ทำไมมาตรการป้องกัน “ไวรัสโคโรนา” ในเอเชียจึงทำให้ทั่วโลกวิตกกังวล
หลังจากกระแสของโรคระบาดใหญ่ COVID-19 ผ่านพ้นไป ประเทศจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และพื้นที่อื่นๆ ดูเหมือนจะสามารถควบคุมการระบาดได้แล้ว จากการใช้มาตรการที่เด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกเที่ยวบินต่างประเทศ หรือการติดตามเฝ้าระวังผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่ติดเชื้อกักตัวอยู่จริงๆ รวมไปถึงการเก็บค่าปรับสำหรับผู้ที่ไม่ยอมกักตัวอยู่ในบ้าน มาตรการปิดพรมแดนและมาตรการกักตัว เนื่องจากกลัวว่าจะได้รับเชื้อจากผู้มาเยือนจากต่างแดน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้สร้างความวิตกกังวลให้กับสหรัฐอเมริกา ยุโรป และพื้นที่อื่นๆ ในโลก ที่ยังคงต่อสู้กับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคก็ยังคงดำเนินมาตรการปิดเมืองต่อไป แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลง มาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศก็ยังคงมีอยู่ จนกว่าจะมีการคิดค้นวัคซีนหรือวิธีรักษาโรคนี้ได้สำเร็จ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่เชื้อโรคจะกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งในประเทศ โดยเฉพาะในรูปของผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ
“หลายประเทศมีความพยายามอย่างมากที่จะใช้วิธีแก้ปัญหาภายในประเทศของตัวเอง ซึ่งไม่เพียงพอที่จะป้องกันปัญหาด้านสุขภาพระดับสากลที่มาจากประเทศอื่นๆ แม้แต่ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการกับโรคระบาด ยังถือว่าปลอดภัยในระดับที่เป็นจุดอ่อนที่สุดของระบบ” คริสตี โกเวลลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเอเชียศึกษา จากมหาวิทยาลัยฮาวายกล่าว พร้อมเสริมว่าการปิดพรมแดนเป็นหนึ่งในวิธีการที่รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ในประเทศเดียวได้ แต่กลับขาดความร่วมมือระหว่างประเทศ
ไวรัสที่แพร่จากจีนและระบาดไปยังแถบตะวันตก มีความเสี่ยงที่จะสะท้อนกลับ เนื่องจากประชาชนที่แตกตื่นจากการระบาดในยุโรปและสหรัฐฯ จะรีบกลับบ้านและพบว่าตัวเองอยู่ในศูนย์กลางการระบาดใหญ่ใหม่ ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียเริ่มมีจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอีกครั้ง และส่วนใหญ่จะตรวจจับได้จากผู้โดยสารสายการบินที่เข้าสู่สนามบิน ขณะที่พวกเขาผ่านเครื่องตรวจจับ ในฮ่องกง ซึ่งปกติจะรายงานจำนวนผู้ป่วยใหม่รายวัน ที่มีจำนวนเป็นเลขตัวเดียว กลับมีจำนวนผู้ป่วยใหม่พุ่งสูงขึ้นถึง 65 คนในวันเดียว และในญี่ปุ่น ที่สามารถควบคุมโรคได้แล้ว จำนวนผู้ป่วยก็เริ่มจะเพิ่มขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว เนื่องจากมีผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ
จากสถานการณ์ “กระแสตีกลับ” ดังกล่าว ทำให้รัฐบาลต้องสั่งปิดพรมแดนเพื่อหยุดการติดเชื้อ ทำให้แม้แต่พลเมืองขอบประเทศก็กลับบ้านเกิดได้ยาก ผู้ที่สามารถเข้าประเทศได้ก็ต้องถูกกักตัวและเฝ้าจับตาดู บางกรณี รัฐก็ใช้เครื่องมืออย่างกระบวนการยุติธรรมทางอาญามาบังคับใช้
แต่ในขณะที่นักศึกษาและชาวต่างชาติต่างพากันเดินทางจากยุโรปและสหรัฐฯ เข้าสู่เอเชียเมื่อเดือนมีนาคม ทางการได้เตือนว่า คลื่นการระบาดลูกใหม่จะเริ่มกระทบต่อโรงพยาบาล โดยแคร์รี ลัม ผู้นำของฮ่องกง ประกาศห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ส่วนผู้ที่พำนักในฮ่องกงจะต้องได้รับการตรวจหาเชื้อทันทีที่เข้าประเทศ และระหว่างกักตัวที่บ้าน 14 วันนั้น พวกเขาต้องสวมกำไลเพื่อติดตามการเคลื่อนไหว ซึ่งลัมระบุว่า ขณะนี้มีผู้ที่อยู่ระหว่างการกักตัวเป็นจำนวนกว่า 200,000 คน
เทคโนโลยีถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการกักตัว ในประเทศจีน ผู้ที่กลับมาจากต่างประเทศและกักตัวอยู่ในโรงแรมที่รัฐจัดไว้ให้เป็นเวลา 14 วัน จะต้องส่งข้อมูลอุณหภูมิร่างกายทุกวันให้กับคณะกรรมการเพื่อนบ้านทางโปรแกรม WeChat ส่วนในไต้หวัน รัฐบาลใช้การติดตามตัวผู้ถูกกักตัวผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และใช้วิธีการดั้งเดิมอย่างการให้ตำรวจไปเยี่ยมบ้าน หากมีการทิ้งโทรศัพท์หรือปิดโทรศัพท์
บทลงโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนกฎการกักตัวนั้นร้ายแรงมาก จากรายงานของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ชาวสิงคโปร์วัย 53 ปี คนหนึ่ง ที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบ ถูกระงับหนังสือเดินทาง ส่วนบทลงโทษของญี่ปุ่นนั้น ผู้ที่ฝ่าฝืนจะต้องถูกจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับเงิน 500,000 เยน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นค่อนข้างเชื่อใจประชาชน โดยเมื่อประชาชนเดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง จะต้องเซ็นสัญญาว่าจะกักตัวเป็นเวลา 14 วัน และไม่ใช้ขนส่งสาธารณะ หากต้องออกมาซื้ออาหาร ต้องสวมหน้ากากและ “รีบซื้อ”
เมื่อมองในระยะสั้น มาตรการเหล่านี้ก็ถือว่าสมเหตุสมผลในการพยายามปกป้องประชาชน แต่ทว่าในระยะยาว ดูเหมือนว่ามาตรการลักษณะนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและปัญหาด้านสุขภาพจิตสะสม
คาเรน เอกเกิลสตัน ผู้อำนวยการโครงการนโยบายสุขภาพเอเชีย ศูนย์วิจัยโชเรนสไตน์ เอเชียแปซิฟิก (Shorenstein Asia-Pacific Research Center) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกล่าวว่า “แม้ว่าภารกิจอันดับหนึ่งควรจะเป็นการควบคุมเชื้อไวรัส แต่เราก็ควรจะคิดถึงเรื่องที่ใหญ่กว่าด้วย และเนื่องจากวิกฤตครั้งนี้กินเวลานาน ต้นทุนในเรื่องเหล่านี้ก็ต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน”