ผู้คิดค้น “หน้ากาก N95” เล็งทดสอบวิธีทำความสะอาดหน้ากากอนามัย รู้ผลเร็วๆ นี้
ในขณะที่โรงพยาบาลต่างๆ กำลังพยายามทุกวิถีทางในการทำความสะอาดหน้ากาก N95 เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการสุดไฮเทคอย่างใช้แสงอัลตราไวโอเล็ต และทำความสะอาดด้วยสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เข้มข้น แต่ผู้ที่คิดค้นหน้ากาก N95 สามารถหาวิธีการที่ง่ายกว่านั้นมาก นั่นคือ “การผ่านความร้อน”
ปีเตอร์ ไซ นักวิทยาศาสตร์ด้านวัสดุ ผู้คิดค้นเทคโนโลยีในการสร้างวัสดุของหน้ากาก N95 กล่าวกับ VICE News ว่า เขากำลังศึกษาว่า การเผาหน้ากากที่ความร้อนสูงในระยะเวลาสั้น อาจจะช่วยฆ่าเชื้อไวรัสโดยไม่ทำให้หน้ากากเสื่อมสภาพ ซึ่งเขาหวังว่าน่าจะสามารถเผยผลการศึกษาได้ภายในไม่กี่วันนี้
“เราจะใช้ความร้อน (ราว 70 องศาเซลเซียส) ประมาณ 30 นาที เพื่อฆ่าไวรัส และน่าจะเผยผลการศึกษาได้ในช่วง 1 – 2 วันนี้”
ไซ ซึ่งขณะนี้เป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทนเนสซี เป็นหนึ่งในนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องการใช้ความร้อนในการทำความสะอาดหน้ากากอนามัย เพื่อแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนในโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่ บุคลากรทางการแพทย์จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการใช้หน้ากากติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน แทนที่จะใช้แล้วทิ้ง หรือใช้น้ำยาโคลร็อกซ์เช็ดเพื่อฆ่าเชื้อบนหน้ากาก ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตราย
“แน่นอนว่าไม่มีใครอยากฉีดสเปรย์ใส่หน้ากาก N95 ทุกวัน และใส่ชุด PPE ซ้ำ แต่ในเมื่อความสำคัญอันดับแรกไม่ใช่การสนับสนุนจากรัฐบาลและความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ เราก็ไม่มีทางเลือก โรงพยาบาลไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้” แพทย์จากโรงพยาบาลเอล์มเฮิร์สต์ ในควีนส์ กล่าว
ก่อนที่ไวรัสโคโรนาจะระบาดเข้าสู่สหรัฐอเมริกา องค์การอาหารและยา และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (C.D.C.) แนะนำว่าไม่ควรนำหน้ากาก N95 มาใช้ซ้ำ แต่เนื่องจากหน้ากากอนามัยขาดแคลน จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแนวทาง ในขณะที่หลายโรงพยาบาลแก้ปัญหาโดยการใช้แสงยูวีฆ่าเชื้อ หรือวิธีการใหม่ที่องค์การอาหารและยาแนะนำ คือใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ระเหย แต่ศูนย์การแพทย์บางแห่งอาจไม่ใช้วิธีเหล่านี้ เพียงแค่ใช้เครื่องอบความร้อนสูงด้วยไอน้ำ หรืออุปกรณ์ที่คล้ายกัน ที่สามารถอบเครื่องมือ และควบคุมได้ทั้งอุณหภูมิและความชื้น
แม้จะมีผลวิจัยยืนยันว่าในกรณีของเชื้อโรค H1N1 หน้ากากสามารถฆ่าเชื้อได้โดยใช้ความร้อน แต่สำหรับไวรัสโคโรนานั้นถือเป็นโจทย์ใหม่มากจนกระทั่งยังไม่มีผู้ใดสามารถยืนยันได้
ไซกล่าวว่า ทันทีที่มีการระบาดเกิดขึ้น นักวิทยาไวรัสจำนวนมากได้ทำการวิจัยหลายครั้ง และพบว่าอุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียส ในระยะเวลา 30 นาที สามารถฆ่าไวรัสโคโรนาได้ ประเด็นก็คือ เราต้องหาอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดในการกำจัดเชื้อไวรัสโดยที่ไม่ทำลายหน้ากาก
สก็อตต์ เมชเลอร์ วิศวกรเครื่องกลจากแมสซาชูเซ็ตส์ กล่าวว่าเขาและทีมงานได้ทดลองใช้อุณหภูมิที่ทำให้หน้ากากอนามัยถูกทำลาย โดยระบุว่า “ที่อุณหภูมิ 100 – 120 องศาเซลเซียส หน้ากากจะเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว เราจึงพยายามที่จะไม่ทำลายหน้ากาก และพบว่าอุณหภูมิประมาณ 65 – 80 องศาเซลเซียส ในระยะเวลา 30 นาที น่าจะได้ผลมากที่สุด”
อย่างไรก็ตาม เมชเลอร์เตือนว่า หากฆ่าเชื้อด้วยวิธีนี้ หน้ากากอนามัยสามารถใช้ซ้ำได้ราว 3 – 5 ครั้งเท่านั้น