ข้อมูลเยอะเกินไป ให้อินโฟกราฟิกเล่าเรื่อง “COVID-19”
เชื่อว่าขณะนี้ หลายคนน่าจะกำลังตื่นตัวกับสถานการณ์ "ไวรัสโคโรนา" หรือ COVID-19 อยู่ไม่น้อย ข้อมูลสารพัดหลั่งไหลเข้ามาให้ทุกคนเลือกเสพ แต่เมื่อข้อมูลเหล่านี้เยอะเกินไป ก็อาจจะทำให้เหนื่อยล้าและไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น Sanook จึงลองให้อินโฟกราฟิกเล่าเรื่อง COVID-19 เผื่อจะช่วยให้คุณเข้าใจสถานการณ์นี้ได้มากยิ่งขึ้น
ไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 (COVID-19) คืออะไร?
ไวรัสโคโรนา (Coronavirus) เป็นไวรัสที่สามารถติดเชื้อได้ทั้งในมนุษย์และสัตว์ ถูกพบครั้งแรกในปี 1960 แต่ยังไม่ทราบแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ปัจจุบันมีการค้นพบไวรัสสายพันธุ์นี้แล้ว ทั้งหมด 6 สายพันธุ์ ส่วนสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดหนักทั่วโลกตอนนี้เป็นสายพันธุ์ที่ยังไม่เคยพบมาก่อน คือ สายพันธุ์ที่ 7 จึงถูกเรียกว่าเป็น “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” และมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โควิด-19” (COVID-19)
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 จะมีอาการอย่างไร
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า อาการไวรัส COVID-19 ที่สังเกตได้ง่ายด้วยตัวเองมี 5 อาการหลัก ได้แก่ มีไข้, เจ็บคอ, ไอแห้ง ๆ, น้ำมูกไหล, หายใจเหนื่อยหอบ บางรายมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ ซึ่งแพทย์อาจจะตรวจสอบเพิ่มเติมด้วยการเอ็กซ์เรย์ปอด หากมีอาการหนักมากอาจส่งผลให้อวัยวะภายในต่าง ๆ ล้มเหลว
นอกจากนี้ ยังมีรายงานผลการปฏิบัติภารกิจร่วมกันระหว่างองค์การอนามัยโลกกับประเทศจีน ในสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ทางองค์การอนามัยโลกได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ 25 คน เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในจีน ระหว่างวันที่ 16 - 24 กุมภาพันธ์ 2563 ระบุว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (78-85%) ได้รับเชื้อจากการติดต่อกันในครอบครัว เนื่องจากละอองเสมหะ (droplet) ไม่ใช่จากการกระจายจากละอองลอย (aerosol) ส่วนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะติดเชื้อจากที่บ้าน หรือติดเชื้อจากการระบาดในช่วงแรก ที่ยังไม่มีการประกาศมาตรการรับมือโรค
คนส่วนใหญ่ที่ได้รับเชื้อ มักจะมีอาการในที่สุด แม้ว่าจะช้าเร็วต่างกัน ในกรณีที่ตรวจพบไวรัสแต่ยังไม่มีอาการนั้น หายาก และส่วนใหญ่จะป่วยในอีก 2 -3 วันต่อมา อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ มีไข้ (88%) ไอแห้งๆ (68%) ไม่มีเรี่ยวแรง (38%) ไอแบบมีเสมหะ (33%) หายใจลำบาก (18%) เจ็บคอ (14%) ปวดหัว (14%) ปวดกล้ามเนื้อ (14%) หนาวสั่น (11%) อาการที่พบน้อยลงมาหน่อยคือ คลื่นไส้และอาเจียน (5%) คัดจมูก (5%) และท้องเสีย (4%) และอัตราการเสียชีวิตขึ้นอยู่กับ อายุ, สภาพร่างกายก่อนติดเชื้อ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบสุขภาพของประเทศ
แม้ว่าโดยทั่วไป อาการของ COVID-19 จะดูเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือ เชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่มียาปฏิชีวนะที่สามารถรักษาให้หายได้โดยตรง การรักษาจะเป็นไปแบบประคับประคองตามอาการเท่านั้น และจะยิ่งอันตรายถึงชีวิต เมื่อระบบภูมิต้านทานโรคในร่างกายไม่แข็งแรง หรือเชื้อไวรัสเข้าไปทำลายการทำงานของปอด จนทำให้เชื้อแพร่กระจายลุกลามอย่างรวดเร็ว
ใครเสี่ยงติดเชื้อไวรัส COVID-19 มากที่สุด
ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัส COVID-19 ประกอบด้วย
- เด็กเล็ก
- วัยกลางคนจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ
- คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น
- คนที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติหรือกินยากดภูมิต้านทานโรค
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานมาก
- ผู้ที่เดินทางไปในประเทศเสี่ยงติดเชื้อ เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อิตาลี อิหร่าน เป็นต้น
- ผู้ที่ต้องทำงานใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ เช่น เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ผู้ที่ต้องพบปะชาวต่างชาติจำนวนมาก เช่น คนขับแท็กซี่ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ลูกเรือสายการบิน เป็นต้น
มาตรการรับมือของแต่ละประเทศ
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ถูกประกาศให้เป็นการแพร่ระบาดใหญ่ ซึ่ง ณ เวลาปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อกว่า 218,177 ราย และเสียชีวิตแล้วกว่า 8,805 รายทั่วโลก (ข้อมูลวันที่ 19 มีนาคม เวลา 09:45 น.) ดังนั้น รัฐบาลของแต่ละประเทศจึงต้องออกมาตรการมาใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคระบาดนี้ โดยมีทั้งมาตรการห้ามเดินทางหรือปิดเมือง สำหรับประเทศไทยเอง แม้จะยังไม่มีการปิดทั้งเมือง แต่ก็สั่งปิดสถานที่บางแห่ง ได้แก่ ปิดสนามม้า สนามมวย และสนามกีฬาอย่างไม่มีกำหนด ปิดสถานบันเทิง โรงหนัง โรงละคร ฟิตเนส สปา และร้านนวดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นเวลา 14 วัน แต่ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่าง ๆ ยังเปิดให้บริการตามปกติ รวมทั้งปิดสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ 14 วัน เช่นกัน และแนะนำให้ประชาชนทำงานจากบ้าน หรือเหลื่อมเวลา พร้อมกันนี้ ยังเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ 13 – 15 เม.ย. ออกไปด้วย
ทำตัวอย่างไรในสถานการณ์โรค COVID-19
การปฏิบัติตัวในสถานการณ์โรค COVID-19 จะแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันหรือลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคด้วยวิธีที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่
- กลุ่มที่ต้องเพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) คือคนทั่วไปทุกคน ต้องพยายามหลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมชนอย่างไม่มีกำหนดเวลา แต่สามารถพบปะผู้คนในกลุ่มเล็กๆ และอาจทำงานที่บ้าน รวมทั้งยกเลิกนัดที่ไม่จำเป็น
- กลุ่มที่ต้องกักตัว (Quarantine) คือกลุ่มที่สัมผัสเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ ต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วัน โดยห้ามออกจากบ้าน และควรเตรียมน้ำและอาหาร เนื่องจากไม่สามารถออกจากบ้านได้โดยไม่มีเหตุจำเป็น
- กลุ่มที่ต้องแยกตัว (Self-Isolating) คือกลุ่มที่คิดว่ามีเชื้อหรือตรวจพบเชื้อแล้ว ต้องแยกตัวอยู่โดยลำพังอย่างน้อย 7 วัน หลังจากมีอาการ และทำเช่นเดียวกับกลุ่มที่ต้องกักตัว คือห้ามออกจากบ้าน และควรเตรียมน้ำและอาหารให้พร้อม
สิ่งของที่ต้องมีเมื่อคุณต้อง “กักตัว”
เมื่อต้องกักตัวเพื่อสังเกตอาการ 14 วันในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สิ่งสำคัญที่ควรเตรียมเอาไว้คือน้ำดื่มและอาหารแห้ง รวมไปถึงของใช้จำเป็นต่าง ๆ แต่สิ่งสำคัญที่ควรมีติดบ้านเอาไว้ คือ ที่วัดอุณหภูมิร่างกาย เพราะเมื่อไรที่พบว่าตัวเองมีไข้ ก็ควรไปพบแพทย์ทันที รวมทั้ง เบอร์โทรฉุกเฉินต่าง ๆ ก็ควรมีไว้หากมีเหตุฉุกเฉินอะไรก็ตาม
หน้ากากแต่ละประเภทมีอะไรบ้าง และใช้อย่างไร
ตัวช่วยสำคัญในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คือหน้ากากอนามัย ที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องหามาใช้เพื่อป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ อย่างไรก็ตาม หน้ากากอนามัยแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนี้
- หน้ากากทางการแพทย์ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มาอาการไอ จาม หรือมีน้ำมูก
- หน้ากากผ้า เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่มีอาการป่วย
- หน้ากาก N95 เหมาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย
เราควรเลือกใช้หน้ากากอนามัยให้เหมาะกับตัวเรา เพื่อป้องกันตัวเองและป้องกันคนอื่นด้วย
ใช้หน้ากากอย่างไรให้ปลอดภัยจาก COVID-19
หน้ากากอนามัยเป็นตัวช่วยจำเป็นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 การใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การป้องกันตัวเองมีประสิทธิภาพมากที่สุด ขั้นตอนการใช้หน้ากาก ได้แก่
ล้างมือให้สะอาดก่อนสวม โดยหันด้านสีเข้มออกข้างนอก และสวมหน้ากากคลุมปากและจมูก
- กดขอบลวดด้านบนให้พอดีจมูก และดึงหน้ากากให้คลุมปลายคาง
- เมื่อต้องการถอดหน้ากาก ต้องพยายามไม่สัมผัสด้านในของหน้ากากที่สัมผัสร่างกายของเรา
- พับให้เรียบร้อย แล้วใช้สายรัดพันรอบหน้ากากให้แน่น ทิ้งใส่ถุงแล้วมัดปากถุงให้เรียบร้อย จากนั้นทิ้งลงถังขยะติดเชื้อ
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งเมื่อถอดหน้ากาก
หาจุดพักเชื้อโรคในบ้าน ต้านภัย COVID-19
นอกจากจะต้องระมัดระวังและดูแลร่างกายตัวเองแล้ว สภาพแวดล้อมในบ้านก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะอาจมีเชื้อโรคซุกซ่อนอยู่ และนี่คือ 7 จุดในบ้านที่เราไม่ควรละเลยเรื่องความสะอาด
- ฝาปิด ฐานชักโครก และที่กดชักโครก
เนื่องจากบริเวณนี้เป็นส่วนเก็บสะสมความสกปรกไว้ วิธีทำความสะอาดตำแหน่งเหล่านี้คือ ใช้ฟองน้ำกับสบู่ชนิดเหลวทำความสะอาดให้ทั่วแล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ก่อนจะเช็ดให้แห้งโดยใช้ผ้านุ่มผิวละเอียด - ก๊อกน้ำ
ก๊อกน้ำเป็นจุดที่มือเราสัมผัสบ่อยครั้ง วิธีการทำความสะอาดก็ง่าย ๆ เพียงแค่เช็ดด้วยน้ำร้อนหรือน้ำสบู่แล้วล้างออก หรือถ้าต้องการเพิ่มความเงางามให้กับก๊อกน้ำ ก็ใช้เบกกิ้งโซดาผสมน้ำมะนาวเช็ดทำความสะอาด - ของเล่นลูกๆ
บางครั้งลูกหยิบของเล่นเข้าปาก ปาลงพื้น ปะปนกับสิ่งของอื่นๆ ที่ไม่สะอาด ดังนั้นของเล่นของลูกๆ ควรได้รับการทำความสะอาด โดยผสมน้ำยาทำความสะอาดกับน้ำเปล่า แล้วแช่ของเล่นไว้ 10 นาที ก่อนจะนำขึ้นมาเช็ดให้แห้ง - ลูกบิด ที่จับประตู
เราเปิดปิดประตูทุกวัน รวมทั้งห้องต่างๆ ในบ้านก็ล้วนแล้วต้องผ่านการสัมผัสจากมือเราทั้งสิ้น แน่นอนสิ่งสกปรกที่ติดมากับมือเราย่อมติดที่ลูกบิด หรือที่จับประตู ส่วนวิธีทำความสะอาดคือใช้ฟองน้ำหรือผ้าสะอาดชุบน้ำสบู่ผสมน้ำ หรือน้ำยาทำความสะอาดกลอนประตูโดยเฉพาะ หลังเช็ดก็ใช้น้ำสะอาดเช็ดน้ำยาหรือน้ำสบู่ออกอีกครั้งหนึ่ง - รีโมททีวี
รีโมททีวีนั้นเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค สามารถทำความสะอาดได้ง่ายๆ ด้วยการใช้แอลกอฮอล์ ผ้านุ่มๆ และคอตตอนบัด วิธีการคือให้จุ่มผ้านุ่มๆ ในแอลกอฮอล์แล้วบิดหมาดก่อนจะนำไปเช็ดที่รีโมททีวี สำหรับบริเวณซอกปุ่มกดบนรีโมทคอนโทรลนั้นก็ใช้คอตตอนบัดทำความสะอาดแทน นอกจากนี้วิธีที่จะป้องกันการสัมผัสกับปุ่มรีโมททีวีโดยตรง เราอาจใช้พลาสติกห่อรีโมท แล้วเปลี่ยนทุกๆ วัน - โทรศัพท์มือถือ
เช็ดแห้งตัวโทรศัพท์มือถือ แล้วเช็ดด้วยน้ำยาทำความสะอาดอุปกรณ์ไอที ฉีดน้ำยาลงไปที่ผ้าที่ต้องการทำความสะอาด เช็ดตัวเครื่องให้ทั่ว ปล่อยให้น้ำยาแห้งเองและไม่ต้องฉีดซ้ำ - สวิตช์ไฟ
ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคเช็ดสวิตช์ไฟและบริเวณรอบ ๆ ทุกสัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของแบคทีเรีย
จัดการไวรัสโคโรนาด้วย “สบู่”
วิธีการป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ดีที่สุด คือ “การล้างมือด้วยสบู่” เนื่องจากเชื้อไวรัส COVID-19 มีไขมันและโปรตีนล้อมรอบ ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันเชื้อ และมีสไปก์ที่มีลักษณะคล้ายมงกุฎกระจายตัวอยู่รอบ ๆ ทำหน้าที่เชื่อมติดกับเซลล์ผู้รับ เมื่อเจอกับโมเลกุลของสบู่ ซึ่งทำหน้าที่แยกไขมันออกจากกัน ส่วนที่เป็นเกราะป้องกันเชื้อซึ่งเกาะกันอยู่อย่างหลวม ๆ จะถูกทำลาย เมื่อเกราะป้องกันเชื้อถูกทำลาย เชื้อไวรัสก็จะแตกออกและหมดฤทธิ์ไป ดังนั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้ประชาชนล้างมือให้บ่อยโดยใช้สบู่และน้ำ จากนั้นเช็ดให้แห้งด้วยกระดาษทิชชู่แบบใช้แล้วทิ้ง หรือใช้เจลล้างมือ ในกรณีที่ไม่สามารถหาน้ำและสบู่ล้างมือได้ และใช้เวลาล้างมืออย่างน้อย 20 วินาที วิธีการนี้ นอกจากจะช่วยลดอัตราของการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลก และช่วยจำกัดจำนวนผู้ติดเชื้อแล้ว ยังป้องกันสถานการณ์คนไข้ล้นโรงพยาบาลได้ด้วย อย่างไรก็ตาม คนอายุน้อยและสุขภาพดีก็ควรล้างมือให้บ่อยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดใหญ่ของโรค เพราะคนอายุน้อยสามารถแพร่กระจายเชื้อให้กับกลุ่มเปราะบางได้เช่นกัน
Work from Home เทรนด์ใหม่ในสถานการณ์ COVID-19
สถานการณ์ #COVID19 ถือว่าสร้างความวิตกกังวลให้กับเรามิใช่น้อย ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็อาจจะต้องกักตัวทำงานที่บ้าน และหลายๆ ออฟฟิศก็น่าจะใช้นโยบาย Work from home กันแล้ว เมื่องานก็ต้องฟาด โรคระบาดก็ต้องระวัง เราต้องเตรียมตัวอย่างไรให้การทำงานที่บ้านมีประสิทธิภาพ ก็ขอให้ทำตามนี้เลย
- เตรียมสถานที่ทำงานที่บ้านให้พร้อม ทั้งคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต สายชาร์จต่างๆ และทดลองเชื่อมต่อเพื่อเข้าระบบงานต่างๆ ของที่ออฟฟิศจากที่บ้าน ระบบไหนยังเข้าไม่ได้ ให้รีบติดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหา และพยายามหาวิธีการทำงานอื่นๆ ทดแทนไปก่อน
- เตรียมรวบรวมข้อมูลติดต่อ (Contact) ของผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำงาน ทั้งภายในและภายนอกบริษัท
- ฝึกใช้ Video Conference กับแต่ละทีม เพื่อให้สามารถใช้และแก้ไขปัญหาเบื้องต้นในการประชุมได้ รวมทั้งจัดการสิทธิ์ในการสร้างห้องประชุม
- จัดทำ Task Management ส่วนตัว โดยทำเป็นแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ได้ เพื่อให้สามารถจัดการงานต่างๆ ได้ครบถ้วน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นหัวหน้างาน ต้องเผื่อเวลาในการติดตามงานของคนในทีมด้วย
- วางแผนเรื่องการพักกินอาหาร เพราะการทำงานที่บ้านจะเสียเวลาเรื่องของกินมากกว่าเดิม
- คุยกับครอบครัวให้เข้าใจว่าการทำงานที่บ้านไม่ใช่การหยุดงาน
- เนื่องจากการทำงานที่บ้านทำให้สมาชิกในทีมไม่สามารถพูดคุยแบบเห็นหน้ากันโดยตรงได้ ดังนั้น การสื่อสารจะต้องชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ต้องมั่นใจว่าอีกฝ่ายเข้าใจความต้องการของเรา รู้ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งรู้ deadline ของงานอย่างชัดเจน
- เลือกช่องทางสื่อสารให้เหมาะสม บางเรื่องควรโทรคุยหรือส่งอีเมลจะได้ผลมากกว่า และอย่าใช้ช่องทางเดียวในการสื่อสารทุกเรื่อง เช่น ส่งทุกอย่างผ่านแชท
- ต้องพร้อมสื่อสารได้ในทุกช่องทางที่องค์กรจะใช้ ซึ่งต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่จะใช้งานช่องทางการสื่อสารนั้นๆ