หมอธีระวัฒน์ เผยเบื้องหลังแล็บตรวจโควิด-19 หลังมีเสียงบ่น ทำไมรอผลนานหลายวัน?
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha เป็นภาพกล่องโฟมและถุงจำนวนมากที่มาจากการคัดกรองโควิด-19 ทั้งเจาะเลือด ป้ายจมูกเพื่อเก็บเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก และจะถูกส่งมายังในห้องปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่ต้องนำไปตรวจแบบ PCR หรือ Polymerase Chain Reaction เพื่อหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งในแต่ละวันถูกส่งมาหลักร้อยหลักพันราย
ข้อความของคุณหมอระบุว่า...
"ทุกคนรู้ว่า PCR เป็นการตรวจยืนยันที่ใช้ แต่ทุกคนรู้หรือไม่ การคัดกรอง ต้องนั่งอยู่ในพื้นที่เฉพาะ และต้องถูกแยงไม้เข้าไปเก็บน้ำจมูกและคอ
รู้หรือไม่ การตรวจพีซีอาร์ ต้องมีการทำลายเชื้อก่อน จากนั้นสกัด RNA จากนั้นเข้าเครื่อง และวิเคราะห์ผล
รู้หรือไม่ว่า ถึงแม้จะมีเครื่องตรวจรวดเร็ว แล้วเรามีกี่เครื่อง วัสดุ น้ำยาส่งพอหรือไม่ พูดกันว่ามีพอ ตรวจได้ “หามาให้ได้มั้ย?”
รู้หรือไม่ว่าด้วยเหตุผลดังกล่าวว่าจะทราบผลในบางครั้งเป็นเวลามากกว่าหนึ่งวันจนถึงสามวันก็มี ห้องปฎิบัติการบางแห่งตรวจ 500-700 รายต่อวัน
รู้หรือไม่ว่าถ้าตัวอย่างส่งตรวจไม่ดี และกระบวนการตรวจยังมีความหลากหลายและความแม่นยำแตกต่างกันทำให้ผลที่ได้อาจไม่ตรง
ข้อสำคัญการตรวจแอนติบอดีจากการเจาะปลายนิ้ว IgM จะปรากฏให้เห็นภายในสี่ถึงหกวันหลังติดเชื้อและ IgG ประมาณ 14 วัน
ข้อสำคัญ เรารู้ว่าถ้าติดเชื้อภายในสี่วันแรกอาจตรวจไม่เจอเหมือนกับตรวจว่าท้องหรือไม่ ถ้ายังอยู่ในข่ายต้องสงสัยก็ต้องตรวจต่อในอีกสามวันต่อมา
ข้อสำคัญเรารู้ว่าถ้าได้ผลบวกแต่เกิดเป็นผลบวกที่ไม่จริงซึ่งเกิดขึ้นน้อยมากก็ทำการตรวจพิสูจน์อย่างอื่นต่อด้วยวิธีพีซีอาร์ เราต้องกักตัว แยกตัวก่อนจนกว่าพิสูจน์ได้
ข้อสำคัญเรารู้ว่า การคัดกรองขณะนี้เด็กๆ หน้างาน ทำงานกันหนักมากด้วยวิธีพีซีอาร์ แถมยังตรวจไม่พอ
ข้อสำคัญเรารู้ว่า สิ่งที่มีอยู่ขณะนี้ยังไม่ตอบโจทย์ ต้องการกระบวนการอุปกรณ์วิธีอื่นเพื่อให้ทำงานด้วยความสะดวก และสู้กับการแพร่เชื้อ
คนที่พูด รบกวนลงมาทำ ซักประวัติ แยงจมูกคนไข้ อธิบายทำไมต้อง รอนานขนาดนี้ และถ้า PCR ผลกำกวมต้องทำใหม่ มิอาจเผลอหลุดคำพูดไม่สมควร"
ทั้งนี้ ชาวสังคมออนไลน์ต่างเข้าไปคอมเมนต์ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และบุคลากรทางการแพทย์ทุกๆ กระบวนการที่เกี่ยวข้อง ทั้งด่านหน้าที่มีหน้าที่คัดกรอง รักษาพยาบาล รวมถึงเจ้าหน้าที่ในแล็บที่ทำงานหนักไม่แพ้กันในทุกๆ วัน