ผู้เชี่ยวชาญเตือน “ไวรัสโคโรนา” ไม่ใช่โรคระบาดครั้งสุดท้าย หากคนไม่เปลี่ยนพฤติกรรม
ในขณะที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่นักสิ่งแวดล้อมก็พยายามเตือนว่า ไวรัสโคโรนาจะไม่ใช่โรคระบาดใหญ่ครั้งสุดท้ายที่จะสร้างหายนะให้แก่มนุษยชาติ หากเรายังคงเพิกเฉยต่อความเชื่อมโยงระหว่างโรคติดเชื้อและการทำลายล้างธรรมชาติ
ดร.เอนริค ซาลา นักนิเวศวิทยาทางทะเล กล่าวว่า “ผมมั่นใจมากว่าจะมีโรคภัยอีกมากมายตามมาในอนาคต หากเรายังคงปฏิบัติตัวในแนวทางที่ทำลายโลก ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า จับสัตว์ป่ามาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง หรือล่าเพื่อทำเป็นอาหารและยา”
ไวรัสโคโรนาเชื่อกันว่าแพร่กระจายจากสัตว์สู่คนใน “ตลาดสด” ที่ขายสินค้าประเภทอาหารทะเลและสัตว์ที่ยังมีชีวิต ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อเดือนธันวาคม แต่ข้อมูลนี้ยังไม่มีการยืนยัน ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature ระบุว่าแหล่งกำเนิดของไวรัสโคโรนาน่าจะมาจาก “ตัวนิ่ม” ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง และเมื่อเกิดการระบาด ทางการจีนได้ออกประกาศแบนการบริโภคและเลี้ยงสัตว์ป่า รวมทั้งตลาดค้าสัตว์ป่าด้วย
อย่างไรก็ตาม นักสิ่งแวดล้อมได้เตือนเกี่ยวกับประเด็นที่ใหญ่กว่า นั่นคือ การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยความโลภของมนุษย์ จะทำให้มนุษย์เข้าใกล้สัตว์ป่ามากขึ้นกว่าที่เคย
เดวิด ควัมเมน ผู้เขียนหนังสือขายดีชื่อ “Spillover: Animal Infections and the Next Human Pandemic” ที่ศึกษาเรื่องโรคอีโบลา และพยายามเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อโรคระบาด โดยเขากล่าวว่า ในระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ จะมีไวรัสรวมอยู่ด้วย และเมื่อมีการถางป่าเพื่อสร้างหมู่บ้าน ทำอุตสาหกรรมไม้ หรือแคมป์เหมืองแร่ ฆ่าสัตว์หรือจับสัตว์ป่าเพื่อเป็นอาหาร ก็มีโอกาสที่ไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายของเราได้
“มันเหมือนกับเวลาคุณรื้อโรงนาเก่าแล้วฝุ่นก็ฟุ้งกระจายออกมา เมื่อคุณทำลายป่าเขตร้อน ไวรัสก็กระจายออกมาเช่นกัน การทำลายสิ่งแวดล้อมจะเปิดโอกาสให้ไวรัสที่เรายังไม่รู้จักเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้”
ดร.แซมมวล ไมเออร์ส นักวิทยาศาสตร์จากภาควิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และผู้อำนวยการของ Planetary Health Alliance กล่าวว่า การบุกรุกของมนุษย์เข้าสู่ป่าจะทำให้มนุษย์เข้าใกล้กับประชากรสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น ซึ่งสัตว์ป่าหลายชนิดเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคขนาดใหญ่ ที่ยังไม่เคยถูกค้นพบมาก่อน
โรคที่เกิดจากตัวนำโรค หรือโรคที่มาจากสิ่งมีชีวิต ซึ่งสามารถส่งต่อเชื้อโรคระหว่างมนุษย์ หรือจากสัตว์ไปสู่มนุษย์ เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อกว่า 17% และก่อให้เกิดอัตราการเสียชีวิตของมนุษย์กว่า 700,000 คนต่อปี จากรายงานขององค์การอนามัยโลก เชื้อโรคเหล่านี้จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป โรคติดเชื้อชนิดใหม่ราว 30 โรค เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950s จนกระทั่งทศวรรษ 1980s ตัวเลขดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ตัวอย่างของโรคระบาดที่เกิดจากสัตว์ก็ได้แก่ เอชไอวี อีโบลา ซาร์ส เมอร์ส และซิกา
ดร.ไมเออร์สกล่าวว่า “เราเข้าใจกันว่าโรคเอชไอวีและอีโบลามาจากการล่าเนื้อสัตว์ป่า โรคเมอร์สและโรคซาร์ส มาจากสัตว์ที่ยังมีชีวิต ที่ขายอยู่ใน “ตลาดสด” เช่น ตลาดค้าสัตว์ที่อู่ฮั่น มีสัตว์แปลกเป็นจำนวนมากถูกขายอยู่ในกรง ด้วยระยะที่ใกล้กันระหว่างสัตว์ด้วยกัน และสัตว์กับมนุษย์ เป็นระยะที่ใกล้ขนาดที่คุณไม่มีทางพบในธรรมชาติ”
นอกจากนี้ ดร.ไมเออร์สยังเสริมอีกว่า “มันเป็นการผสมผสานระหว่างขนาดของรอยเท้าทางนิเวศวิทยาของมนุษย์และโลกาภิวัตน์ เมื่อเชื้อโรคแพร่จากสัตว์ไปสู่มนุษย์ มันก็จะสามารถแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วทางอากาศ”
กฎระเบียบและการศึกษาเกี่ยวกับอันตรายของการบริโภคสัตว์ป่ามีบทบาทสำคัญในการลดความเสี่ยง ซึ่ง ดร.ซาลาระบุว่า รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการออกนโยบายที่ปกป้องธรรมชาติ และสั่งห้ามการค้าสัตว์ป่า บริษัทต่างๆ ก็ช่วยได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ดร.ไมเออร์สชี้ว่า ขณะนี้การทำลายล้างธรรมชาติขยายตัวยิ่งกว่าการระบาดของโรคติดเชื้อ
“เราพบผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณของอาหารที่เราผลิต ซึ่งก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง และโรคทางเดินหายใจ รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพจิต การเคลื่อนย้ายประชากร และความขัดแย้ง” เขากล่าว
จากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น จาก 2 พันล้านคน เป็น 9.7 พันล้านคน ซึ่งล้วนต้องการอาหาร คำถามที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่คำว่า “ถ้า” แต่เป็น “เมื่อไร” โรคระบาดจะเกิดขึ้น ผู้เชี่ยวชาญเตือน
“หากเราสามารถควบคุมโรค COVID-19 ได้ เราก็อาจจะยินดีกับความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ที่สามารถควบคุมสิ่งนี้ได้ แต่หลังจากที่เราฉลองได้ 5 นาที เราก็ควรจะเริ่มคิดถึงโรคระบาดครั้งต่อไปแล้ว” เดวิด ควัมเมน กล่าว
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เป็นสิ่งที่จำเป็น รวมทั้งการสร้างความเชื่อมโยงอย่างจริงจังระหว่างสุขภาพของมนุษย์และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่ง ดร.ซาลากล่าวว่า สุขภาพของมนุษย์ไม่อาจยั่งยืนได้หากขาดระบบนิเวศที่สมบูรณ์ โรคติดเชื้อเหล่านี้ที่เราประสบในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เป็นหลักฐานชั้นดีเกี่ยวกับประเด็นนี้
“การรักษาป่าให้สมบูรณ์ การแบนการล่าสัตว์และค้าสัตว์ป่า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ อาจจะไม่ใช่วิธีการที่ทำได้ง่ายในทางปฏิบัติ แต่ก็ได้ผลในแง่ของสุขภาพของมนุษย์และเศรษฐกิจ สำหรับรัฐบาลและผู้ออกนโยบาย การลงทุนในการปกป้องธรรมชาติของเรา เป็นแนวทางที่คุ้มค่าที่สุดที่เราทำได้” ดร.ซาลากล่าว