ผู้เชี่ยวชาญแนะผู้สูงอายุสู้วิกฤต โควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

ผู้เชี่ยวชาญแนะผู้สูงอายุสู้วิกฤต “ไวรัสโคโรนา” ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

ผู้เชี่ยวชาญแนะผู้สูงอายุสู้วิกฤต “ไวรัสโคโรนา” ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นาทีนี้ “ไวรัสโคโรนา” ได้ส่งผลกระทบต่อคนทุกกลุ่ม หนึ่งในนั้นคือผู้สูงอายุ ที่ดูจะเป็นเป้าโจมตีของเชื้อไวรัส เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังอาจจะต้องพบกับความโดดเดี่ยว ไม่ว่าจะเนื่องจากการกักตัวเพราะอาการป่วย หรือการที่ลูกหลานไม่สามารถเดินทางมาเยี่ยมได้ ดังนั้น เทคโนโลยีดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย จึงกลายเป็นเครื่องมือที่น่าสนใจ ที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาในวิกฤตไวรัสโคโรนานี้ได้

ด้วยเหตุนี้ ทีมนักมานุษยวิทยา Anthropology of Smartphones and Smart Ageing (ASSA) จึงนำเสนอข้อมูลสำคัญ 16 ข้อเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในผู้สูงอายุ ขณะที่ต้องแยกตัวออกจากสังคม โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มาจากการทำงานวิจัยเป็นเวลา 16 เดือน และข้อมูลจากหนังสือ The Comfort of People โดยแดเนียล มิลเลอร์ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับจักรวาลทางสังคมของผู้ป่วยในบ้านพัก รวมถึงคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้สื่อเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียว เพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางสังคม ข้อมูลทั้ง 16 ข้อ มีดังต่อไปนี้

1. ใช้แอปพลิเคชันที่มีอยู่

งานวิจัยค้นพบว่าผู้สูงอายุมักจะไม่ค่อยอยากใช้แอปพลิเคชันใหม่ๆ ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ควรแนะนำแอปพลิเคชันใหม่ใดๆ แต่ให้ใช้แอปพลิเคชันที่มีอยู่เดิมในการบรรลุเป้าหมายต่างๆ

2. ความเข้าใจ

การแยกตัวออกจากสังคมถือเป็นประสบการณ์ร่วมของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่สูญเสียคู่ชีวิต ผลลัพธ์อย่างหนึ่งของไวรัสโคโรนา คือการที่คนทุกวัยจะมีประสบการณ์ในการแยกตัวอยู่คนเดียว ซึ่งจะทำให้คนเหล่านี้มีความเข้าใจประสบการณ์ชีวิตของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียวมากขึ้น

3. การใช้สื่อที่หลากหลาย

งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าปัจเจกบุคคลแต่ละคนมีความชอบที่เฉพาะตัวในการสื่อสาร เช่น บางคนอาจจะรู้สึกดีกับการใช้เว็บแคม แต่ต้องส่งข้อความบอกก่อนเพื่อให้เตรียมตัว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะเรียนรู้ความชอบของผู้สูงอายุแต่ละคนในการใช้ช่องทางการสื่อสารต่างๆ และเคารพความชอบส่วนตัวเหล่านี้ด้วย

4. กลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

จากการวิจัยเกี่ยวกับบ้านพักคนชราพบว่า ผู้ที่ต้องต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็ง จะมองว่ากลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก โดยสามารถแบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 2 กลุ่มเท่าๆ กัน กลุ่มหนึ่งจะต้องการพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับปัญหาส่วนตัวเมื่อเป็นกลุ่มนิรนาม ส่วนอีกกลุ่มจะรู้สึกสบายใจเมื่อได้พูดคุยกับคนที่สามารถเปิดเผยชื่อได้ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาและเพิ่มจำนวนกลุ่มเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน

5. เน้นความถี่ ไม่เน้นเนื้อหา

สำหรับผู้สูงอายุจำนวนมาก สิ่งที่สำคัญไม่ใช่เนื้อหาที่อยู่ในการสื่อสาร แต่เป็นความถี่ แค่รู้ว่ามีคนที่สนใจจะพูดคุยสำคัญกว่าสิ่งที่คนเหล่านั้นพูดกันเสียอีก

6. เส้นบางๆ ระหว่างความใส่ใจกับการสอดส่อง

ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ซึ่งผู้สูงอายุอาจจะชื่นชอบการพูดคุยอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา แต่ก็ยังแคร์เรื่องความเป็นอิสระและศักดิ์ศรีของตัวเอง นอกจากนี้ ประเด็นนี้ยังเชื่อมโยงในระดับใหญ่ด้วย ยกตัวอย่างเช่น กรณีการสั่งปิดเมืองของรัฐบาลจีน ที่หลายคนมองว่าเป็นการใช้อำนาจตามลัทธิอำนาจนิยมที่ยอมรับไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ยังมีคนมองว่าเป็นมาตรการที่เหมาะสมที่รัฐใช้ดูแลประชาชน

7. ความอัจฉริยะจากฐานราก

การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างแพร่หลายก่อให้เกิดอิสรภาพของความคิดสร้างสรรค์และความเฉลียวฉลาดของประชาชนทั่วไป โดยมีการทดลองด้วยตัวเอง เก็บรวบรวมตัวอย่าง และแชร์ต่อให้บุคคลอื่น ซึ่ง ASSA ได้จัดทำรายงานขนาด 150 หน้า เป็นคู่มือการใช้ WhatsApp เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งจัดทำโดยมาริเลีย ดุ๊ค ตัวอย่างที่ดีที่สุดในรายงานนี้มาจากการสังเกตพฤติกรรมของผู้สูงอายุในบราซิลที่ใช้สมาร์ทโฟนเพื่อจุดประสงค์ด้านสุขภาพ เป็นระยะเวลา 16 เดือน ทำให้ทีมงานเห็นความจำเป็นที่จะจัดตั้งแพลตฟอร์มที่ผู้คนสามารถแชร์สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการตอบสนองอย่างสร้างสรรค์ของประชาชนทั่วไป

8. ความห่วงใยระยะไกล

เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้การส่งความห่วงใยจากระยะไกลเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งนี้เกิดขึ้นในหลายทาง ยกตัวอย่างเช่น การทำงานกับผู้สูงอายุในประเทศจีนและญี่ปุ่น ทีมงานพบว่า ผู้สูงอายุเหล่านี้ใช้ประโยชน์จากการสื่อสารด้วยภาพ เช่น สติ๊กเกอร์และวีดิโอขนาดสั้น ในการแสดงความห่วงใย และพบว่าเป็นเรื่องง่ายที่จะสื่อสารความรักผ่านช่องทางเหล่านี้ แทนที่จะใช้วิธีเดิมคือการพบกันต่อหน้า

9. WhatsApp ยังเป็นที่นิยม

ทุกวันนี้ หลายคนใช้ WhatsApp ในการให้กำลังใจผู้ที่กักตัวหรือผู้ป่วย ซึ่งมีประสิทธิภาพมาก ดังนั้น มาริเลีย ดุ๊ค จึงสนับสนุนระบบ “WhatsApp Angels” ที่ใช้ในการรับมือกับไวรัสในบราซิล โดย WhatsApp ได้สร้าง “ศูนย์ข้อมูลไวรัสโคโรนา” หรือ “Coronavirus Information Hub” ที่รวมเอาตัวอย่างของการใช้แอปพลิเคชันเพื่อติดต่อกับคนใกล้ชิด หรือค้นหาข้อมูลสุขภาพเกี่ยวกับไวรัสที่ทันเหตุการณ์

10. เว็บแคม

เมื่อใช้โทรศัพท์ ผู้สูงอายุชาวอังกฤษมักจะบอกว่าตัวเองสบายดี แม้ว่าจะป่วยหนัก แต่เว็บแคมก็มีประโยชน์หลายอย่าง ซึ่งช่วยให้เราสามารถเห็นคู่สนทนาได้ หลายคนมองว่าเว็บแคมมีประโยชน์ แม้ว่าจะไม่ได้พูดคุยกัน เพราะทำให้รู้สึกว่าใกล้เคียงกับการได้อยู่ด้วยกัน

11. ผู้สูงอายุที่ไม่ได้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี

ไวรัสโคโรนาจะก่อให้เกิดวิกฤตในหมู่ผู้สูงอายุที่ไม่เคยเรียนรู้การใช้สมาร์ทโฟน เนื่องจากลูกหลานไม่สามารถเดินทางมาเยี่ยมที่บ้านพักคนชราได้ เครื่องมือที่มีประโยชน์มากก็ได้แก่ Amazon Echo Show เนื่องจากสามารถเปิดเว็บแคมได้ด้วยคำสั่งง่ายๆ

12. Facebook

Facebook เปลี่ยนจากแพลตฟอร์มของคนรุ่นใหม่เป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้สูงอายุใช้มากขึ้น ข้อแนะนำหลักก็คือ ให้เด็กๆ ใช้ Facebook ต่อไป และแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวและเรื่องตลกให้กับผู้สูงอายุมากขึ้น

13. ความลับเป็นสิ่งสำคัญน้อยลง

การวิจัยเกี่ยวกับบ้านพักพิงระบุว่า ทุกวันนี้การรักษาความเป็นส่วนตัวและความลับของบุคคลกลับกลายเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวง ผู้ที่เจ็บป่วยจะกังวลว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับตนเองจะได้รับทราบเกี่ยวกับอาการของพวกเขา มากกว่าจะสนใจว่าคนอื่นจะรู้ข้อมูลด้วยหรือไม่ ความเป็นส่วนตัวถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่การควบคุมข้อมูลที่เข้มงวดเพราะกลัวถูกฟ้องร้องอาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อตัวผู้ป่วยมากกว่า

14. ความอดทนกับผู้ป่วย

ผู้สูงอายุอาจจะต้องการและจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้การใช้สมาร์ทโฟนและทักษะอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน แต่ส่วนใหญ่จะมีรายงานว่าคนรุ่นใหม่มักจะไม่ช่วยสอนผู้สูงอายุ รวมทั้งมีทีท่าไม่พอใจ ไม่อดทน และแก้ปัญหาโดยการนำโทรศัพท์ออกไป การแยกตัวออกจากสังคมในช่วงวิกฤตไวรัสอาจจะเป็นช่วงเวลาสำคัญในการสอนให้ผู้สูงอายุทำสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเอง

15. การรับรองคุณภาพ

การค้น Google เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพขณะนี้เป็นเรื่องที่ทำกันอย่างแพร่หลายในหมู่คนที่รู้สึกว่าป่วยหรือกลัวอาการป่วย ผู้ใช้งานที่ได้รับอิทธิพลจากโฆษณาหรือเรื่องราวที่น่ากลัว อาจจะยิ่งรู้สึกวิตกกังวลมากขึ้นและได้รับข้อมูลที่ผิดๆ ดังนั้น Google จึงพัฒนาตัวเองในเรื่องนี้ โดยการกระตุ้นให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในสหราชอาณาจักรหาข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์องค์การอนามัยโลกหรือระบบดูแลสุขภาพแห่งชาติ (NHS) เมื่อมีการค้นคำว่า “covid 19” ใน Google

16. การทดลองในระดับสากล

ขณะนี้โลกเข้าสู่การทดลองระดับสากลครั้งใหญ่ การศึกษา การทำงาน และการเข้าสังคมเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างเต็มตัว นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับมานุษยวิทยาดิจิทัลในการพยายามเข้าถึงปัญหาที่เกี่ยวข้อง ที่เกิดขึ้นจากยุทธศาสตร์เหล่านี้ เช่นเดียวกับประโยชน์ในระยะยาว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook