5 สิ่งที่ผู้หญิงต้องเจอในช่วงไวรัสโคโรนา

5 สิ่งที่ผู้หญิงต้องเจอในช่วงไวรัสโคโรนา

5 สิ่งที่ผู้หญิงต้องเจอในช่วงไวรัสโคโรนา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศจีน ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากมายทั่วเอเชีย และกำลังแพร่กระจายไปทั่วโลก ไม่เพียงแต่ต้องต่อสู้ในด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากชื้อไวรัสดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั่วเอเชีย และ “ผู้หญิง” ก็เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

“ช่วงเวลาวิกฤติทำให้ความไม่เท่าเทียมทางเพศรุนแรงมากกว่าเดิมเสมอ” มาเรีย ฮอลท์สเบิร์ก ที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงสาธารณภัยและมนุษยธรรมของ UN Women Asia-Pacific กล่าว

นี่คือ 5 สิ่งที่ผู้หญิงในเอเชียจำเป็นต้องแบกรับในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา

1. โรงเรียนปิด

“ฉันต้องอยู่บ้านกับลูก ๆ มา 3 สัปดาห์แล้วค่ะ พูดตรง ๆ ฉันอยากกลับไปทำงานที่สำนักงาน เพราะพออยู่บ้าน ฉันไม่มีสมาธิทำงานเลย แต่สามีของฉันเป็นคนหาเงินเข้าบ้าน และเขาเองก็ไม่สามารถขอหยุดได้” ซอง โซยัง นักข่าวและแม่ลูก 2 เล่า

มาตรการปิดโรงเรียนส่งผลกระทบต่อคุณแม่หลายคนในประเทศทางเอเชียตะวันออก เพราะพวกเธอต้องแบกรับภาระมากมายภายในบ้าน และเธอยังได้บอกว่าเธอรู้สึก “ซึมเศร้า” แต่เธอก็พยายามทำงานให้เสร็จในขณะที่ลูกของเธอนอนกลางวัน ซึ่งสถานการณ์ของเธอเป็นภาพสะท้อนของความไม่เท่าเทียมทางเพศในด้านการทำงานของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งในปี 2020 สภาเศรษฐกิจโลกได้จัดลำดับการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในภาคเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ให้อยู่ในลำดับที่ 127 จากทั้งหมด 155 ประเทศ และในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ก็ทำให้หลายบริษัทตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานผู้หญิงที่ไม่สามารถไปทำงานที่สำนักงานได้ เพราะต้องดูแลลูกขณะโรงเรียนปิด

“หลาย ๆ บริษัทไม่พูดหรอก แต่พวกเขายังเห็นว่าแม่ที่ไปทำงานเป็นภาระ และจิตวิญญาณของการแข่งขันที่น้อยลง อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณไม่มีลูก คุณก็เข้าสำนักงานได้มากกว่า” เธอกล่าว

รัฐบาลญี่ปุ่นได้แถลงว่าจะจ่ายเงินให้พนักงานที่ต้องลางานเพื่อดูแลลูก ๆ เพราะโรงเรียนปิด เพิ่มขึ้นอีก 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อวัน ศูนย์เลี้ยงเด็กและชมรมหลังเลิกเรียนได้รับการยกเว้นจากมาตรการปิดโรงเรียนเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ แต่ก็ทำให้เกิดคำถามถึงประสิทธิภาพของการประกาศปิดเมือง

“การสั่งปิดโรงเรียนไม่ช่วยให้หยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส แต่เป็นการเพิ่มภาระให้กับเหล่าคุณแม่ที่ต้องออกไปทำงาน มันเป็นความท้าทายสำหรับธุรกิจของฉัน ฉันไม่ได้รับความช่วยเหลือสำหรับความเสียหายทางธุรกิจเหมือนกับบริษัทใหญ่ ๆ” นัทซึโกะ ฟูจิมากิ ทาเกะอูชิ เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กแสดงความคิดเห็น

2. ความรุนแรงในครอบครัว

คนจีนหลายล้านคนต้องกักตัวเองอยู่ภายในที่พักอาศัย นักสิทธิมนุษยชนชี้ว่าในช่วงการกักตัว ความรุนแรงในครอบครัวก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

เกาจิง นักสิทธิมนุษยชนที่เพิ่งย้ายไปอยู่ที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นต้นกำเนิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2019 เล่าว่า เธอได้รับการแจ้งจากเด็ก ๆ ที่อยู่ในเมืองว่าเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวซึ่งเกิดจากพ่อกับแม่ของพวกเขา ซึ่งพวกเขาไม่รู้เลยว่าต้องไปขอความช่วยเหลือจากใคร

เสียวลี่ นักสิทธิมนุษยชนชาวจีนที่อาศัยอยู่ในมณฑลเหอหนาน โพสต์ข้อความลงในโซเชียลมีเดียว่าเธอเป็นกังวลหลังจากที่ญาติขอเธอถูกสามีเก่าของเธอทำร้ายและร้องขอความช่วยเหลือ

“ตอนแรก เราพบว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะขออนุญาตให้เธอเดินทางออกจากหมู่บ้านของเธอ แต่ในท้ายที่สุด ตำรวจก็อนุญาตให้เข้าออกหมู่บ้านได้ พี่ชายของฉันจึงสามารถขับรถไปหาเธอและลูก ๆ ของเธอได้” เธอกล่าว

เมื่อมีการรายงานความรุนแรงในครอบครัวบนโลกโซเชียลมีเดีย ผู้หญิงหลายคนก็ได้โพสต์ข้อความขอให้ทุกคนช่วยกันลดความรุนรงในครอบครัว ด้วยการเข้าไปห้ามและไม่ยืนมองอยู่เฉย ๆ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ได้ก่อให้เกิด #AntiDomesticViolenceDuringEpidemic ซึ่งมีการพูดคุยกับมากกว่า 3,000 ครั้งบน Sani Weibo

เฟิงหยวน ผู้อำนวยการของมูลนิธิสิทธิสตรีเว่ยปิงในปักกิ่ง เล่าว่าองค์กรของเธอได้รับแจ้งจากเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวในช่วงกักตัวมากกว่าช่วงเวลาปกติถึง 3 เท่า

“ตำรวจไม่ควรใช้ข้ออ้างการระบาดของโรคเพื่อละเลยปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” เธอกล่าว

3. บุคลากรทางการแพทย์แนวหน้า

ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก บุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกเป็นผู้หญิงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สื่อของจีนได้นำเสนอเรื่องราวน่าชื่นชมใน “ความใจบุญ” และ “ท่าทางนักรบ” ของเหล่าพยาบาลผู้หญิงที่ทำงานอยู่แนวหน้า แต่ชึวิตจริงของบุคลากรทางการแพทย์ผู้หญิงเหล่านี้เป็นอย่างไรกันแน่

พยาบาลคนหนึ่งเล่าว่าเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลไม่ได้รับอนุญาตให้กิน พักผ่อน หรือใช้ห้องน้ำในช่วงการขึ้นเวรที่กินเวลากว่า 10 ชั่วโมง และในขณะที่ต้องทำตามกฎระเบียบของโรงพยาบาล ผู้หญิงก็ต้องเผชิญหน้ากับการเลือกปฏิบัติมากกว่าเดิม

เจียง จินจิน ผู้หญิงที่อยู่เบื้องหลังโครงการ Coronavirus Sister Support ซึ่งพยายามส่งมอบผลิตภัณฑ์สุขอนามัยของผู้หญิงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในมณฑลหูเป่ย ได้ให้สัมภาษณ์กับ Sixth Tone ว่าความต้องการเรื่องประจำเดือนของผู้หญิงกำลังถูกมองข้าม

“เราได้ส่งมอบกางเกงอนามัย 481,377 ชิ้น กางเกงชั้นในใช้แล้วทิ้ง 303,939 ชิ้น และผ้าอนามัย 86,400 ชิ้น ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์” จินจินโพสต์บนโซเชียลมีเดีย และชี้ว่ามีคนไม่มากที่จะคิดถึงการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยของบุคลากรทางการแพทย์ผู้หญิงกว่าหมื่นคนที่กำลังทำงานต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนา

4.แม่บ้านแรงงานข้ามชาติ

ผู้หญิงกว่า 400,000 คนทำงานเป็นแม่บ้านอยู่ในฮ่องกง ส่วนใหญ่มาจากประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ผู้หญิงเหล่านี้กำลังเผชิญหน้ากับความกังวลเรื่องสถานะการทำงานที่ไม่แน่นอนของตัวเอง พร้อมกับความสามารถในการหาสิ่งของเพื่อใช้ป้องกันตัวเองในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เช่น หน้ากากอนามัย และเจลล้างมือ

“ความต้องการซื้อหน้ากากอนามัยที่มีมากขึ้น ทำให้ราคาของมันสูงขึ้นกว่าเดิม จนผู้หญิงที่ทำงานเป็นแม่บ้านเหล่านี้ไม่สามารถซื้อได้” ซินเธีย แอบดอน-เทลเลซ ผู้จัดการทั่วไปของมูลนิธิ Mission for Migrant Workers ในฮ่องกงกล่าว

“ไม่ใช่แม่บ้านทุกคนจะได้รับหน้ากากอนามัยจากนายจ้าง เราต้องใช้เงินซื้อเองและมันก็แพงมาก ๆ บางคนที่ได้รับหน้ากากจากนายจ้าง ก็จะใช้หน้ากากอันเดิมทั้งสัปดาห์” แม่บ้านชาวอินโดนีเซียคนหนึ่งเล่า

แอบดอน-เทลเลซชี้ว่ามูลนิธิของเธอได้เริ่มรวบรวมหน้ากากอนามัยเพื่อมอบให้กับแม่บ้านที่ไม่ได้รับหน้ากากอนามัยจากนายจ้างของพวกเธอ

“สถานกงสุลอินโดนีเซียมอบหน้ากากให้ แต่มันก็ยังไม่เพียงพอ เราต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อรับหน้ากาก 3 ชิ้น เราต้องการหน้ากากอนามัยอย่างน้อย 6 ชิ้นสำหรับ 1 สัปดาห์ ” ซริง ซริงกาติน ประธานสมาคมแรงงานข้ามชาติในฮ่องกงชี้

คำแนะนำของรัฐบาลฮ่องกงได้สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มแม่บ้านแรงงานข้ามชาติในเมือง รัฐบาลได้ขอร้องให้ทุกคนอยู่ในบ้านในวันหยุดเพียง 1 วันต่อสัปดาห์ของพวกเขา เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการติดโรค นโยบายนี้ได้พรากช่วงเวลาพบปะกันของผู้หญิงที่อยู่ห่างไกลจากครอบครัวและคนที่พวกเธอรัก และทำให้พวกเธอต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงจากการถูกเอาเปรียบ

“แม่บ้านแรงงานข้ามชาติที่ต้องอยู่บ้านในวันหยุดของพวกเธอเพราะออกไปไหนไม่ได้นั้น ก็ยังต้องทำงาน พวกเธอต้องทำอาหารให้นายจ้าง ดูแลลูกหรือพ่อแม่ของนายจ้างโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน และคนที่ยืนยันว่าจะใช้วันหยุดก็จะถูกข่มขู่ว่าจะไล่ออก” ซริงกาติกล่าว

ไม่ใช่แค่ผู้หญิงกลุ่มนี้เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่มีคนอีกหลายล้านคนที่ต้องพึ่งพิงเงินเดือนที่พวกเธอส่งกลับบ้านในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ในปี 2019 แรงงานข้ามชาติชาวฟิลิปปินส์ส่งเงินกลับประเทศกว่า 25.7 ล้านยูโร ซึ่งถือเป็น 9 เปอร์เซ็นต์ของ GDP และผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนาก็มีแนวโน้มว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศฟิลิปปินส์เช่นกัน

5.ผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะยาว

นักเศรษฐศาสตร์และรัฐบาลในหลายประเทศต่างคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตในอัตราที่ช้ามากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

“โดยภาพรวม ไวรัสโคโรนาส่งผลกระทบต่อการเดินทาง การผลิตและการบริโภค ซึ่งส่งผลในหลายภาคส่วนต่อทั้งผู้หญิงและผู้ชาย” คริสตินา มักส์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอนชี้

“อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการบริโภคที่ค่อย ๆ ลดน้อยลงเพราะพวกเธอมักจะทำงานบริการ ร้านขายปลีก หรืออุตสาหกรรมการบริการอื่น ๆ ในขณะที่ประเทศจีน ผู้หญิงหลายคนไม่ได้ทำสัญญาทำงาน การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาก็แปลว่าพวกเธอจะไม่ได้รับค่าจ้าง ถ้าพวกเธอไม่ได้ทำงาน พวกเธอก็ไม่มีเงิน เมื่อไม่มีประกันสังคมรองรับ พวกเธอก็ต้องเผชิญหน้ากบภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่าจะกลับไปทำงานและมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อโรคหรือจำเป็นต้องจ่ายค่าที่อยู่อาศัย อีกทางเลือกหนึ่งคือพวกเธอต้องอยู่บ้านและใช้เงินเก็บของพวกเธอเอง ซึ่งนั่นทำให้พวกเธอต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ยากลำบาก” เธอกล่าว

โรงงานเสื้อผ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางโรงงานก็ต้องปิดตัวลงเพราะจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบจากประเทศจีน สอดคล้องกับรัฐบาลพม่า ที่ชี้ว่ามากกว่า 10 โรงงานต้องปิดตัวลงไปตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงแม้รัฐมนตรีแรงงานจะบอกว่าเกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนาก็ตาม

“ฉันไม่อยากได้ค่าตอบแทนใด ๆ ฉันแค่อยากได้งานที่โรงงานกลับคืนมา” มา ชิตซู บอก ซึ่งครอบครัวของเธอพึ่งพารายได้ของเธอจากงานในโรงงานเสื้อผ้าที่เพิ่งปิดตัวไป

จากมุมมองของ UN Women ชี้ว่ามีผู้หญิงจำนวนมากที่ต้องทุกข์ทนกับผลกระทบครั้งใหญ่นี้ รวมไปถึงลูกจ้างรายวัน เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก และผู้หญิงที่เป็นแรงงานนอกระบบ

“ผู้หญิงสวมบทบาทที่จำเป็นในการต่อสู้กับการแพร่ระบาด ทั้งในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย ผู้ประสานงานชุมชน ผู้สร้างสันติภาพในชุมชน ผู้เชื่อมโยง และผู้ดูแล ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องรับฟังเสียงของผู้หญิง” โมฮัมมัด นาซิรี ผู้อำนวยการภูมิภาคของ UN Women Asia-Pacific กล่าวปิดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook