็สบายดีเรารับประกันว่าคุณไม่เจอ"
เมื่อไหร่ตรวจฟรี?
นพ.ทวี : "จริงๆ เขาระบบรัฐตรวจฟรีอยู่แล้ว เช่นมาจากกลุ่มสนามมวย มีความเสี่ยงและมีอาการ คุณเข้ารพ. รัฐแล้วตรวจฟรี"
อย่างคุณแมทธิว ประกาศติด คุณม้า, กาละแมร์อยู่ในกลุ่มเสี่ยง สองคนนี้มีสิทธิ์ตรวจฟรีมั้ย?
นพ.ทวี : "ฟรีถ้าเป็นรพ. รัฐ"
แต่เขาจ่าย 5 พัน?
นพ.ทวี : "รพ.รัฐหรือเปล่า"
รามาฯ ขอคืนได้มั้ย?
นพ.ทวี : "คืออย่างนี้คุณแมทธิวแกป่วยเข้าหลักเกณฑ์ เพราะอยู่ในที่ชุมชนคนแออัดเยอะๆ อันนี้ฟรี แต่คุณม้า กาละแมร์ แกยังไม่ป่วย ตอนนี้ถือว่ายังไม่เข้าหลักเกณฑ์"
อาจต้องจ่ายตังค์?
นพ.ทวี : "ครับ"
ปัญหาตรงนี้ ทำให้คนรู้สึกว่าต้องมีอาการหรือยังไม่มีอาการ แต่อยู่กลุ่มเสี่ยง ไม่ไปดีกว่าเพราะเสีย 5 พัน อาจปกปิดตัวเลข?
นพ.สมฤกษ์ : "ตรงนี้อยากให้ทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย ความสำคัญคือให้เฝ้าดูอาการ 14 วันและลดความเสี่ยงที่จะไปแพร่เชื้อ ถ้าท่านไปตรวจตอนไม่มีอาการแล้วบอกว่าไม่เป็น ไม่เจอ ก็ไม่เจอ ณ เวลานั้น แต่วันถัดไปอาจเป็นก็ได้ แล้วพอตรวจว่าไม่เป็น ก็อาจหย่อนยานไม่ระวังตัว นี่คือการไปตรวจแต่เนิ่นๆ แล้วเข้าใจผิด ทางการแพทย์อยากให้มีอาการแล้วไปตรวจจะดีที่สุด"
รพ.เอกชน บางทีมีคนป่วยไปตรวจแล้วปรากฏว่าเป็น แต่ไม่กล้าประกาศเพราะกลัวคนไม่กล้าไปรพ. ทำให้ปกปิดตัวเลข ?
นพ.ทวี : "ขอเรียนให้ทราบ เมื่อเช้าคณะกรรมการวิชาการโควิด-19 เพิ่งประชุมเสร็จและผมก็เดินทางมาที่นี่ มีการประสานเรื่องนี้ เรื่องตัวเลขและคนป่วยต้องรู้จริง เราจะได้แก้ปัญหาได้ ต่อให้ตรวจรพ.เอกชน คลินิก หรือรพ.รัฐ ตัวเลขต้องมารวมตัวกัน ก็มาถึงสองจุด จุดแรกคือกฎกระทรวง คุณต้องรายงานภายใน 3 ชม. สองกฎหมายพระราชบัญญัติโรคติดต่อ คุณต้องรายงาน ไม่รายงานไม่ได้เลย ผิดกฎหมายมีโทษนะครับ"
ภาครัฐมีการประกาศปิดสถานที่ที่จะมีคนเข้าไปเยอะ สนามมวย โรงเรียน อะไรก็แล้วแต่ มีผลมั้ย ช่วยได้มั้ย?
นพ.ทวี : "มีผลครับ หลักการต่อสู้กับโรคคือมาตรการทางสังคม ต้องเว้นระยะห่าง ซึ่งการเว้นระยะหางคือให้เชื้อไม่สามารถพุ่งไปได้ การอยู่สถานเริงรมย์ต่างๆ ร้านอาหารใกล้ชิดกันมากๆ ตรงนี้มีโอกาสติดเยอะ เป็นมาตรการสำคัญ"
นพ.สมฤกษ์ : "จริงๆ มีโมเดล คือถ้าเราปล่อยให้พีคเยอะๆ คือไม่มีการทำอะไรเลย ประเทศไทยเราถ้ามีมาตรการต่างๆ จะลดการแพร่เชื้อ จะจัดการต่างๆ ได้ดีขึ้น"
14 วันพอเหรอ บางท่านบอก 21 วันหรือ 1 เดือน?
นพ.ทวี : "14 วันมาจาก ถ้าใครป่วย เฉลี่ยแล้วเกือบทั้งหมดจะเกิดใน 5-7 วัน เห็นชัดว่า 11-13 คนเริ่มป่วยเยอะ และเราสามารถวินิจฉัยได้ ส่วนใหญ่อยู่ตรงนี้อยู่ แต่ทางการแพทย์เราดับเบิ้ลเป็น 14"
อัลบั้มภาพ 7 ภาพ