เมื่อ “ไวรัสโคโรนา” แบ่งแยกคน สังคมจะเดินต่อไปอย่างไรในวิกฤตนี้
ในช่วงเดือนธันวาคม 2019 ทั่วโลกเริ่มได้ยินข่าวเกี่ยวกับ “เชื้อไวรัสโคโรนา” เชื้ออุบัติใหม่ที่เริ่มระบาดในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน พร้อมกับข่าวลือเรื่องสาเหตุของการเกิดไวรัสที่ค่อย ๆ คร่าชีวิตของคนในเมือง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการกินอาหารสุดพิสดารของชาวจีนบางกลุ่มที่ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ส่งผลให้เกิดการเหยียดชาวเอเชียกระจายไปทั่วโลก นอกจากนี้ ปัญหา “การเหยียด” ยังไม่ได้หยุดอยู่แค่การเหยียดเชื้อชาติเท่านั้น แต่ยังลุกลามเป็นการเหยียดคนในชาติเดียวกัน เช่น กรณีผีน้อยหรือแรงงานนอกระบบชาวไทยในเกาหลีใต้ ที่เดินทางหนีเชื้อไวรัสกลับมายังประเทศไทย แต่กลับถูกต่อต้านโดยประชาชนคนอื่น ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย
เมื่อเชื้อไวรัสไม่ได้ทำลายแค่สุขภาพ แต่ยังส่งผลไปถึงสังคมโดยรวม Sanook จึงขอมองปัญหาการเหยียดในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและในสังคมไทย เพื่อหาทางแก้ปัญหาให้มนุษย์ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ในภาวะวิกฤติเช่นนี้
การเหยียดกับโรคระบาด
หากย้อนมองโรคระบาดที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ บทเรียนที่เหลือไว้ให้มนุษย์ได้เรียนรู้คือ การจัดการการแพร่ระบาดของโรค ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของมนุษย์ในช่วงโรคระบาดที่ “เหยียด” เพื่อนมนุษย์ด้วยกันและนำไปสู่ความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Black Death ‘ห่าลง’ จีนถึงไทย ตายทั้งโลก” ยกตัวอย่างกรณีกาฬโรคที่ระบาดในช่วงยุคกลาง ซึ่งในบันทึกของชาวอิตาเลียนและเยอรมันระบุว่า โรคระบาดดังกล่าวแพร่มาทางเรือหรือจากทางตะวันออก ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีการตรวจหาเชื้อโรค คนทั่วไปจึงคิดว่าเป็นเรื่องของพระเจ้าลงโทษ และเกิดการเหยียดคนกลุ่มหนึ่งในสังคม นั่นคือ “คนยิว”
“พวกนั้นก็เอาคนยิวไปเผาทั้งเป็น เหมือนตอนล่าแม่มดเลย ตอนนั้นยังไม่มีการเหยียดผิว ก็เลยไม่ได้เหยียดคนผิวเหลือง ไม่ได้เหยียดคนผิวดำ แต่ไปลงที่ยิว” อาจารย์ศิริพจน์กล่าว
ปัญหาการเหยียดมีมาอย่างยาวนานและทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเกิดภาวะโรคระบาด ประเด็นนี้ อาจารย์เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่า เมื่อคนรวมตัวกันเป็นสังคม คนบางกลุ่มจะรู้สึกว่าอารยธรรม วัฒนธรรม หรืออัตลักษณ์ทางสังคมของตัวเองมีความเหนือกว่าผู้อื่น ซึ่งทำให้เกิดการดูถูกอัตลักษณ์ของสังคมหรือกลุ่มคนอื่น กระบวนการเหล่านี้เป็นเรื่องของทัศนคติที่ไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันเดียว แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ผ่านช่วงเวลาที่ยาวนาน ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น เกิดเป็นความเกลียดชังและพฤติกรรมการเหยียดที่แฝงเร้นอยู่ในจิตใจของคนในสังคม เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น โดยเฉพาะโรค COVID-19 ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน จึงทำให้หลายคนแสดงความรู้สึกที่ถูกเก็บไว้มานานออกมา
“เราต้องเข้าใจว่าการระบาดของโรคเป็นการระบาดที่ค่อนข้างรุนแรง แล้วก็เริ่มมีความหวาดกลัว ซึ่งจริง ๆ มันคือความหวาดกลัวต่อเชื้อโรค แต่บังเอิญเชื้อโรคมันถูกนำมาโดยมนุษย์ เพราะฉะนั้น เลยเข้าใจผิดว่ามนุษย์นั่นแหละคือปัญหา เมื่อความกลัวถูกบิดเบือนโดยทัศนคติที่อาจไม่ค่อยชัดเจน ก็เลยทำให้ความเกลียดชังพุ่งเป้าไปที่ตัวคน มากกว่าพุ่งเป้าไปที่สาเหตุของปัญหา ก็คือ เชื้อโรค” อาจารย์เอกพันธุ์กล่าว
สอดคล้องกับอาจารย์เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ชี้ว่า การเกิดโรคระบาดทำให้คนกลัวและเมื่อเกิดความกลัวหรือวิตกกังวล ก็ส่งผลให้เกิดความไม่สบายใจ จึงมีแนวโน้มที่คนบางส่วนจะโยนความวิตกกังวลไปให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง เพื่อขจัดความวิตกกังวลของตัวเอง
“ตอนนี้เราวิตกกังวล เรากลัวไปหมด มันกลัวจนถึงจุดที่จิตวิทยาจะใช้คำว่า “การกลัวความตาย” แล้วเราจัดการกับความรู้สึกการกลัวความตายนี้ ด้วยการโยนอะไรสักอย่างให้คนอีกกลุ่มหนึ่งเพื่อทำให้เรารู้สึกว่าจะสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้” อาจารย์เจนนิเฟอร์ชี้
COVID-19 สะท้อนปัญหาสังคมโลก
ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าปัญหาการเหยียดเชื้อชาติในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้มีรากฐานมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซาและปัญหาการว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น จึงนำไปสู่การโทษแรงงานต่างชาติและเกิดเป็นกระแสชาตินิยมใหม่ ที่เมื่อมาบรรจบกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา จึงทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งกว่าเดิม
“ในกรณีของสหรัฐอเมริกา รัฐบาลทรัมป์ก็มีนโยบายที่จะกีดกันแรงงานผิดกฎหมาย ต่อต้านคนที่เข้ามาในสหรัฐฯอย่างผิดกฎหมาย เพราะมันมีความเข้าใจของประชากรส่วนหนึ่งว่า ผู้อพยพหรือแรงงานอพยพเหล่านี้จะมาแย่งงานของคนอเมริกัน และทำให้เศรษฐกิจไม่ดี”
“ขณะที่ในอังกฤษ ก็เกิด Brexit ซึ่งประเด็นสำคัญที่ทำให้คนโหวตเอาอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปคือการเกลียดกลัวผู้อพยพ แรงงานจากต่างชาติที่เขาคิดว่าจะเข้ามาแย่งงานของคนอังกฤษ ดังนั้น มันก็เป็นกระแสต่อต้านแรงงานต่างชาติ และทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า การเกลียดกลัวคนต่างชาติ (Xenophobia) ขึ้นมาในอังกฤษ ในสหภาพยุโรปเองก็มีปัญหาเรื่องนี้ เพราะช่วงที่ผ่านมา สหภาพยุโรปประสบปัญหาผู้ลี้ภัยสงครามอย่างหนัก ขณะที่เยอรมนีมีนโยบายที่จะรับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ หลายประเทศในสหภาพยุโรปก็มีแนวโน้มที่จะต่อต้านไม่ต้องการรับผู้ลี้ภัย ประเด็นมันก็กลับไปที่เดิมคือเกลียดกลัวชาวต่างชาติจะเข้ามาแย่งงาน” ผศ.ดร.วาสนาอธิบาย
อาจารย์ศิริพจน์ก็ได้อธิบายถึงระบบความคิดแบบยุโรปเป็นศูนย์กลางหรือ Eurocentric ที่ยังมีอิทธิพลกับความคิดของคนในโลกตะวันตกอยู่แม้จะไม่ชัดเจนเหมือนในอดีตก็ตาม ประกอบกับการที่ประเทศจีนกลายมาเป็นคู่แข่งของโลกตะวันตก การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่ทรัมป์อ้างว่าจีนเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ หรือการผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าเศรษฐกิจของจีนในศตวรรษที่ 21 ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ กลัวว่าจีนจะมายึดครองเศรษฐกิจของตัวเอง ขณะที่ประชาชนในประเทศก็ได้รับการปลุกปั่น จึงกระพือกระแสความเกลียดกลัวคนจีนให้เกิดขึ้น ดังนั้น กระแสการเกลียดกลัวหรือต่อต้านคนจีนที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกมีมาก่อนการระบาดของไวรัสโคโรนา แต่มีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อบวกรวมกับเรื่องโรคภัยที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้
ไทยเหยียดไทย
ขณะที่สังคมโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเหยียดเชื้อชาติในช่วงสถานการณ์โรค COVID-19 สังคมไทยก็กำลังเผชิญกับปัญหาคนไทยเหยียดกันเอง โดยเฉพาะในกรณีของผีน้อย หรือคนที่เดินทางกลับบ้านเมื่อต้องสูญเสียรายได้จากมาตรการป้องกันการระบาดของโรค ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำและช่องว่างในสังคมที่ชัดเจน
กลุ่มผีน้อยหรือกลุ่มคนใช้แรงงานที่เดินทางกลับบ้านในช่วง COVID-19 คือตัวแทนของกลุ่มคนชนชั้นผู้ใช้แรงงานในสังคมไทยที่ตกเป็นจำเลยของสังคม ในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลที่ไม่สามารถดูแลคนกลุ่มนี้และครอบครัวของพวกเขาได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังสะท้อนว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมมองไม่เห็น “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่ใหญ่กว่าและแสดงพฤติกรรม “การด่า” อย่างรุนแรงในโลกออนไลน์
“สังคมไทยเป็นสังคมชอบหาแพะ เราชอบหาใครสักคนที่เราจะด่าได้ คือฉันอยากจะด่า ถ้าฉันด่าคนอื่น ฉันจะรู้สึกเหนือกว่าทางศีลธรรม แต่ถ้าฉันด่าคนที่มีอำนาจหรือสถานะสูงกว่าฉัน ฉันอาจจะดูไม่ดีหรือโดนรุมยำ ดังนั้น ฉันไปด่าคนที่ฉันรู้สึกว่าต่ำกว่าฉัน และฉันด่าได้โดยที่เขาไม่มีปากมีเสียงกลับมาทำร้ายฉันได้” ผศ.ดร.วาสนาชี้
ด้านอาจารย์เอกพันธุ์ก็มองว่าคนทั่วไปไม่สามารถโทษคนกลุ่มนี้ฝ่ายเดียว เนื่องจากมนุษย์เองก็ทำเรื่องผิดพลาดหลายอย่างด้วยความไม่รู้ ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นในสถานการณ์แบบนี้คือการสร้างความรู้ให้แก่คนในสังคม ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องมีมาตรการและวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน
“ภาครัฐต้องใช้ความรู้ เทคนิค วิธีการ รวมทั้งให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเป็นจริงอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อให้คนในสังคมมีภูมิคุ้มกัน คือเราไม่ได้มีภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสตัวนี้ แต่ขอให้คนในสังคมมีความรู้ มีข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้เราทะเลาะกันเอง หรือไม่ให้เราเกลียดชังกันเอง” อาจารย์เอกพันธุ์เสริม
ความเป็นมนุษย์ในยุคโรคระบาด
ในสถานการณ์โรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นใครหรือมีความแตกต่างหลากหลายมากน้อยแค่ไหน ทุกคนล้วนเป็นมนุษย์อยู่บนโลกใบนี้ ดังนั้น สิ่งที่เราทุกคนต้องทำคือ เราต้องมองเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของทุกคน ไม่มีใครเลือกจะติดโรค และเชื้อโรคเองก็ไม่ได้เลือกชาติพันธุ์ที่จะแพร่กระจายไป
“นักจิตวิทยาบางคนบอกว่าการที่เรามีอคติหรือความรู้สึกลบ ๆ ต่อคนกลุ่มหนึ่ง มันไม่ใช่เรื่องผิด มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น ก็คือความรู้สึกลบเหล่านั้นทำให้เกิดพฤติกรรมขึ้นมา เช่น การกีดกันหรือการใช้ความรุนแรง เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีความรู้สึกทางด้านลบ เราอาจจะโกรธ อาจจะกลัวคนกลุ่มหนึ่ง เราอาจจะต้องหาจุดที่จะจัดการกับความรู้สึกเหล่านั้น และไม่ทำให้กลายเป็นพฤติกรรมที่รุนแรงเกิดขึ้น” อาจารย์เจนนิเฟอร์แนะนำ
เช่นเดียวกับอาจารย์ศิริพจน์ ที่ชี้ว่าการเหยียดเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่ก็ไม่ควรเกิดขึ้น คนเราควรแยกเรื่องของโรคกับเชื้อชาติออกจากกัน เพราะเป็นคนละเรื่องกัน ความกลัวเป็นเรื่องปกติของสิ่งมีชีวิต แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องรู้จักจำแนกแยกแยะว่าสิ่งที่เรากลัวคือเชื้อโรค ไม่ใช่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง
“วิธีการลดความเกลียดชังของคนในสังคมก็คือต้องเห็นความเป็นเพื่อนมนุษย์ของกันและกันให้มาก เพราะว่าเราจะมีน้ำจิตน้ำใจต่อคนอื่น หรือเราจะรักษาสิทธิของผู้อื่น หรือเราจะเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ก็ต่อเมื่อเราเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน” อาจารย์เอกพันธุ์ชี้
ขณะที่ ผศ.ดร.วาสนา มองว่าการแก้ปัญหาเรื่องการเหยียดคือต้องปลูกฝังแนวคิดหรือค่านิยมในการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เกิดขึ้นในสังคมเสียก่อน เพราะเราทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน ไม่มีใครสมควรอดตายและไม่มีใครสมควรถูกละเมิด ซึ่งผศ.ดร.วาสนา ก็ยังไม่มั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถปลูกฝังค่านิยมดังกล่าวได้จริงหรือไม่
“เราไม่สามารถที่จะปลูกฝังความคิดเรื่องคนเท่ากันและเรื่องการเคารพศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์ได้ ถ้าเราไม่มีประชาธิปไตย ดังนั้น เราจะแก้ปัญหาการเหยียดไม่ได้ ตราบใดที่เรายังไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง” ผศ.ดร.วาสนากล่าวปิดท้าย