ไบเดน-แซนเดอร์ส ใครจะมาวินศึกไพรมารี-คอคัสแห่งเดโมแครต ก่อนฟาดฟันทรัมป์

ไบเดน-แซนเดอร์ส ใครจะมาวินศึกไพรมารี-คอคัสแห่งเดโมแครต ก่อนฟาดฟันทรัมป์

ไบเดน-แซนเดอร์ส ใครจะมาวินศึกไพรมารี-คอคัสแห่งเดโมแครต ก่อนฟาดฟันทรัมป์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐรวมประกอบด้วยมลรัฐ 50 มลรัฐ แต่มีพรรคการเมืองหลักเพียง 2 พรรคเท่านั้น ดังนั้นในแต่ละมลรัฐจึงจัดให้มีการคัดสรรตัวแทนของพรรคการเมืองหลักคือ พรรคเดโมแครต และ พรรครีพับลิกัน เป็นการล่วงหน้า เพื่อที่จะไปประชุมร่วมกันตัดสินคัดเลือกผู้ที่จะเป็นตัวแทนของแต่ละพรรคเข้าชิงชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาต่อไป

การคัดสรรตัวแทนของพรรคการเมือง 2 พรรคนี้จะเริ่มด้วยการจัดคอคัสที่มลรัฐไอโอวาเป็นมลรัฐแรกในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ และตามด้วยไพรมารีที่มลรัฐนิวแฮมเชียร์ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เป็นแห่งที่สอง ตามด้วยไพรมารีที่มลรัฐเนวาดาและมลรัฐเซาธ์แคโรไลนาเป็นลำดับที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 4 มลรัฐที่ว่านี้มีประชากรน้อยไม่ค่อยมีความหมายในแง่ของการแพ้สักชนะเท่าไหร่ แต่มีความหมายมากทางด้านจิตวิทยา ในทำนองตัดไม้ข่มนามนั่นแหละครับ

อนึ่ง ตามประเพณีแล้วหากพรรคใดพรรคหนึ่งที่มีประธานาธิบดีอยู่ที่ทำเนียบขาวอยู่แล้ว ก็มักจะไม่มีคู่แข่งในระบบไพรมารีและคอคัสอยู่แล้ว ซึ่งกรณีนี้พรรครีพับลิกันจึงไม่มีผู้ใดเสนอตัวเข้าแข่งกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เลยแม้แต่คนเดียว ส่วนพรรคเดโมแครตมีผู้เสนอตัวเข้าเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีนับสิบคนทีเดียว

คงมีท่านผู้อ่านบางท่านสงสัยว่าไพรมารีกับคอคัสต่างกันอย่างไร? ความจริงก็ไม่ต่างกันเท่าไรหรอกครับ เพราะเป็นการลงคะแนนหนึ่งคนหนึ่งเสียงเหมือนกัน เพื่อที่จะคัดเอาตัวแทนของพรรคหนึ่งคน แต่ว่าคอคัสนั้นต้องมีการประชุมปรึกษาหาเสียงโน้มน้าวใจระหว่างผู้ที่จะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกันแล้วค่อยลงคะแนนกัน ส่วนไพรมารีนั้นต่างคนก็เดินเข้ามาเลือกตั้งในคูหาเลยเหมือนเลือกตั้งทั่วไป

การคัดสรรตัวแทนของพรรคเดโมแครตเพื่อชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีปีนี้นั้นเริ่มได้คู่แข่งที่เด่นชัดขึ้นจากปรากฏการณ์ “ซูเปอร์ทิวส์เดย์” คือ วันอังคารที่ 3 มีนาคม ที่มีมลรัฐถึง 14 มลรัฐจัดไพรมารีพร้อมกันในวันเดียว และใน 14 มลรัฐนี้มีมลรัฐแคลิฟอร์เนียและมลรัฐเท็กซัสซึ่งมีประชากรมากเป็นอันดับ 1 และอันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว

โดยผู้ชนะมีเพียง 2 คนในซูเปอร์ทิวส์เดย์ คือ อดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน วัย 77 ปี และวุฒิสมาชิกเบอร์นี แซนเดอร์ส อายุ 78 ปี ซึ่งทั้ง 2 คนนี้คงต้องฟาดฟันกันต่อไปจนถึงเดือนมิถุนายน เพื่อไปตัดสินกันในที่ประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครตในเดือนกรกฎาคม เพื่อจะเป็นตัวแทนหนึ่งเดียวไปชิงชัยกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในศึกเลือกตั้งวันอังคารที่ 3 เดือนพฤศจิกายนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในบรรดา 3 คนนี้ที่จะได้เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนต่อไปนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผู้เฒ่าวัยอาวุโสทั้งสิ้น โดยโดนัลด์ ทรัมป์จะมีอายุ 74 ปี ส่วนโจ ไบเดนจะมีอายุ 78 ปี และเบอร์นี แซนเดอร์สจะมีอายุ 79 ปี เมื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564

ถือเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศสหรัฐอเมริกาที่จะมีผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุเกิน 73 ปีขึ้นไปทั้ง 3 คน โดยโดนัลด์ ทรัมป์เคยเป็นประธานาธิบดีเมื่อตอนเข้ารับตำแหน่งเมื่ออายุ 70 ปี ในปี พ.ศ. 2560 ทำให้เขากลายเป็นผู้ที่มีอายุมากที่สุดในขณะรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ขณะที่นายโรนัลด์ เรแกน ผู้เป็นประธานาธิบดีที่ครองสถิติดังกล่าวอยู่ก่อนหน้านี้ โดยเขามีอายุ 69 ปี ตอนขึ้นรับตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2524

สำหรับอายุเฉลี่ยของผู้ที่ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทั้ง 44 คนก่อนหน้านี้อยู่ที่ 55 ปี โดยนายธีโอดอร์ รูสเวลต์มีอายุน้อยที่สุดตอนที่ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขามีอายุ 42 ปี กับ 322 วัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook