เมื่อหายขาดจาก “COVID-19” แล้ว ผู้ที่ติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกันไวรัสหรือไม่

เมื่อหายขาดจาก “COVID-19” แล้ว ผู้ที่ติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกันไวรัสหรือไม่

เมื่อหายขาดจาก “COVID-19” แล้ว ผู้ที่ติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกันไวรัสหรือไม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากการที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาพุ่งสูงขึ้นกว่า 450,000 รายทั่วโลก และผู้คนกว่าพันล้านคนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน นักวิทยาศาสตร์เองก็ต้องต่อสู้กับหนึ่งในคำถามมากมายที่ประดังเข้ามา นั่นคือ “ผู้ที่หายจากโรค COVID-19 จะมีภูมิคุ้มกันไวรัสชนิดนี้หรือไม่”

คำตอบคือ เมื่อคนเราติดเชื้อไวรัสแล้ว เราจะมีภูมิคุ้มกัน และผู้ที่ได้รับการรับรองว่ามีภูมิคุ้มกันสามารถเดินทางออกจากบ้านและทำงานได้จนกว่าจะมีวัคซีนออกมา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์ ที่เมื่อมีภูมิคุ้มกันแล้ว ก็จะสามารถดูแลรักษาผู้ป่วยหนักได้

นอกจากนี้ ภูมิคุ้มกันที่มากขึ้นในชุมชนก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะหยุดการระบาดได้ เนื่องจากเมื่อมีผู้ที่ติดเชื้อน้อยลงเรื่อยๆ ไวรัสโคโรนาจะพ่ายแพ้ และแม้แต่ผู้ที่อ่อนแอที่สุดก็จะสามารถป้องกันร่างกายจากเชื้อไวรัสได้ ยิ่งกว่านั้น ภูมิคุ้มกันยังอาจนำไปสู่การรักษาเบื้องต้นได้ โดยแอนติบอดี้ที่ได้จากร่างกายของผู้ที่มีภูมิคุ้มกันและหายดีแล้ว อาจจะถูกนำไปใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรค COVID-19 คนอื่นๆ

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้อนุมัติการใช้พลาสมาจากผู้ป่วยที่หายดีแล้ว ในการรักษาผู้ป่วยหนักคนอื่นๆ โดยก่อนหน้านี้ นายแอนดรูว์ เอ็ม คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ได้ประกาศว่านิวยอร์กจะเป็นรัฐแรกที่ริเริ่มการทดสอบเซรุ่มจากคนที่หายจากโรค COVID-19 ในการรักษาผู้ป่วยหนัก

กลไกแรกของร่างกายในการต่อสู้กับไวรัส คือแอนติบอดี้ที่เรียกว่า “อิมมูโนโกลบิน เอ็ม” (immunoglobulin M) ซึ่งทำหน้าที่เฝ้าระวังร่างกาย และเตือนระบบภูมิคุ้มกันที่เหลือ เมื่อมีผู้บุกรุก เช่น ไวรัสและแบคทีเรีย เมื่อเกิดการติดเชื้อ ระบบภูมิคุ้มกันจะแปลงแอนติบอดี้ชนิดนี้ให้เป็นแบบที่ 2 เรียกว่า “อิมมูโนโกลบิน จี” (immunoglobulin G) ซึ่งออกแบบมาอย่างดีเพื่อตรวจจับและทำให้ไวรัสมีฤทธิ์เป็นกลาง การแปลงแอนติบอดี้นี้อาจจะใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ ทั้งกระบวนการและศักยภาพของแอนติบอดี้สุดท้ายสามารถเป็นได้หลากหลายทาง บางคนสามารถสร้างแอนติบอดี้ที่ทรงพลัง สามารถต่อสู้กับการติดเชื้อได้ ในขณะที่บางคนมีการต้านทานไวรัสที่อ่อนกว่า

แอนติบอดี้ที่เกิดขึ้นเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น โปลิโอหรือโรคหัด ต้องใช้เวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต ในขณะที่แอนติบอดี้ที่สู้กับไวรัสโคโรนา ที่ก่อให้เกิดโรคหวัดธรรมดา ต้องใช้เวลาราว 1 – 3 ปี ซึ่งน่าจะคล้ายกันกับญาติสายพันธุ์ใหม่ของมัน

ดร.ฟลอเรียน แครมเมอร์ นักจุลชีววิทยาจากวิทยาลัยแพทย์อิคาน ในนิวยอร์ก กล่าวว่า “หากการป้องกันของแอนติบอดี้มีระยะเวลาสั้น และคนกลับมาติดเชื้ออีกครั้ง การป่วยครั้งที่ 2 จากเชื้อไวรัสโคโรนาอาจจะหนักน้อยกว่าการป่วยครั้งแรก หรือคุณอาจจะสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีก่อนที่จะมีอาการอีกครั้ง และอาจจะบรรเทาการเกิดโรคได้ด้วย”

คำถามสำคัญก็คือ เด็กและผู้ใหญ่ที่มีอาการเล็กน้อยจะยังมีการตอบสนองมากพอที่จะรักษาภูมิคุ้มกันไวรัสจนกระทั่งมีวัคซีนออกมาหรือไม่

ดร.มาเรียน คูปแมนส์ นักวิทยาไวรัสจากมหาวิทยาลัยอีราสมุส ในรอตเตอร์ดัม และคณะทำงาน ได้คัดกรองการตอบสนองของแอนติบอดี้ในผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ จำนวน 15 คน และใช้ตัวอย่างเลือดจากธนาคารเลือดของคน 100 คน ที่เคยได้รับเชื้อไวรัส 1 ใน 4 สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา ที่ก่อให้เกิดโรคหวัดธรรมดา โดย ดร.คูปแมนส์อธิบายว่า หากตัวอย่างเลือดเหล่านั้นแสดงการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ก็จะเป็นคำอธิบายว่าทำไมคนบางคนหรือเด็ก มีอาการไม่รุนแรง พวกเขาอาจจะมีแอนติบอดี้ที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนา ที่อย่างน้อยก็มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่

วิธีการที่รวดเร็วที่สุดในการประเมินภูมิคุ้มกันคือการตรวจเลือด ซึ่งจะมองหาแอนติบอดี้ที่ปกป้องร่างกายในเลือดของคนที่หายป่วยแล้ว แต่ก่อนอื่นคุณต้องได้รับการตรวจก่อน และเนื่องจากนี่เป็นไวรัสโคโรนาชนิดใหม่ การทดสอบจึงควรให้คำตอบโดยพื้นฐานคือ “ใช่หรือไม่ใช่” เหมือนกับการทดสอบในเชื้อ HIV ที่เราสามารถระบุได้ว่าใครติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม เจ้าหน้าที่ของสาธารณสุขประเทศอังกฤษ กล่าวว่าได้มีการจัดซื้อชุดตรวจแอนติบอดี้ที่พัฒนาใหม่ จำนวนกว่าล้านชุด และจะใช้ในการประเมินอาการของผู้ป่วยที่พักอยู่ที่บ้าน ประชาชนที่พบว่าติดเชื้อ และมีภูมิคุ้มกันไวรัสโคโรนาแล้ว อาจจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่รู้ว่าตนเองมีภูมิคุ้มกันสามารถเป็นแนวหน้าในการปฏิบัติหน้าที่ในแผนกฉุกเฉิน แทนเพื่อนร่วมงานที่ติดเชื้อได้

อย่างไรก็ตาม การตามหาผู้ที่มีการตอบสนองของแอนติบอดี้ดีอาจจะนำไปสู่หนทางใหม่ในการรักษา โดยแอนติบอดี้ที่สกัดจากเลือดของผู้ป่วยที่หายขาดแล้ว จะฉีดเข้าในร่างกายของผู้ที่ยังป่วยอยู่ โดยมีทีมนักวิจัยหลายทีมกำลังพยายามทำภารกิจนี้อยู่

แต่ก่อนที่วิธีการนี้จะใช้ได้อย่างแพร่หลาย นักวิทยาศาสตร์จะต้องทำงานในประเด็นเรื่องความปลอดภัย เช่น การสร้างความมั่นใจว่าพลาสมาที่ได้รับจากร่างกายผู้ป่วยต้องไม่มีไวรัสชนิดอื่นๆ หรือสารพิษปนเปื้อนอยู่

ที่สุดแล้ว มีเพียงชุดตรวจเหล่านี้ที่นักวิทยาศาสตร์สามารถบอกได้ว่า เมื่อมีประชากรที่ติดเชื้อมากพอและมีภูมิคุ้มกันแล้ว เมื่อนั้นไวรัสก็จะหมดไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook