เปิดไทม์ไลน์ COVID-19 ตลอดมีนาคม ไทยดับจาก 1 เป็น 10 ป่วยสะสมพุ่ง 3,800%
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ยังคงต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสะสมทั่วโลกทะลุเกิน 880,000 คนแล้ว โดยมี 3 ประเทศที่มีผู้ป่วยสะสมในหลักแสนคือ สหรัฐอเมริกา อิตาลี และสเปน
ขณะที่อิตาลีเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดในโลก ด้วยตัวเลขสะสมกว่า 12,000 ราย โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตรวมทั้งโลกอยู่ที่กว่า 42,000 ราย
ส่วนที่บ้านเรา ข้อมูลอัปเดตจนถึงวันนี้ (1 เม.ย.) ผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 1,771 รักษาหายแล้ว 416 คน ยังรักษาอาการอยู่ 1,343 เสียชีวิต 12 ราย ท่ามกลางความพยายามของภาครัฐที่ค่อยๆ เพิ่มมาตรการให้เข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่รัฐบาลตัดสินใจประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) หลังจากนั้นทั้งเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ ก็งัดเอาวิธีคัดกรองป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนามาใช้อย่างเคร่งครัดมากยิ่งขึ้นตามลำดับ
หลังจากผ่านพ้นเดือนมีนาคม เข้าสู่เดือนเมษายนกันแล้ว พอดีเห็นข้อมูลและกราฟจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วิเคราะห์และประมวลผลผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ 1-31 มีนาคม 2563 เลยอยากจะมาแชร์ต่อให้ผู้อ่าน Sanook ได้รู้เท่าทันสถานการณ์ไปด้วยกัน
จากข้อมูลจะเห็นว่า เดือนมีนาคม 2563 มีผู้ติดเชื้อในไทยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เริ่มจากต้นเดือนพบผู้ติดเชื้อเพียง 42 รายใน 9 จังหวัด และเพิ่มขึ้นเป็น 1,651 คนใน 61 จังหวัดเมื่อถึงสิ้นเดือน
ไทม์ไลน์สำคัญของโควิด-19 ในไทย ตลอดเดือนมีนาคม
1 มี.ค. - มีผู้เสียชีวิตรายแรกในไทย จำนวนผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 42 ราย
3 มี.ค. - แรงงานไทยจากเกาหลีใต้เดินทางกลับไทย
6 มี.ค. - เหตุการณ์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ
9 มี.ค. - เหตุการณ์สนามมวย
11 มี.ค. - WHO ประกาศให้การระบาดของ COVID-19 เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic)
12 มี.ค. - จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล
15 มี.ค. - ค้นหาผู้มีความเสี่ยงสูง 132 คน กลับจากงานดาวะห์ และเป็นวันที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 100 ราย
16 มี.ค. - ประกาศยกเลิกวันหยุดสงกรานต์
22 มี.ค. - กทม.สั่งปิดห้างร้าน ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับต่างจังหวัด รวมทั้งเป็นวันที่เริ่มปรับเกณฑ์การวินิจฉัยให้ใช้ผลตรวจครั้งเดียวหรือแล็บเดียวได้
26 มี.ค. - ประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รวมทั้งเป็นวันที่จำนวนผู้ป่วยสะสมเกินหลัก 1,000 ราย
31 มี.ค. - ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 1,651 ราย เสียชีวิต 10 ราย
ถ้าลองคิดเทียบบัญญัติไตรยางค์เพื่อให้เห็นอัตราความเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสะสมในประเทศไทย จาก 42 เป็น 1,651 ก็จะเห็นว่าเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นถึงกว่า 3,830% ซึ่งแม้จะเป็นอัตราที่สูงแต่เมื่อไปลองเทียบกับประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยสะสมในระดับแสนอย่างที่กล่าวไปแล้วตอนต้น ก็ถือว่าบ้านเรารับมือได้ดีทีเดียว
อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตถ้อยแถลงของโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการอันเข้มงวดต่างๆ ที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราคนไทยทุกคนยังคงวางใจกับสถานการณ์ไม่ได้ เพราะยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
ไม่ว่าจะเป็นการล้างมือบ่อยๆ การกินร้อน การใช้ช้อนส่วนตัว ไปจนถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) งดหรือลดการเดินทางออกจากที่พัก ให้เหลือเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น เฝ้าระวังสังเกตอาการของตนเองและคนรอบข้าง หากเป็นไข้ มีอาการไอ เจ็บคอ หายใจติดขัด ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
วิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่นั้นถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของมวลมนุษยชาติ ดังนั้นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของประชาชนทุกคนเพื่อให้ประเทศไทยของเราฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ