"ทำไมวันที่เชียงใหม่วิกฤติ ผู้ใหญ่ถึงไม่เหลียวแล" เสียงครวญจากแนวหน้าฝ่าไฟป่าดอยสุเทพ

"ทำไมวันที่เชียงใหม่วิกฤติ ผู้ใหญ่ถึงไม่เหลียวแล" เสียงครวญจากแนวหน้าฝ่าไฟป่าดอยสุเทพ

"ทำไมวันที่เชียงใหม่วิกฤติ ผู้ใหญ่ถึงไม่เหลียวแล" เสียงครวญจากแนวหน้าฝ่าไฟป่าดอยสุเทพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปลายสายที่สนทนากับชาวเชียงใหม่คนนี้ มักมีเสียงพยาบาลขานชื่อผู้ป่วยแทรกขึ้นมาเป็นระยะ แหล่งข่าวรายนี้เผยว่า ตนมาหาหมอที่โรงพยาบาล ซึ่งหมอวินิจฉัยว่าตนมีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจเล็กน้อย หลังจากร่วมอาสาดับไฟป่าบนดอยสุเทพเมื่อไม่นานมานี้ ไม่ใช่แค่นั้นยังได้รับคำแนะนำว่า ควรอยู่แต่ในบ้าน เพราะนอกจากมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เป็นวงกว้างแล้ว คุณภาพอากาศก็ไม่เหมาะแก่การหายใจอย่างยิ่ง

แหล่งข่าวรายนี้ ที่ไม่ขอเปิดเผยตัว บอกอีกว่า ไม่เห็นท้องฟ้าที่เป็นสีครามมาประมาณ 1 เดือนแล้ว เพราะฝุ่นปกคลุมจนเป็นสีเทาออกส้มในตอนกลางวัน และแน่นอนว่าดอยสุเทพที่เคยตั้งตระหง่านทางทิศตะวันตกของเมืองก็ถูกมลพิษกลืนหายไป

ควันพิษจากการเผาป่าและมลภาวะวนกลับมาทุกปีในช่วงหน้าแล้งของ จ.เชียงใหม่ และภาคเหนือ และเป็นอย่างนี้มามากกว่า 10 ปี จนแม้แต่คนในพื้นที่เองยังชินชา เหตุนี้ทำให้เมื่อเกิดไฟป่าขึ้นในช่วงแรกๆ หลายคนจึงไม่ได้เอะใจ และคิดว่าเหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา

แหล่งข่าวเผยว่า ขณะขับรถกลับบ้านหลังเลิกงาน ก็จะเห็นจุดสีแดงบนภูเขาลูกดังกล่าวบ่อยครั้ง ซึ่งตอนแรกก็ไม่ทราบว่ากำลังจะเกิดไฟป่าครั้งรุนแรงเช่นนี้

"ตอนกลางคืน เราขับรถกลับมาบ้าน ก็จะเห็นดอยสุเทพตลอด แล้วก็เห็นไฟเป็นจุดแดงๆ ก็คิดว่าน่าจะไม่มีอะไร เพราะมันเป็นอย่างงี้ทุกปีอะ"

จนกระทั่งไม่กี่สัปดาห์ก่อน ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา หมอกควันไม่มีท่าทีว่าจะลดลง ไม่ใช่แค่นั้น ไฟที่เคยเห็นเป็นจุดเล็กๆ ก็เริ่มเห็นแนวยาวทอดออกไปเรื่อยๆ กลายเป็นไฟป่า ที่ปล่อยควันพิษมหาศาลสู่อากาศของเมือง

สำนักข่าวท้องถิ่น เชียงใหม่นิวส์ รายงานเมื่อวันที่ 30 มี.ค. ว่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) จากเครื่องวัดที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วนที่ตั้งอยู่ใน ต.แม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ วัดค่าได้ถึงระดับ 530 ขณะที่อากาศที่เหมาะแก่การหายใจอยู่ที่ระดับไม่เกิน 50 เท่านั้น

ขออาสาเสี่ยงภัยดับไฟป่า

แหล่งข่าวรายนี้ ที่มักทำกิจกรรมอาสาสมัครต่างๆ ก็ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านการดับไฟป่าโดยตรง เพื่อเข้าไปร่วมเป็นกำลังเสริม ซึ่งตนได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่แค่ระยะหนึ่งเท่านั้น เพราะเจ้าหน้าที่เกรงว่าจะไม่ปลอดภัยกับคนที่ไม่ชำนาญพื้นที่อย่างตน

ถึงอย่างนั้น ก็รับรู้ได้ถึงความยากลำบาก เพราะตนต้องร่วมใช้ชีวิตกินนอนบนภูเขา โดยตัดขาดจากโลกภายนอกเป็นเวลาหลายวัน

"เราไม่รู้เลยว่าข้างล่างเขาประกาศเคอร์ฟิว ประกาศอะไร เพราะต้องไปกินนอนบนดอยตลอด 3 วัน แล้วมันไม่ใช่ง่ายๆ นะ ไหนจะต้องเดินขึ้นเขา เดินทางไกล คือมันไม่ได้มีถนนลาดยางดีๆ ให้รถไปวิ่งได้ ไหนจะได้กินข้าวไม่ตรงเวลาอีก หลายอย่าง"

ไม่ใช่แค่นั้น เมื่อถึงเวลาปฏิบัติงาน ชีวิตก็เหมือนตกอยู่ในความเสี่ยง จากการสูดฝุ่นควัน และไอความร้อนที่แผ่ออกจาก แม้จุดที่ไฟลุกอยู่นั้น อยู่ห่างออกไปหลายร้อยเมตรก็ตาม

"ตอนไปดับไฟ มันร้อนมาก ร้อนแบบ... ร้อนอวม เหมือนเราอยู่ในเตาเผา ขนาดไฟอยู่อีกไกลนะ หลายร้อยเมตร แล้วคือ... หน้ากากจะดีแค่ไหน แต่ก็ต้านควันพิษไม่ได้เท่าไหร่"

"บ้านเราถ้าเราไม่ช่วย แล้วใครจะช่วย"

แม้จะเผชิญกับความยากลำบากถึงเพียงนี้ แหล่งข่าวเผยว่า ตนก็ยังเลือกมาอาสาดับไฟป่าอยู่ดี เพราะเชียงใหม่คือบ้านของเรา ถ้าคนในบ้านไม่ช่วย แล้วใครจะช่วย

แหล่งข่าว พูดต่อไปว่า นอกจากเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าของอุทยานดอยสุเทพ-ปุย แล้ว จะมีประชาชนที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงจุดเกิดไฟป่า ก็มาร่วมกับเจ้าหน้าที่ด้วย และถ้ากำลังไม่พอจริงๆ ก็จะขอความช่วยเหลือจากผู้ที่สมัครใจพร้อมอาสามาร่วมภารกิจ

ตนมองว่า นอกจากคนในพื้นที่ช่วยกันเองแล้ว ตนอยากเห็นการเหลียวแลจาก "ผู้ใหญ่" มากกว่าที่เป็นอยู่ แม้เข้าใจว่าสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศก็เร่งด่วน แต่ไฟป่าที่กำลังไหม้และอากาศพิษที่คนเชียงใหม่สูดทุกวินาทีไม่ได้วิกฤติน้อยไปกว่ากัน และที่แนวหน้านี้ก็มีคนต้องสละชีวิตตัวเองแล้วด้วย

"เข้าใจว่า 'เขา' ก็ต้องช่วยโควิด เพราะเป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็อยากให้ช่วยเราบ้าง คนบ้านเราหายใจเอาอากาศพิษเข้าไปนานเท่าไหร่แล้ว มันก็สำคัญไม่ใช่เหรอ ไหนผู้ใหญ่บ้าน พี่ทหาร เขาโดนไฟคลอกตายไป 5 คนอีก" แหล่งข่าว กล่าว

"วันที่เชียงใหม่สวย ใครๆ ก็อยากมาเที่ยว แต่ทำไมวันที่เชียงใหม่วิกฤติ ถึงไม่มีใครสนใจเราเลย"

บริจาคอุปกรณ์จำเป็น

แต่สถานการณ์เช่นนี้ยังพอใจชื้นอยู่ได้บ้าง เมื่อประชาชนจำนวนหนึ่งทั้งในพื้นที่และในโลกออนไลน์ ร่วมกันระดมทุนและหาซื้ออุปกรณ์มาบริจาคมาให้คนแนวหน้าเหล่านี้ ซึ่งแหล่งข่าวเผยว่า อาหารและน้ำได้รับเข้ามาค่อนข้างมาก แต่สิ่งที่ทีมงานต้องการจริงๆ คือสิ่งของที่อยู่ได้ในระยะยาว อย่างเช่น กางเกงใน ถุงเท้า หน้ากากอนามัย N95 หรือแม้แต่ยารักษา อย่างเช่น ยาทาแก้แพ้-แก้คัน ยาทาแผลพุพอง เรื่อยไปจนถึง ผงโรยดับกลิ่นเท้า

อีกหนึ่งสิ่งที่ประชาชนน่าจะพอช่วยกันเองได้บ้าง คือ การพูดถึงเรื่องนี้ให้มากๆ ด้วยการติดแฮชแท็ก #SaveChiangMai เมื่อโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์ไฟป่าที่เชียงใหม่ ซึ่งตอนนี้กำลังมีคนผู้ถึงมากขึ้น ทั้งยังเริ่มเห็นคนดังจำนวนหนึ่งออกมาช่วยกันรณรงค์ หากขยายให้เห็นปัญหาหมอกควันในจุดอื่นๆ ของภาคเหนือ อย่างเช่น อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้ก็จะดีด้วย

ถึงอย่างนั้น แม้ตนอาจจะต้องหยุดพักเพื่อรักษาตัวให้ดีขึ้นไปบ้าง แต่แหล่งข่าวรายนี้ก็จะเดินหน้าปกป้องบ้านของตัวเองต่อไปเท่าที่พอจะทำไหว ไม่ให้กระทบกับสุขภาพไปมากกว่านี้ แต่ถ้าหากควันพิษยังคงปกคลุมท้องฟ้าไปเรื่อยๆ แบบนี้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า สุขภาพของตนและคนเชียงใหม่จะทนไหวไปได้อีกนานสักเท่าใดเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook