หมอธีระวัฒน์ โพสต์อนิจจา "อิตาลี" สาธารณสุขล้มหมดแล้ว รอคนรอดเกิดภูมิคุ้มกันหมู่
(21 มี.ค.63) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ถึงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระบุว่า
อิตาลี คงรอการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะทรัพยากรการสาธารณสุขไม่มีแล้ว และให้คนอาการหนักไปที่สุคติเลย ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 47,021 ราย จาก 41,035 ราย และมีเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 627 รายรวมทั้งหมดเป็น 4032 ราย
แต่ อนิจจา ไม่มีการรักษาใดเหลือในอิตาลี นอกจากนั้นการปิดบ้าน ถ้าแทบทุกคนได้รับเชื้อไปแล้ว จะปิดไปก็ไม่เป็นประโยชน์ถ้าก้าวตามหลังโรค ปิดบ้าน จะมีคนอยู่ในระยะฟักตัวมากมาย โดยอาการน้อยหายเองแต่แพร่ได้ ให้คนในบ้านที่อ่อนแอ แม้ยังไม่ติดเชื้อเกิดอาการเป็นมาก ทั้งนี้ การอยู่บ้านต้องแยกกัน ไม่ใช่เป็นการแพร่ซ้ำสอง โดยคนที่ติดเชื้ออยู่แล้ว เกิดอาการมาก ขณะปิดบ้าน จะถูกรับไปรักษา
ดังนั้น การปิดบ้าน ต้องกระทำในขณะที่การติดเชื้อยังไม่รุนแรง กว้างขวางมาก ในขณะที่ระบบ สาธารณสุขยังพอไหว และรับตัวคนที่เป็นหนักไปรักษา และปิดบ้านต้องแยกกัน ห่างกันในบ้านด้วย ไม่เช่นนั้นแพร่ให้ผู้สูงวัยมีโรคประจำตัว
ถ้าปิดบ้าน แต่เปิดฟรีในบ้าน จะเป็นการจงใจทำร้ายคนในบ้านโดยไม่ตั้งใจ ถ้าปิดบ้านแม้ว่าจะแยกตัว แต่คนในบ้านส่วนมาก ติดเชื้อกันถ้วนหน้าแล้ว อย่างไรคงไม่ได้ผลมาก
- "หมอธีระวัฒน์" เปิดโมเดลสู้โควิด-19 หรือจะปล่อยให้ติดครึ่งประเทศ จนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่
- โควิด-19 ทำไมอิตาลีคนตายเยอะ? ผู้เชี่ยวชาญแจกแจงสารพัดปัจจัย ดันยอดทุบสถิติโลก
Herd Immunity หรือ การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เป็นรูปแบบการป้องกันการติดต่อของโรคติดเชื้อรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ใช่เกิดจากการป้องกันโดยตรง (การรักษา) แต่เป็นการทำให้สัดส่วนประชากรโดยรวมติดเชื้อจนมีภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่ง ผู้ที่ยังไม่ได้ติดเชื้อก็จะได้รับประโยชน์จากการปกป้องหมู่โดยอัตโนมัติ
การเกิดภูมิคุ้มกันของคนคนหนึ่ง อาจเกิดจากการเคยติดโรคมาก่อนแล้วหายจากโรคนั้น หรืออาจเป็นภูมิคุ้มกันที่ได้รับการเสริมขึ้น เช่น จากการรับวัคซีน คนบางคนไม่สามารถจะสร้างภูมิคุ้มกันของตัวเองขึ้นได้จากโรคบางอย่าง เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ป่วยโรคมะเร็ง คนกลุ่มนี้มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องอาศัยผลของภูมิคุ้มกันหมู่ในประชากรที่อาศัย เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อโรคเหล่านี้
อาจารย์หมอธีระวัฒน์ เคยกล่าวถึง "ภูมิคุ้มกันหมู่" เอาไว้ว่า ถ้าปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติตามยถากรรม ไม่มีการควบคุม และแน่นอนไม่มีทรัพยากรในการรักษาได้ทั่วถึง การระบาดของโควิด-19 จะสงบได้โดยเร็ว แต่จะมีผู้เสียชีวิตมหาศาล ระบบสาธารณสุขย่อยยับ เจ้าหน้าที่เสียหายอย่างหนัก
ถ้าคนอย่างน้อยครึ่งประเทศติดเชื้อ แล้วไม่ตายไปเสียก่อน ก็จะมีภูมิคุ้มกันและเริ่มทำให้ประเทศปลอดภัย เป็นวิธีการเดียวกันกับที่เราต้องฉีดวัคซีนให้หมาทั่วประเทศอย่างน้อย 60% เพื่อควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า นั่นคือการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ในโควิด-19 เมื่อติดเชื้อ คน 80% อาการน้อยหายเอง และจะเป็นหนุ่มสาวที่ไม่มีโรคประจำตัวแต่กลายเป็นคนแพร่เชื้อที่มีประสิทธิภาพ 20% ที่เหลือมักจะเป็นคนสูงอายุ 65 ปีขึ้นไปมีโรคประจำตัว ถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาล อัตราตายอาจสูงถึง 20-50% ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง