ผู้เชี่ยวชาญชี้ ไทยจะรับมือ COVID-19 ได้ ต้องสร้าง “ความไว้ใจ”
ในสถานการณ์ที่โรคโควิด19 กำลังระบาดไปทั่วทุกมุมโลก รวมถึงประเทศไทย ที่ขณะนี้ มีรายงานผู้ติดเชื้อ 200 กว่าคนแล้ว แม้รัฐบาลจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็น มาตรการรับมือของสถานพยาบาลและโรงพยาบาล การเตรียมเวชภัณฑ์ เจล หน้ากากอนามัย การชี้แจงข้อมูลข่าวสาร การประสานงานกับต่างประเทศ มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเลื่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงการปิดสถานที่ที่เป็นแหล่งรวมตัวกันชั่วคราว การให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน การเยียวยาผู้ประกอบการ ฯลฯ แน่นอนว่า เหล่านี้ เป็นไปเพื่อการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ขณะเดียวกันก็เป็นการประคับประคองเพื่อยืดระยะเวลาการเข้าสู่ระยะที่ 3 ออกไปนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ขณะที่หลายคนกำลังตั้งความหวังว่า ‘สักวัน’ สงครามโควิด-19 จะจบลงในเร็ววัน รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวกับโรคติดเชื้อมาตลอดชีวิต ได้ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในหัวข้อ “พร้อมรับมืออย่างเท่าทันกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในสังคมไทย” ในที่ประชุมปรับแผนการดำเนินงาน ประจำปี 2563 ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 นำโดย นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ระดมกำลังเจ้าหน้าที่หารือปรับแผนการดำเนินงานภายใต้สถานการณ์โควิด-19
เตรียมเข้าสู่ระยะที่ 3 ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ระยะพุ่งพรวดแล้ว นั่นหมายถึง การเข้าสู่ระยะที่ 3 เนื่องจากการสกรีนทางการแพทย์มีความยากมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะก่อนหน้านี้จะเน้นสกรีนที่เกี่ยวข้องกับจีน แต่ตอนนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายๆ อย่างในวงกว้าง เช่น สนามมวย ผับ สถานที่ต่างๆ
“ไม่มีครั้งไหนที่โรคระบาดจะไปไกลแบบนี้ ปกติมันเกิดขึ้นเพียงแค่สามเดือนเท่านั้นเอง แต่ครั้งนี้มันไปเร็วกว่าคาดไว้เยอะมากและจะอยู่ไปอีกนานหลายเดือน อย่างน้อยต้องกินเวลาอีก 1 ปี อยู่ที่ว่าช่วงไหนจะหนัก ช่วงไหนจะเบา หรือจนกว่าจะมีวัคซีนขึ้นมา ซึ่งเร็วสุดที่จะมีวัคซีนออกมา น่าจะใช้ระยะเวลาอีก 6-8 เดือน”
แบบไหนเรียกว่า “ระยะที่ 3”
ช่วงเวลาที่ประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วสถานการณ์แบบไหนระยะที่ 3 หรือ เฟส 3 รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี อธิบายว่า การแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ในระยะที่ 3 นั้น ขึ้นอยู่กับการกระจายในวงกว้างขวางมากและรวดเร็วขึ้น ตอนนี้ยังไม่เข้าเฟส 3 แต่ต้องเตรียมตัว ภายใต้ 3 หลัก คือ
- คน - ความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์
- ของ - เวชภัณฑ์อุปกรณ์การแพทย์
- สถานที่ – การหาสถานที่ให้เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย
เจ็บแต่(ไม่)จบ
ปัจจุบัน (19 มี.ค. 2563) จีนมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่เพียง 21 คนเท่านั้น นโยบายของจีนเปลี่ยนไป ขณะที่ประเทศไทยจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ที่สองร้อยกว่าคน การจะจบสงครามครั้งนี้อาจต้องสร้าง ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ เมื่อมีคนติดเชื้อประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 40 ล้านคน ซึ่งแน่นอนว่าใน 40 ล้านคนนี้ ต้องมีคนที่เสียชีวิตเป็นหลักแสน นั่นก็หมายความว่า คงไม่มีใครที่จะรับได้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ การดูแลรักษาหรือการคัดกรอง ที่มีการต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ โดยต้องมีคู่มือแนวทางฉบับที่สามารถใช้ได้ทุกระดับ
“ใคร” คือคนที่ไวรัสชอบ
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี บอกว่า เชื้อพวกนี้ไม่ได้ร้ายแรง แต่เมื่อไรที่จู่โจมคนที่มีโรคประจำตัว หรือผู้สูงอายุ ก็จะร้ายแรงทันที สังเกตได้ว่าที่ผ่านมา ยังไม่ค่อยพบประวัติผู้ติดเชื้อในเด็ก ดังนั้น คนที่มีอายุน้อยก็จะมีภูมิคุ้มกันทำให้ป่วยน้อย อยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องช่วยกันดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวเป็นพิเศษ ส่วนใครที่ไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องไปตรวจ ซึ่งอาการทางคลินิกของโรค ระยะฟักตัวจะอยู่ที่ 2-14 วัน พบว่า
- 80% ของผู้ป่วยเป็นหวัดธรรมดา
- 15% ของผู้ป่วยเป็นปอดอักเสบรุนแรงแตกต่างกัน
- 3-5% ของผู้ป่วยเป็นโรครุนแรงมาก ต้องดูแลใน ICU
- อัตราการตาย 1-5% เฉลี่ยประมาณ 2%
อย่างไรก็ตาม รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี บอกว่า การจะช่วยหยุดแพร่เชื้อได้ ต้องทำให้ค่าอาร์-ศูนย์ (R0 : Basic Reproductive Number) ต่ำกว่า 1 ซึ่งประเทศไทยขณะนี้ (19 มี.ค.63) ค่าเฉลี่ยที่ผู้ป่วยหนึ่งคนจะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ประมาณ 2.6 คน วิธีที่จะทำให้ค่า R0 ลดลง นั่นก็คือ การหยุดเคลื่อนไหวในกลุ่มคนหมู่มาก
“ใส่หน้ากาก” มีประโยชน์จริงหรือไม่
เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยกำลังประสบปัญหาในการหาหน้ากากมาสวมใส่เพื่อป้องกันตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี แนะว่า ควรใส่หน้ากากเมื่ออยู่ในบริเวณผู้คนแออัดเกิน 50 คน ซึ่งจะมีโอกาสติดเชื้อสูง และหากทำจะได้ประโยชน์มากขึ้น ต้องควบคู่กับการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลด้วย ส่วนหน้ากาก N95 เหมาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ทั้งนี้ มีงานวิจัยทดลองในหนู 20 ตัว พบว่า หนูที่ใส่หน้ากาก ติดเชื้อ 8 ตัว ส่วนหนูที่ไม่ใส่หน้า ติดเชื้อทุกตัว
ในวิกฤตมี ‘โอกาส’
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า แม้ในสถานการณ์โรคระบาดที่สร้างความสูญเสียทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต สูญเสียอาชีพ รายได้ ผลกระทบต่อครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม ผู้คนต้องเครียด เศร้า เหนื่อยล้า สิ้นหวังแล้ว แต่หากมองในแง่ดีก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งและเป็นโอกาสที่ทำให้คนไทยได้ประสบการณ์การต่อสู้มากขึ้น เกิดความร่วมมือร่วมใจ ความเห็นอกเห็นใจ มีวินัย ครอบครัวอยู่พร้อมหน้ากัน และมีนิสัยอนามัยส่วนตัวมากขึ้น
“สิ่งสำคัญที่ผมอยากจะฝาก สช.และหน่วยงานเกี่ยวข้อง คือ สช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำให้คนไทยไม่หวาดกลัวหรือวิตกกังวล ด้วยการสร้าง ‘ความไว้ใจ’ ช่วยกันทำให้ทุกคนมีวินัย เสียสละ เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวทิ้งท้าย