เมื่อ “ไวรัสโคโรนา” บุกยุโรป ชาวสวีเดนอยู่อย่างไรในสถานการณ์นี้

เมื่อ “ไวรัสโคโรนา” บุกยุโรป ชาวสวีเดนอยู่อย่างไรในสถานการณ์นี้

เมื่อ “ไวรัสโคโรนา” บุกยุโรป ชาวสวีเดนอยู่อย่างไรในสถานการณ์นี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตไวรัสโคโรนา ที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรงทั่วโลก ประเทศต่างๆ พากันใช้มาตรการที่เด็ดขาด เพื่อรับมือกับโรคระบาดใหญ่นี้ ทั้งการปิดพรมแดน ปิดเมือง และขอให้ประชาชนกักตัวอยู่ในบ้าน แต่ประเทศสวีเดนกลับใช้แนวทางที่สวนทางกับประเทศอื่น แม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านอย่างนอร์เวย์และเดนมาร์ก ที่มีระบบรัฐสวัสดิการเหมือนกัน ผลที่ตามมาก็คือ วิถีชีวิตของชาวสวีเดนแทบจะไม่เปลี่ยนไปจากเดิมเลย ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดชาวสวีเดนจึงสามารถใช้ชีวิตตามปกติ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดเช่นนี้ได้ และ Sanook จะหาคำตอบเรื่องนี้

“ไม่ปิดเมือง – ไม่จับตรวจ”

ในการต่อสู้กับไวรัสโคโรนา หนึ่งในผู้นำของภารกิจครั้งนี้คือ นายแอนเดอร์ส เท็กเนลล์ นักระบาดวิทยาและข้าราชการประจำกรมสาธารณสุข ผู้มาพร้อมกับเป้าหมาย นั่นคือการชะลอการระบาดของไวรัส โดยไม่ใช้มาตรการรุนแรง ดังนั้น มาตรการของรัฐจึงไม่มีการปิดพรมแดน ปิดเมือง หรือแม้แต่ปิดโรงเรียนสำหรับเด็กเล็ก ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และผับบาร์ แต่ห้ามชุมนุมกันเกิน 50 คน รวมทั้งไม่มีการประกาศให้ประชาชนกักตัวอยู่ในบ้าน แต่เน้นหนักที่ "การเว้นระยะห่างทางสังคม" หรือ social distancing ให้ผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง กักตัวอยู่ในบ้าน ล้างมือ หลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น และทำงานอยู่ที่บ้าน

อย่างไรก็ตาม มาตรการระดับเบาของรัฐบาลสวีเดนนี้ก็ต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน เพราะเมื่อสัปดาห์ก่อน นักวิจัยในมหาวิทยาลัยของสวีเดนกว่า 2,000 คน ได้ออกแถลงการณ์ร่วมที่ตั้งคำถามกับจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งยังมีนักระบาดวิทยากลุ่มหนึ่ง ที่ส่งอีเมลโจมตีกระทรวง

นายแอนเดอร์ส เท็กเนลล์ ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขสวีเดนAFPนายแอนเดอร์ส เท็กเนลล์ ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขสวีเดน

จากเสียงวิจารณ์ดังกล่าว นายเท็กเนลล์ระบุว่า เนื่องจากในสวีเดนมีพ่อแม่ที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านเป็นจำนวนมาก การปิดเมืองและสั่งให้เด็กๆ อยู่ที่บ้าน ทำให้พ่อแม่ต้องอยู่บ้านเพื่อดูแลลูก ดังนั้น พ่อแม่ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีจำนวนถึง 25% จะไม่สามารถออกมาทำงานเพื่อรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ได้ นอกจากนี้ เมื่อเด็กไม่ไปโรงเรียน อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อกลุ่มผู้สูงอายุ หากต้องให้ปู่ย่าตายายมาดูแลหลานแทนพ่อแม่

นายเท็กเนลล์ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่า แนวทางการจัดการกับไวรัสของสวีเดนต่างจากประเทศอื่น แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือการชะลอการระบาดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้ระบบสุขภาพและสังคมดำเนินต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วสวีเดนจะใช้มาตรการตามความสมัครใจ เนื่องจากเป็นวิธีการที่ชาวสวีเดนคุ้นเคย นอกจากนี้ เขายังเชื่อว่า ขณะนี้รัฐทำได้เพียงชะลอการระบาดของโรค แต่เชื้อไวรัสจะไม่มีทางหายไป และการพยายามหยุดโรคอาจจะส่งผลเสีย เนื่องจากเราจำกัดการระบาดของโรค และเมื่อไรที่เราเปิดประตู ก็มีแนวโน้มว่าสถานการณ์การระบาดจะแย่กว่าเดิม

แต่ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายแสดงความกังวล ชาวสวีเดนที่ไม่มีอาการป่วยและไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงกลับยังคงใช้ชีวิตตามปกติ และปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งแหล่งข่าวที่เป็นชาวไทยในสวีเดนคนหนึ่งเล่าว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย คือชาวสวีเดนจะระมัดระวังมากขึ้น เรื่องการทักทายแบบใกล้ชิด อย่างการกอด และพยายามยืนห่างๆ กัน และผู้คนกลับเข้าบ้านเร็วขึ้น เมืองเงียบเร็วขึ้น

“ความเชื่อใจ” คือสิ่งสำคัญ

สิ่งที่หลายคนให้ความสนใจคือเหตุใดประชาชนชาวสวีเดนจึงสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ โดยไม่ตื่นตระหนกมากนัก ไม่มีการกักตุนสินค้า หรือรีบไปตรวจร่างกายทั้งที่ยังไม่มีอาการป่วย ประเด็นนี้ คุณอรทิรา จันทะดวง ล่ามชาวไทยที่อาศัยอยู่ในสวีเดน อธิบายว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ประชาชนยังคงใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม คือ “ความเชื่อใจ”

“ระบบการปกครองที่นี่ รัฐบาลและรัฐมนตรีไม่ได้มีอำนาจเหนือข้าราชการประจำ ดังนั้นเวลาจะสั่งการอะไร ต้องหารือ และขอความเห็นหรือคำแนะนำจากข้าราชการประจำ ประชาชนก็เชื่อมั่นว่า ข้าราชการประจำได้ตำแหน่งมาด้วยความรู้ความสามารถ ประกอบกับนโยบายความโปร่งใสในการทำงาน การตัดสินใจทุกอย่างมีงานวิจัย และข้อมูลที่น่าเชื่อถือประกอบ ดังนั้น ประชาชนจึงมีความมั่นใจในคำแนะนำของภาครัฐ” คุณอรทิรากล่าว

ไม่เพียงแต่เชื่อใจรัฐเท่านั้น ประชาชนด้วยกันก็มีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน จากพื้นฐานจิตใจของชาวสวีเดนที่มีความไว้วางใจคนสูงและมีความรู้รอบตัว รวมทั้งวัฒนธรรมในการลาป่วย ที่ผู้ป่วยจะต้องเก็บตัวอยู่ที่บ้าน และจะออกจากบ้านเพื่อซื้อยาหรืออาหารเท่านั้น

ภาพโรงเรียนใกล้บ้านของแหล่งข่าวชาวไทยในสวีเดนภาพโรงเรียนใกล้บ้านของแหล่งข่าวชาวไทยในสวีเดน

นอกจากนี้ การเข้าถึงข้อมูลก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชาชนชาวสวีเดนสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างสงบ ซึ่งคุณอรทิรากล่าวว่า ที่โรงเรียนจะมีการให้ข่าวสารข้อมูลเรื่องโรคแก่เด็ก ๆ ในระดับที่เหมาะสมกับวัย และไม่ทำให้เด็กตื่นตระหนก และการฝึกวิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่เด็ก ทำให้ชาวสวีเดน “มีความตระหนัก แต่ไม่ตระหนก” นอกจากนี้ ด้วยอากาศที่หนาวเย็น และเป็นสังคมแบบปัจเจกนิยม ทำให้ผู้คนไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กันมากนัก ก็ทำให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อน้อยลงเช่นกัน

ในสถานการณ์เช่นนี้ คนทั่วไปอาจจะมองว่าชาวสวีเดนนั้น “ชิลล์” เหลือเกิน แต่ที่จริงแล้วก็ยังคงมีความกังวลอยู่ โดยคุณอรทิรามองว่า ความกังวลหลักของชาวสวีเดนในสถานการณ์นี้ ได้แก่ ศักยภาพของโรงพยาบาลในการรองรับผู้ป่วย ซึ่งปกติก็ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์อยู่แล้ว และเรื่องเศรษฐกิจ เนื่องจากสวีเดนเป็นรัฐสวัสดิการ ประชาชนเสียภาษีในอัตราที่สูงมาก หากไม่สามารถทำงานได้ด้วยสาเหตุต่าง ๆ ก็จะได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ ดังนั้นคนจึงไม่ค่อยมีเงินออมในครัวเรือน

ด้านแหล่งข่าวชาวไทยกล่าวว่า ส่วนตัวไม่รู้สึกกลัวและไม่ตื่นตระหนก แต่สามีของเธอมีความกังวลเล็กน้อย เนื่องจากเคยมีปัญหาด้านสุขภาพมาก่อน และเกรงว่าการออกไปทำงานนอกบ้านจะนำเชื้อโรคมาติดภรรยา

“กลัวไหม ก็ไม่ถึงขนาดนั้น มันเป็นความรู้สึกส่วนตัวมากกว่าว่าถ้าติดก็ติด แต่เรามั่นใจเรื่องการดูแลร่างกายของตัวเอง พื้นฐานการกินอาหาร คิดว่าถ้าติดก็คิดว่าหายได้ แต่ไม่ได้คิดว่าจะออกไปไหน อยู่ตรงไหนก็ได้นะ ก็ระวังอยู่ แต่ไม่ถึงกับผวา” แหล่งข่าวระบุ

ร้านอาหารในกรุงสตอกโฮล์ม เมืองหลวงของสวีเดน ที่ยังเต็มไปด้วยผู้คน เช่นเดียวกับในสถานการณ์ปกติAFPร้านอาหารในกรุงสตอกโฮล์ม เมืองหลวงของสวีเดน ที่ยังเต็มไปด้วยผู้คน เช่นเดียวกับในสถานการณ์ปกติ

มาตรการที่นึกถึงประชาชน

แม้ว่าขณะนี้จะดูเหมือนว่าสถานการณ์โรคระบาดยังอยู่ภายใต้การควบคุม แต่นายเท็กเนลล์ก็กล่าวกับ CNBC ว่า หากตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขจะต้องหารือกันเกี่ยวกับมาตรการขั้นต่อไป นั่นหมายความว่า มาตรการขั้นเด็ดขาด จะต้องนำมาใช้ในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งคุณอรทิราก็มองว่า ชาวสวีเดนมีความยืดหยุ่นสูง รัฐเองก็ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง จึงน่าจะพร้อมที่จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด หากประเมินแล้วว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีกว่า

นอกจากนี้ คุณอรทิรายังระบุว่า ความเป็นรัฐสวัสดิการทำให้รัฐบาลสวีเดนคำนึงถึงประชาชนทุกกลุ่ม และคิดพิจารณาทุกแง่มุมอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะออกมาตรการใดๆ รวมทั้งต้องมีกฎหมายรองรับด้วย

ส่วนแหล่งข่าวชาวไทยก็ให้ความเห็นต่อการใช้มาตรการของรัฐบาลสวีเดนว่า โดยรวมตนมีความพอใจ เพราะเศรษฐกิจก็ยังคงดำเนินไปได้ คนยังมีงานทำ

“สุดท้ายจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ทำอะไรเองไม่ได้มากไปกว่านี้ ผู้มีอำนาจว่าไง ก็ว่าตามนั้น” เธอสรุป

นายเท็กเนลล์เองก็กล่าวกับสำนักข่าว The Guardian ว่า เขาเข้าใจดีว่าเขาจะต้องถูกตำหนิอย่างรุนแรง หากสถานการณ์โรคระบาดในสวีเดนเลวร้ายลง แต่เขาไม่วิตกกังวล

“ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราทำนั้นจะส่งผลต่อการระบาดของโรคมาก แต่เราก็ต้องดูกันต่อไป” นายเท็กเนลล์กล่าว

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook