4 ความสดใสในช่วงมืดมนจากสถานการณ์โรค “COVID-19”

4 ความสดใสในช่วงมืดมนจากสถานการณ์โรค “COVID-19”

4 ความสดใสในช่วงมืดมนจากสถานการณ์โรค “COVID-19”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาที่กำลังเป็นปัญหาของทุกประเทศทั่วโลก มีการส่งต่อข้อมูลข่าวสารอย่างมากมายในโลกอินเตอร์เน็ต ความเปลี่ยนแปลงมากมายค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาในชีวิตคนเรา ทำให้สิ่งที่เราเคยรู้จักกำลังจะเปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของคนในสังคมไม่มากก็น้อย

“ในช่วงเวลานี้ ทุกสิ่งช่างน่าเจ็บปวดรวดร้าวและยากลำบากไปหมด เราไม่รู้เลยว่าอีกด้านหนึ่งของมันจะเป็นอย่างไร” เจเรมี ออร์ตแมน ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตในนิวยอร์กกล่าว

เจเรมี่และผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ แสดงความคิดเห็นว่า การใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนและน่าหวาดกลัวนั้น สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่าจะมีเรื่องดี ๆ ซ่อนอยู่เสมอและต้องรักษาแสงสว่างแห่งความหวังนั้นเอาไว้ “เมื่อไรก็ตามที่ผมถามผู้คนว่าอะไรเป็นสิ่งที่พวกเขาภาคภูมิใจมากที่สุด คำตอบมักจะเชื่อมโยงอยู่กับช่วงเวลาที่เจ็บปวดหรือทุกข์ยาก และพวกเขาก็สามารถก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้” เจเรมี่เล่า

แล้วเราจะมีวิธีมองโลกในแง่บวกในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของสถานการณ์ไวรัสโคโรนาอย่างไร นี่เป็น 4 วิธีคิดที่เราทุกคนสามารถทำได้

ทุกคนต่างมีน้ำใจให้กัน

ไม่บ่อยนักที่เรื่องของน้ำจิตน้ำใจและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจะถูกหยิบยกมาพูดถึง อาจเป็นเพราะในช่วงเวลาเช่นนี้ ผู้คนเริ่มทำดีต่อกันมากขึ้น หรือไม่ก็เป็นเพราะเราเริ่มมองเห็นมันมากกว่าเดิม ผู้คนเริ่มร้องเพลงขับกล่อมเพื่อนบ้านห้องตรงข้าม สถานสงเคราะห์สัตว์ไร้เจ้าของมีผู้ติดต่อขอรับเลี้ยงสัตว์มากขึ้น เกิดอาสาสมัครซื้อข้าวของให้คนในละแวกบ้าน ในเมืองก็เริ่มโครงการแจกอาหารให้คนไร้บ้าน และร้านค้าต่าง ๆ ก็จัดสรรช่วงเวลาให้กับผู้สูงอายุได้เข้ามาซื้อของ

ขณะที่อุปกรณ์ต่าง ๆ ในโรงพยาบาลที่ขาดแคลนก็มีคนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการเย็บหน้ากากผ้าให้บุคลากรทางการแพทย์ สิ่งของบริจาคและยอดเงินที่หลั่งไหลเข้ามาช่วยเหลือ เช่นเดียวกับเจ้าของที่พักอาศัยทั้งหลาย ที่ร่วมใจกันยกเว้นหรือลดค่าเช่าให้ผู้เช่าของตัวเอง หลาย ๆ บริษัทยืนยันที่จะจ่ายเงินให้พนักงานของตัวเองเพื่อให้พวกเขายังสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้

“มันคงยากมากที่จะรู้สึกว่าคุณกำลังกอบกู้โลกอยู่ ในขณะที่ตัวเองกำลังนอนดู Netflix อยู่บนโซฟา แต่ถ้าคุณทำได้อย่างถูกต้อง ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในที่นี้ก็คือจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับครอบครัวของคุณ และนั่นคือสิ่งที่เราต้องการ”คุณหมอเอมิลี แลนดอน หัวหน้านักระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยแพทย์แห่งชิคาโก้กล่าวถึงมาตรการกักตัวอยู่ในบ้าน

บุคลากรทางการแพทย์ร่วมมือกัน และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็เข้ามาช่วยเหลือ

ณ แนวหน้าในการต่อสู้กับวิกฤติไวรัสในครั้งนี้ คุณหมอและบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหลายต่างก็มองหาวิธีการต่าง ๆ มารับมือกับสถานการณ์การขาดแคลนอุปกรณ์ในโรงพยาบาล และใช้โซเชียลมีเดียให้ความรู้กับประชาชน อย่างในรัฐเนแบรสกา เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเนแบรสกาเริ่มกระบวนการทดลองการฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัยด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต

ในรัฐแมสซาชูเซตส์ โรงพยาบาลคาร์นีย์จะถูกใช้เป็นสถานที่รักษาผู้ป่วยหนักจากเชื้อไวรัสโคโรนา ขณะที่ในรัฐวอชิงตัน ศูนย์การแพทย์ในซีแอตเทิล ได้เปลี่ยนลานจอดรถให้กลายเป็นคลีนิกตรวจหาเชื้อเคลื่อนที่

“95 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งที่ผมเห็นคือข่าวร้ายต่าง ๆ แต่ข้อดีของมันก็คือเรากำลังเรียนรู้ขณะที่เราเผชิญหน้ากับมัน” เค.ซี. รอนเดลลี นักระบาดวิทยาจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอเดลฟีกล่าว

เช่นเดียวกับบริษัทห้างร้านขนาดใหญ่มากมายที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือวิกฤติไวรัสโคโรนาในครั้งนี้ โรงแรมโฟร์ซีซันในแมนฮัตตันมอบที่พักให้กับหมอ พยาบาล บุคลการทางการแพทย์ บริษัทเสื้อผ้าก็ผลิตหน้ากากอนามัย ขณะที่เฟซบุ๊กก็ได้บริจาคหน้ากากอนามัยกว่า 700,000 ชิ้น และทิม คุก ผู้บริหารของแอปเปิล ก็ได้บริจาคเงินกว่าล้านดอลลาร์ให้สหรัฐอเมริกาและยุโรป

การเร่งวิจัยและคิดค้นวัคซีน

ถึงแม้ว่าการผลิตวัคซีนต้องใช้เวลากว่า 12 เดือน คุณหมอหลายคนก็พยายามพัฒนาการตรวจหาเชื้อและคิดค้นวิธีการรักษาโรค COVID-19 ทีมนักวิทยาศาสตร์กว่าหนึ่งร้อยคนตั้งแต่นิวยอร์กถึงปารีสกำลังทดสอบยากว่า 50 ตัวเพื่อใช้รักษาเชื้อไวรัสโคโรนา บริษัทหนึ่งได้พัฒนา “สมาร์ตเทอร์โมมิเตอร์” ที่ใช้ติดตามไวรัสโคโรนาแบบเรียลไทม์ และนักวิจัยก็กำลังเร่งมือส่งมอบยาตัวใหม่ด้วยเช่นกัน

แม้แต่ความล้มเหลวก็ต้องให้กำลังใจ นายแพทย์ ซี.โรเบิร์ต ฮอร์สเบิร์ก อาจารย์ประจำภาคระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยบอสตันชี้ว่า “หากเราพยายามกันต่อไป ต้องมีสักอย่างที่ได้ผลแน่นอน”

บทเรียนสำหรับอนาคต

แม้ว่าการระบาดครั้งนี้จะร้ายแรงมาก แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ชี้ว่าสถานการณ์นี้จะมอบบทเรียนสำคัญสำหรับโรคพร้อมกับปัจจัยที่อาจจะแย่กว่า นวัตกรรมและขั้นตอนกระบวนการที่ในเมืองต่าง ๆ ที่กำลังบังคับใช้อาจกำลังเตรียมพวกเราให้พร้อมรับมือกับอัตราการตายที่อาจเพิ่มสูงขึ้น

“สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง และฉันก็ไม่อยากละเลยความรุนแรงของมัน แต่มันก็ไม่ใช่สถานการณ์ที่เลวร้ายมากที่สุด” มาเลีย โจนส์ นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องโรคติดต่อแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ชี้

สถานการณ์ที่เลวร้ายมากที่สุดอาจจะเป็นโรคหวัดชนิดใหม่ที่มนุษย์ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคเลย พร้อมกับอัตราการเสียชีวิตที่มากกว่าไวรัสโคโรนาและมีแนวโน้มจะทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าพันล้านคน แต่ในท้ายที่สุดแล้ว หากผู้คนสร้างพฤติกรรมที่ดีให้เป็นนิสัย เช่น การล้างมืออย่างน้อย 20 วินาที ไม่จับใบหน้าของตัวเอง รักษาความสะอาดของอาหารการกิน และอยู่บ้านเมื่อป่วย ก็จะช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีและมีผู้เสียชีวิตน้อยลง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook