วิษณุ ลั่น! ปรับแผนส่งหน้ากากอนามัย 2.3 ล้านชิ้น ให้สาธารณสุข-มหาดไทย เริ่ม 5 โมงเย็นวันนี้
วันนี้ (30 มี.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่ประชุมได้วางแนวทางปฏิบัติในเรื่องแผนการกระจายหน้ากากอนามัยไปยังทั่วประเทศแบบใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการกล่าวถึงจำนวนตัวเลขหน้ากากอนามัยที่อยู่ในสต็อก 200 ล้านชิ้นว่า เพื่อประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ตัวเลขทั้งหมดนั้นผิดพลาด
จึงมีการประเมินและทำแผนการกระจายหน้ากากใหม่อีกครั้ง โดยระบุว่า ปัจจุบันโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย 11 แห่ง จากเดิมที่จะทยอยยุติผลิตชั่วคราวบางแห่ง แต่ที่สุดหลังจากมีการพูดคุยทำความเข้าใจกันเรียบร้อยแล้ว จะกลับมาผลิตทั้งหมด ส่งผลให้มีกำลังการผลิตรวมวันละ 2.3 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นราว 1 ล้านชิ้น จากเดิมที่สามารถผลิตได้วันละ 1.2 ล้านชิ้น
ดังนั้นจึงมีการกำหนดแผนการกระจายหน้ากากอนามัยใหม่ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 17.00 น. ของวันนี้เป็นต้นไป โดยให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ทำหน้าที่จัดส่งหน้ากากอนามัยไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะแบ่งโควตาออกเป็น 2 แห่งหลักๆ ดังนี้
- ส่วนแรกจัดส่งไปให้กระทรวงสาธารณสุข จำนวนรวม 1.3 ล้านชิ้น ซึ่งในโควตานี้จะถูกกระจายไปยังบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลประจำจังหวัดต่างๆ โดยจะมีการบันทึกรายชื่อผู้รับ-ผู้ส่งอย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้
- ส่วนที่เหลือรวมอีก 1 ล้านชิ้นจะจัดส่งไปให้กระทรวงมหาดไทย ซึ่งในโควตานี้จะถูกกระจายไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานครก็รวมอยู่ในโควตานี้ด้วย เพื่อส่งต่อไปให้กลุ่มที่ต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยง เช่น อสม. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ที่ต้องให้บริการประชาชนในสถานที่ราชการ พนักงานเก็บขยะ รวมถึงกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้มีโรคประจำตัว เป็นต้น
“ตั้งแต่ 5 โมงเย็นวันนี้ รถไปรษณีย์จำนวน 40 คัน จะเริ่มนำสินค้า (หน้ากากอนามัย) จากหน้าโรงงานไปสู่ทุกจังหวัด ช่วงระยะเวลา 3-4 วันนี้ จะต้องดำเนินการในลักษณะนี้ไปก่อน ซึ่งเมื่อหน้ากากอนามัยมีเพียงพอเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้ไปสักระยะหนึ่งแล้ว จากนั้นจะค่อยกระจายไปให้ประชาชน และร้านค้าทั่วไป” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
พร้อมกับยืนยันว่า จะไม่มีการส่งออกหน้ากากอนามัยไปต่างประเทศ เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุม แต่การจะส่งออกหน้ากากอนามัยไปต่างประเทศได้นั้นอยู่ภายใต้ข้อยกเว้น 3 กรณี คือ
- เป็นการผลิตที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ (BOI)
- มีข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญากับต่างประเทศ
- มีข้อตกลง FTA ระหว่างประเทศที่ให้ผลิตและส่งออกได้
ทั้งนี้ สำหรับภาคเอกชนที่ต้องการนำเข้า หน้ากากอนามัย เครื่องมือ เวชภัณฑ์ ยา เพื่อใช้ในการป้องกันและรักษาโควิด-19 ในประเทศนั้น ขณะนี้ กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ได้ออกประกาศยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าสำหรับหน้ากากเป็น 0 ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ส่วนน้ำยา เวชภัณฑ์ ยา เครื่องมือ เครื่องใช้เครื่องตรวจ ก็กำลังจะมีการยกเว้นภาษีเช่นกัน โดยกำลังอยู่ระหว่างจัดทำรายการระหว่างกรมศุลกากรกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้สามารถนำเข้าสิ่งเหล่านี้ได้
นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังกล่าวถึงเรื่องที่เอกชนจะนำเข้าหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ยา เครื่องมือเครื่องใช้ผลิตภัณฑ์ เครื่องตรวจ ซึ่งเดิมปกติการนำเข้าดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ใช้เวลาในการตรวจสอบ 1 เดือน แต่ปัจจุบันด้วยสถานการณ์โควิด-19 การตรวจสอบดังกล่าว อย. จะใช้เวลาไม่เกิน 1 วัน และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ใช้เวลาตรวจอีกไม่เกิน 4 วัน รวมเป็น 5 วัน ก็สามารถปล่อยสิ่งของดังกล่าวออกมาได้