ความหวังมนุษยชาติ "ยาเรมเดซิเวียร์" ยังต้องทดสอบต่อ เพื่อยืนยันฤทธิ์ต้านโควิด-19
18 มี.ค. (ซินหัว) — เมื่อไม่นานมานี้มีรายงานว่ายาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสนั้น ใช้ช่วยรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชาวสหรัฐฯ ในประเทศญี่ปุ่นได้ อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาบางคนออกมาเตือนว่ายังเร็วเกินไปที่จะยืนยันประสิทธิภาพที่แท้จริงของยานี้
“การทดสอบยาเรมเดซิเวียร์ในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาในขณะนี้นั้น ดูเหมือนจะได้ผลค่อนข้างดี และมีความเป็นไปได้ที่จะใช้ยานี้เป็น ‘ยาเพื่อการใช้อย่างการุณย์’ สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อจากโรคโควิด-19” จางจั้วเฟิง ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาและรองคณบดีฝ่ายวิจัย วิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (UC) วิทยาเขตนครลอสแอนเจลิส อธิบาย
ทั้งนี้ ยาเพื่อการใช้อย่างการุณย์ (compassionate medicine) หมายถึงการใช้ยาที่ยังไม่ได้รับการรับรองสำหรับโรคนั้นๆ ในการรักษาผู้ป่วยทั่วไป เนื่องจากยังไม่มีแนวทางรักษาอื่นที่มีประสิทธิภาพพอ
“อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตอนนี้ยังขาดข้อมูลการทดลองทางคลินิกด้วยวิธีอำพรางสองฝ่ายแบบสุ่ม (Randomized double-blind clinical trial) ในทางวิทยาศาสตร์ ฤทธิ์ของยาตัวนี้จึงยังไม่สามารถเชื่อถือได้” จางให้ข้อมูลกับสำนักข่าวซินหัวระหว่างการสัมภาษณ์เมื่อวันพุธ (18 มี.ค.)
จางกล่าวว่าแม้ผู้ป่วยบางรายจะหายดีหลังจากได้รับยา แต่ยังเป็นการยากที่จะบอกว่าเป็นยานี้ช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายได้ เพราะยังขาดกลุ่มควบคุม (control group) หรือกลุ่มตัวอย่างที่ผู้วิจัยจัดให้มีลักษณะเหมือนกลุ่มทดลอง แต่ไม่ได้รับตัวแปรในการทดลอง เพื่อใช้เปรียบเทียบผลที่ได้กับกลุ่มทดลอง (experimental group)
หนังสือพิมพ์วอลสตรีต เจอร์นัล (Wall Street Journal) อ้างรายงานจากผู้ช่วยเจ้ากรมการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านปอดจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) ระบุว่าชาวสหรัฐฯ 14 คน ที่ติดเชื้อไวรัสบนเรือสำราญไดมอนด์ ปรินเซส (Diamond Princess) ซึ่งต่อมาได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ ของญี่ปุ่น เป็นผู้ที่ได้รับยาชนิดนี้ที่เป็นชุดทดลองจากบริษัทกิลเลียด ไซเอนเซส (Gilead Sciences)
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าผู้ป่วยจำนวนมากซึ่งมีอายุเฉลี่ยที่ 75 ปี เป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสียชีวิตสูง แต่สองสัปดาห์หลังใช้ยากลับไม่มีผู้ใดเสียชีวิต อีกทั้งผู้ป่วยครึ่งหนึ่งยังหายดีอีกด้วย
แอนโทนี เฟาซี (Anthony Fauci) ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NIAID) กล่าวว่ายังไม่มีข้อมูลแน่ชัด ที่สามารถยืนยันได้ว่ายาเรมเดซิเวียร์สามารถปรับปรุงผลการรักษาทางคลินิกได้ แม้ยานั้นจะถูกใช้ในการรักษาโรคแล้วก็ตาม
เมื่อช่วยปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ รายงานว่าการทดลองทางคลินิกเพื่อประเมินฤทธิ์ยาเรมเดซิเวียร์ในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้น เริ่มดำเนินการครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยศูนย์การแพทย์เนแบรสกา (UNMC) ในเมืองโอมาฮา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ ทำการศึกษายาทดลองสำหรับรักษาโรคโควิด-19
“ผมหวังอย่างยิ่งว่าเมื่อเราได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากประสบการณ์ทางคลินิกและการทดลองทางคลินิก ยาตัวนี้จะยังมีความหวังต่อไป” โรเบิร์ต สคูลีย์ (Robert Schooley) ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ ภาควิชาโรคติดเชื้อและสาธารณสุขโลก จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (UC) วิทยาเขตซานดิเอโก กล่าว