แนวทางใช้ชีวิต เมื่อ “ไวรัสโคโรนา” ระบาดทั่วโลก

แนวทางใช้ชีวิต เมื่อ “ไวรัสโคโรนา” ระบาดทั่วโลก

แนวทางใช้ชีวิต เมื่อ “ไวรัสโคโรนา” ระบาดทั่วโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขณะที่ “ไวรัสโคโรนา” แพร่ระบาดทั่วโลก ผู้คนต่างก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อชะลอการระบาดของเชื้อโรค ช่วยลดภาระงานในโรงพยาบาล และช่วยซื้อเวลาให้กับนักวิทยาศาสตร์ ที่พยายามพัฒนาการรักษาและวัคซีน และนี่คือข้อควรปฏิบัติที่แนะนำโดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ในการป้องกันตัวเองและดูแลคนในชุมชนของคุณ

1. ป้องกันการติดเชื้อ

ในสถานการณ์เช่นนี้ เราทุกคนมีโอกาสที่จะติดเชื้อและมีอาการป่วยเล็กน้อยได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพอยู่แล้ว ดังนั้น โอกาสที่เราจะรอดจึงขึ้นอยู่กับทุกคน และสิ่งที่เราสามารถทำได้มีดังนี้

  • ล้างมืออย่างถูกต้อง

เรารู้กันอยู่แล้วว่าการล้างมือเป็นวิธีการป้องกันเชื้อโรคที่ดีที่สุด โดยการล้างมือด้วยน้ำ ตามด้วยสบู่ และถูมือ ข้อมือ และเล็บเป็นเวลา 20 วินาที แต่ความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงคือ หลายคนสะบัดมือ ซึ่งที่จริงแล้วควรเช็ดมือด้วยกระดาษเช็ดมือ เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่ยังติดอยู่ และเมื่อเสร็จแล้ว ใช้ผ้าจับหัวก๊อกน้ำ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคกลับมาติดมืออีก นอกจากนี้ ควรล้างมือบ่อยๆ ซึ่งโดยทั่วไปอาจจะล้างมือก่อนออกจากบ้าน เพื่อปกป้องผู้อื่นและหลังจากเดินทางถึงจุดหมาย เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่มาจากที่จับประตู ปุ่มลิฟต์ หรือรถเข็นช้อปปิ้ง รวมทั้งล้างมือก่อน ระหว่าง และหลังจากเตรียมอาหาร ทำความสะอาดบ้าน เปลี่ยนผ้าอ้อมลูก หรือทิ้งขยะ หากไม่ได้อยู่ใกล้กับอ่างล้างมือ ให้ใช้เจลล้างมือแอลกอฮอล์ ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60% และถูมือด้วยวิธีการเดียวกับล้างมือด้วยสบู่

  • เลิกใช้มือสัมผัสใบหน้า

งานวิจัยระบุว่า การสัมผัสใบหน้าของคนเราเป็นรูปแบบหนึ่งของการปลอบประโลมตัวเอง เพราะฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่คุณต้องสัมผัสใบหน้า ใช้กระดาษทิชชูเช็ดตาและจมูกแล้วทิ้ง การใส่แว่นตา แต่งหน้า และสวมถุงมือก็ช่วยได้

  • ทำความสะอาดบ้าน

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อแนะนำว่า ระหว่างที่ทำความสะอาดบ้านรายวัน ให้เน้นทำความสะอาดที่จับประตู สวิตช์ไฟ รีโมทโทรทัศน์ ที่จับประตูตู้เย็นและไมโครเวฟ ตู้เก็บของและลิ้นชัก หัวก๊อกน้ำ และปุ่มชักโครก อย่างไรก็ตาม การล้างมือและการทำความสะอาดจุดที่มีคนจับเยอะๆ ก็เป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด แม้ไม่ใช่ในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา

  • ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เหมาะสม

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่า อุปกรณ์ทำความสะอาดทั่วไปก็สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้แล้ว เพราะฉะนั้น หากไม่สามารถหาซื้อน้ำยาทำความสะอาดที่ฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 99.9% ได้ การถูพื้นด้วยน้ำสบู่ก็สามารถกำจัดไวรัสโคโรนาออกจากพื้นผิวได้

  • ทำความสะอาดโทรศัพท์

ยังไม่มีรายงานว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสามารถแพร่กระจายบนสมาร์ทโฟนได้ และหากคุณล้างมือบ่อยๆ ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล อย่างไรก็ตาม Apple แนะนำให้เช็ดโทรศัพท์ด้วยไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ 70% ไม่ควรใช้น้ำยาฟอกขาวหรือน้ำยาอื่นๆ หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ร่วมกับผู้อื่น เพราะการจับโทรศัพท์ก็เหมือนจับมือกับคนอื่น รวมทั้งพยายามใช้หูฟังหรือฟังก์ชันลำโพง เพื่อไม่ให้โทรศัพท์สัมผัสกับใบหน้า

  • ปิดปากเมื่อไอหรือจาม

ดร.วิลเลียม พี ซอว์เยอร์ แพทย์จากชารอนวิลล์ โอไฮโอ และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ HenrytheHand.com เว็บไซต์เกี่ยวกับการล้างมือและการปฏิบัติด้านอนามัย แนะนำให้ฝึก “มารยาทด้านทางเดินหายใจ” ได้แก่ การใส่ใจเมื่อจะไอหรือจาม ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม ไม่ควรจามใส่มือเปล่า ควรใช้กระดาษทิชชูแทนผ้าเช็ดหน้าปิดปาก ทิ้งกระดาษและล้างมือให้สะอาดทันที หากไม่มีกระดาษทิชชู ให้จามใส่ข้อศอกด้านใน แม้ว่าเชื้อโรคจะติดแขนเสื้อ แต่ไม่ค่อยมีใครแตะต้นแขนของเรา และเชื้อโรคจะตายอย่างรวดเร็วเมื่ออยู่บนผ้ามากกว่าพื้นผิวแข็งอื่นๆ

  • รักษาระยะห่าง

วิธีการยอดฮิตของคนหมู่มากในเวลานี้คือ “การสร้างระยะห่างทางสังคม” (Social distancing) โดยพยายามอยู่ห่างจากคนอื่นประมาณ 6 ฟุต ในที่สาธารณะ เพื่อหลีกเลี่ยงละอองจากการไอหรือจาม (ละอองดังกล่าวสามารถกระจายในระยะทางประมาณนี้) หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนอยู่แออัด เช่น ที่ทำงาน บาร์ หรือรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่แนะนำวิธีการติดต่อเฉพาะเพื่อนที่ไว้ใจได้ เนื่องจากจะเป็นการสร้างวิธีการระบาดใหม่ จึงต้องมีการปิดโรงเรียน สถานที่ทำงาน และอีเวนต์สาธารณะต่างๆ

  • ออกจากบ้านเฉพาะที่จำเป็น

แม้ว่าทางการจะสั่งห้ามไม่ให้ออกจากบ้าน แต่คุณยังสามารถออกจากบ้านเฉพาะเมื่อมีธุระจำเป็นได้ รวมทั้งการเดินเล่นหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ครอบครัวควรได้ใช้เวลาร่วมกันในบริเวณบ้านหรือพื้นที่เปิด แต่ต้องหลีกเลี่ยงเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น และรักษาระยะห่างจากผู้อื่น

2. เตรียมตัวเองและครอบครัวให้พร้อม

คุณสามารถตุนอาหารและเสบียงต่างๆ ได้อย่างพอเหมาะ และทุกครอบครัวควรเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน

  • หยุดกักตุนอาหารและสิ่งของ

ผู้ที่ซื้อของด้วยความตื่นตระหนกมีแนวโน้มที่จะตบตีกับผู้อื่นเพื่อแย่งกระดาษทิชชู ขโมยของจากรถเข็นคนอื่น และแม้แต่ขโมยเจลล้างมือกับหน้ากากอนามัยจากโรงพยาบาล จึงควรทำข้อตกลงภายในชุมชนของคุณและกับตัวเองว่าจะไม่หยิบของแต่ละครั้งเกินกว่าที่จำเป็นต้องใช้ในช่วง 2 – 3 สัปดาห์ ให้มั่นใจว่าเมื่อชั้นวางของโล่ง จะมีสินค้ามาเติมเสมอ หากไม่มี ให้ถามทางร้านหรือร้านขายยาว่าสินค้าจะมาส่งอีกครั้งเมื่อไร จงจำไว้ว่า เมื่อคุณกักตุนสินค้า ผู้ที่มีกำลังน้อยกว่าคุณจะไม่สามารถซื้อสินค้าที่จำเป็นได้

  • ตุนอาหารอย่างถูกวิธี

ไม่ว่าจะชอบอาหารแบบไหน สิ่งสำคัญคือคุณต้องกินอาหารในปริมาณที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายแข็งแรง โดยการกินอาหารที่มีโปรตีน ผลไม้ และผัก การกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพจะส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของคุณทันที นอกจากนี้ ควรเตรียมเสบียงสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้พบสำหรับระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ และไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งหมดในคราวเดียว โดยเลือกอาหารแช่แข็ง อาหารกล่อง หรืออาหารกระป๋องที่มีอายุยาว ซื้ออาหารสดเฉพาะที่กินได้ในแต่ละวัน และเก็บอาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋องไว้สำหรับเหตุไม่คาดฝัน เช่น การกักตัวอยู่ในบ้าน 2 สัปดาห์ รวมทั้งวางแผนโภชนาการแต่ละวัน ให้มีทั้งโปรตีน ผัก ผลไม้ ธัญพืช และไขมันเล็กน้อย

  • อย่าลืมดูแลสัตว์เลี้ยง

คุณสามารถเตรียมอาหารสัตว์เลี้ยง ทรายแมว และยาสำหรับสัตว์เลี้ยง สำหรับระยะเวลา 2 สัปดาห์ รวมทั้งวางแผนฉุกเฉินสำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น ติดต่อเพื่อนสนิทที่สามารถช่วยดูแลสัตว์เลี้ยงในกรณีฉุกเฉิน และแผนสำรองสำหรับการพาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่น

  • เตรียมเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้

เนื่องจากอาการเป็นไข้ถือเป็นอาการโดยทั่วไปของไวรัสโคโรนา จึงจำเป็นต้องมีเทอร์โมมิเตอร์ติดบ้านไว้อยู่เสมอ และต้องทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ก่อนใช้งาน

  • รู้จักโรงพยาบาลเอาไว้

สำหรับกรณีฉุกเฉิน คุณจำเป็นต้องรู้ว่าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ไหน โรงพยาบาลแห่งนั้นอยู่ในสิทธิประกันสังคมหรือไม่ รวมทั้งอาจจะซ้อมเดินทางจากบ้านไปยังโรงพยาบาล และสำรวจว่าห้องฉุกเฉินไปทางไหน

  • ทำความรู้จักเพื่อนบ้าน

พูดคุยกับเพื่อนบ้านเกี่ยวกับวิธีการรับมือกับความกังวลเรื่องไวรัส รวมทั้งแลกเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ เผื่อในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายต้องการให้รับจดหมายแทนหรือดูแลสัตว์เลี้ยงแทน เมื่อมีอาการป่วยหรือต้องเดินทางออกจากบ้านเป็นเวลานาน

  • เตรียมกระเป๋าสำหรับเหตุฉุกเฉิน

เตรียมแพคของที่จำเป็นใส่ในกระเป๋า เช่น แปรงสีฟัน น้ำดื่ม ขนม ที่ชาร์จโทรศัพท์ และหน้ากากอนามัย เพื่อให้สามารถออกจากบ้านได้ทันทีในกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งจัดเตรียมเอกสารสำคัญให้สามารถหยิบได้ง่าย เช่น พาสปอร์ต สูติบัตร บัตรประกันสังคม เอกสารเกี่ยวกับประกันชีวิต บัตรที่แสดงเกี่ยวกับยา อาการแพ้ หรือโรคประจำตัว รายการยา ข้อมูลติดต่อครอบครัวและตัวแทนสุขภาพต่างๆ

  • อัพเดตเอกสารเกี่ยวกับการเสียชีวิต

การจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตล่วงหน้าจะช่วยลดภาระของคนข้างหลังได้มาก เอกสารเหล่านี้ได้แก่ ข้อมูลติดต่อตัวแทนด้านสุขภาพ แบบฟอร์มแต่งตั้งผู้ที่สามารถตัดสินใจในเรื่องสุขภาพของคุณในกรณีที่จำเป็น และพินัยกรรมชีวิต (living will) ที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจว่าจะรับการรักษาลักษณะใดก่อนจะจบชีวิต และจัดทำสำเนาเอกสารเหล่านี้ให้เพื่อนและครอบครัวเก็บไว้ รวมทั้งจัดทำเป็นไฟล์ดิจิทัลเก็บไว้เองด้วย นอกจากนี้ คุณสามารถช่วยเพื่อน สมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ในการจัดเตรียมเอกสารเหล่านี้ได้ด้วย

3. อยู่แต่ในบ้าน

เนื่องจากการระบาดของไวรัสทำให้ทุกคนต้องอยู่แต่ในบ้าน นอกจากการเก็บตัวอยู่ในบ้านและเว้นระยะห่างทางสังคมเมื่อจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ยังมีข้อควรปฏิบัติเพิ่มเติม ดังนี้

  • อย่าลืมออกกำลังกาย

การออกกำลังกายจะเป็นประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย แต่เมื่อคุณไม่สามารถเดินทางไปทำงานหรือเข้ายิมได้ จึงอาจจะต้องหาวิธีออกกำลังกายภายในบ้าน โดยดูจากออนไลน์ การเดินหรือจ็อกกิ้งกลางแจ้งก็เป็นวิธีที่ปลอดภัย แต่ต้องรักษาระยะห่างจากคนอื่นๆ

  • สร้างตารางเวลา

สำหรับผู้ที่ทำงานจากที่บ้าน ควรรักษาระบบการทำงานแต่ละวันให้เหมือนกับอยู่ที่ออฟฟิศ นอกจากนี้ ตารางเวลายังช่วยให้คุณสามารถหยุดพัก รักษาเวลาที่จะอยู่กับครอบครัว และหลีกเลี่ยงการทำงานที่บ้านในช่วงวันหยุด ลูกๆ ก็ควรจะมีตารางเวลาที่ตรงกับคุณให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากเป็นวันธรรมดา ให้ตื่นเวลาเดิม อาบน้ำแต่งตัวในชุดธรรมดา จัดรายการภารกิจที่ต้องทำแต่ละวัน และตั้งเวลาทำงาน โดยสร้างตารางแบบเดียวกันให้กับลูกๆ จัดช่วงพักกินอาหารกลางวัน หากมีลูก ให้จัดช่วงเวลาพักผ่อนนอกบ้าน รวมทั้งมีเวลาดื่มกาแฟและยืดเส้นยืดสาย เลิกงานให้ตรงกับเวลาปกติ และอย่าลืมว่าคุณมีวันหยุด

  • ใช้วีดิโอแชทในการพูดคุยกับคนอื่นๆ

คุณสามารถใช้แอปพลิเคชันต่างๆ เช่น FaceTime, Zoom, Google Hangouts หรือ Skype ในการติดต่อกับคนอื่นๆ และปล่อยให้ลูกๆ ได้ใช้ช่องทางดิจิทัลเหล่านี้ในการพูดคุยกับเพื่อนๆ

  • สร้างความยืดหยุ่นโดยการช่วยเหลือผู้อื่น

การผ่านพ้นภาวะวิกฤตจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น ซึ่งคุณสามารถสร้างความยืดหยุ่นได้ด้วยการช่วยเหลือผู้อื่น เช่น แบ่งปันสิ่งของ ช่วยเหลือผู้สูงอายุโดยการอาสาออกไปซื้อของให้ สอนผู้สูงอายุให้ใช้วีดิโอแชทต่างๆ หรือโทรหาเพื่อเช็คความเป็นอยู่ เป็นต้น

4. ทำอย่างไรเมื่อมีอาการป่วย

หลายคนอาจจะมีอาการป่วยเล็กน้อยและอาจจะรู้สึกไม่สบายใจและไม่มั่นใจว่าควรไปพบแพทย์หรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำดังนี้

  • สังเกตอาการ

อาการทั่วไปของโรค Covid-19 ในผู้ใหญ่ จะประกอบด้วยอาการไอ เป็นไข้ และหายใจติดขัด บางคนเจ็บคอและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งคล้ายกับอาการหวัด บางคนมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งอาการแปลกๆ เช่น สูญเสียการรับกลิ่นและรส ดังนั้นจึงควรวัดอุณหภูมิร่างกายบ่อยๆ นอกจากนี้ อาการของ COVID-19 จะต่างจากหวัดธรรมดาและภูมิแพ้ คือหวัดจะภูมิแพ้จะมีน้ำมูกและจาม

  • ไม่ต้องรีบไปแผนกฉุกเฉิน

แผนกฉุกเฉินในโรงพยาบาลจะเต็มไปด้วยผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ และแพทย์ที่ทำงานหนัก ไม่ใช่ที่ที่คุณควรจะไป และหากคุณเข้าไปโดยไม่จำเป็น ก็จะทำให้บุคลากรเหล่านี้ต้องหันมาดูแลคุณ แทนที่จะเป็นผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ดังนั้น ก่อนจะไปถึงแผนกฉุกเฉิน ให้ถามตัวเองว่า “ควรจะไปแผนกฉุกเฉินในขณะที่มีอาการอยู่ในระดับปกติหรือไม่” ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่จำเป็น เพราะอาการไอ เป็นไข้ เจ็บคอ และมีน้ำมูก แทบจะไม่เป็นอาการที่ต้องเข้าห้องฉุกเฉิน แม้จะเกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาก็ตาม ดังนั้น หากมีอาการน่าสงสัย อาจจะโทรไปสอบถามโรงพยาบาล ก่อนที่จะเดินทางไปก็ได้

  • รู้จักสัญญาณอาการป่วยที่ต้องระวัง

อาการป่วยที่ C.D.C. แนะนำให้ต้องไปแผนกฉุกเฉินได้แก่ หายใจลำบาก เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอกอย่างต่อเนื่อง มีอาการสับสนหรือไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น ใบหน้าและริมฝีปากมีสีคล้ำ สำหรับผู้ที่มีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ รวมทั้งผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืด โรคปอด หรือมีประวัติเป็นโรคปอดอักเสบ โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ผู้ที่กินยาอยู่แล้ว หรือผู้ที่ผ่านการรักษาโรคมะเร็ง จะเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญ และต้องแจ้งอาการกับแพทย์ก่อน

  • การเดินทางไปโรงพยาบาล

ควรวางแผนการเดินทางไปยังโรงพยาบาลก่อนจะป่วย หากมีสมาชิกในครอบครัวสามารถขับรถได้จะดีมาก ระหว่างเดินทางให้เปิดกระจก สวมหน้ากาก และไอใส่กระดาษทิชชู เพื่อไม่ให้ผู้อื่นติดเชื้อ ไม่ควรเรียกแท็กซี่หรือรถโดยสาร หากไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้เอง ควรเรียกรถพยาบาล และสวมหน้ากากอนามัยก่อนไปโรงพยาบาล

  • การดูแลผู้ป่วย COVID-19

การดูแลผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการเพียงเล็กน้อย ใช้วิธีเดียวกับการดูแลผู้ป่วยไข้หวัด โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน หากมีอาการคล้ายกับติดไวรัส แต่ยังไม่ได้รับการตรวจ ให้สันนิษฐานว่าติดเชื้อแล้ว และต้องกักตัว ผู้ป่วยต้องกินอาหารอ่อน กินยาแก้ไอ และยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ วัดอุณหภูมิร่างกายบ่อยๆ หากผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรง ไม่สามารถกิน ดื่มน้ำ หรือเข้าห้องน้ำได้ ให้รีบปรึกษาแพทย์

ผู้ป่วยจะต้องแยกตัวอยู่ในห้องโดยติดต่อหรือสัมผัสผู้อื่นให้น้อยที่สุด หรือไม่สัมผัสเลย (รวมทั้งไม่สัมผัสสัตว์เลี้ยง) และใช้ห้องน้ำแยก หากเป็นไปได้ หรือหากต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ให้ทำความสะอาดหลังการใช้ รวมทั้งสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในบ้าน นอกจากนี้ ต้องทำให้พื้นที่ส่วนกลางในบ้านมีอากาศไหลเวียน อาจจะเปิดเครื่องปรับอากาศหรือเปิดหน้าต่าง ไม่ใช้จานชาม ผ้าเช็ดตัว หรือผ้าปูที่นอนร่วมกับผู้ป่วย สวมถุงมือเมื่อต้องทำความสะอาดส่วนต่างๆ ภายในบ้าน ที่มีคนจับตลอด และสมาชิกภายในบ้านต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน

  • ระยะเวลาในการฟื้นตัว

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่พักอยู่ที่บ้านจะมีอาการดีขึ้นภายในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่มีอาการหนัก ที่พักอยู่ทั้งที่บ้านและโรงพยาบาลจะใช้เวลานานกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อร่างกายฟื้นตัวแล้วจะสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ ผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ก็ต่อเมื่อผลตรวจเป็นลบทั้ง 2 ครั้ง โดยห่างกัน 24 ชม. นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าผู้ป่วยควรแยกตัวอีก 14 วัน หลังจากที่หายแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook