นักบินผันตัวสู่หนุ่มเดลิเวอรี่ ยุคโควิด-19 เปิดใจผู้ไม่เกี่ยงงาน ในวันปลดระวางนกเหล็ก
แทบไม่มีใครเชื่อว่า อุตสาหกรรมการบิน ที่เติบโตอย่างรวดเร็วตลอดหลายปีมานี้ จะต้องหยุดชะงักลง เพราะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) หลังจากระบาดเพียงไม่กี่เดือน และเมื่อคนที่ทำอาชีพนี้ ไม่มีตัวเลือกให้ทำงานจากบ้าน (Work from Home/เวิร์ก ฟรอม โฮม) เหมือนอีกหลายอาชีพ เท่ากับว่าก็ต้องหยุดอยู่บ้านโดยได้รับค่าตอบแทนน้อยลง
ห้วงเวลาที่รายได้หดหายไปบางส่วนแบบนี้ คุณกฤตธี ยังเฟื่องมนต์ นักบินของสายการบินแห่งหนึ่ง เลือกหารายได้เสริมด้วยการให้บริการรับส่งอาหารหรือพัสดุถึงบ้าน (เดลิเวอรี่) ผ่านแอปพลิเคชัน เพราะผลกระทบจากโรคดังกล่าว
คุณกฤตธี เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ตารางบินของตนแน่นมาก ทั้งเส้นทางในประเทศและเส้นทางต่างประเทศ แต่เมื่อราวปลายเดือน ก.พ. ถึง ต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ก็ต้องลดชั่วโมงบินลง จนกระทั่งมาหยุดบินจริงๆ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นเดือน เม.ย.
เส้นทางพลิกผันสู่คนส่งอาหาร
ถึงอย่างนั้น ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เดินหน้าไปเรื่อยๆ ทุกวัน ทุกเดือน หรือทุกงวด อย่างเช่น ค่าบ้าน ค่ารถ เรื่อยไปถึงค่าใช้จ่ายในครอบครัว ก็เตือนว่าถ้ายังอยู่เฉยๆ วิกฤติการเงินคงมาถึงตัวเองแน่ๆ จึงทำให้นักบินรายนี้ต้องหันกลับไปหาอาชีพเสริม ที่ตนเคยทำเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว คือ การรับส่งอาหารและพัสดุ
นักบินรายนี้ พูดต่อไปว่า สาเหตุที่เลือกทำอาชีพนี้ เพราะตนเคยทำมาก่อนแล้วตอนที่รองานเป็นนักบิน จึงไม่รู้สึกเคอะเขินหรือต้องเริ่มใหม่มากนัก แต่สิ่งที่รู้สึกต่างไปจากเมื่อ 2-3 ปีก่อน สำหรับวงการเดลิเวอรี่ เพียงอย่างเดียว คือ ยุคนี้มีคนทำมากขึ้น
ส่วนตัวนั้น ถือว่า ได้รายได้จากอาชีพเสริมตรงนี้ค่อนข้างน่าพอใจ ได้เฉลี่ยวันละ 15-17 รอบ หรือตกประมาณ 1,500 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับค่าตอบแทนที่ตนยังได้รับในช่วงงดบิน และเงินเก็บส่วนตัวแล้ว ก็ทำให้ต่อลมหายใจไปได้
"ผมเริ่มทำมานานแล้วครับ ก่อนที่จะไปบิน ช่วงรองาน ทำอยู่ 2 ปี แล้วก็หยุดไป 3 ปี พอตอนนี้ไม่ได้บินก็กลับมาทำ" คุณกฤติธี กล่าว
"ก็ถือว่ารายได้งามครับ พอบวกกับเงินที่ยังได้อยู่ ก็ครอบคลุมค่าใช่จ่ายครับ"
บทเรียนให้ปรับตัว-เพิ่มวินัยการเงิน
คุณกฤตธี บอกว่า เพื่อนๆ พี่น้องในอาชีพเกี่ยวกับการบิน สอบถามตนเข้ามาหลายคนว่า ถึงการทำงานเสริม อย่างเช่น การขนส่งอาหารและพัสดุแบบตน และก่อนหน้านี้ ตนก็เคยเห็นข่าวว่า มีวิศวกรเครื่องบินคนหนึ่งก็หารายได้ในวิกฤติแบบนี้ด้วยการรับล้างแอร์ เพราะฉะนั้นจึงมองว่า ช่วงเวลาเช่นนี้ เป็นช่วงเวลาทองของการ "ไม่เลือกงานไม่ยากจน" และคนที่ปรับตัวได้
"เราแค่ถอดหัวโขน แล้วมาใส่หมวกกันน็อก ถ้าเราอยู่บ้านเฉยๆ เงินก็คงหมดไปเรื่อยๆ" คุณกฤตธี กล่าว
"ใครลุกขึ้นยืนได้ก่อน ก็ได้เปรียบครับ"
อีกบทเรียนหนึ่งที่นักบินรายนี้ได้รับ คือ ทุกอย่างตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน ใครจะรู้ว่าสักวันหนึ่งสถานการณ์จะมาถึงจุดที่อยู่ๆ ก็ไม่ได้ทำงาน ดังนั้นวินัยการเงินจึงสำคัญ เราต้องมีเงินสำรองใช้จ่าย ใครที่ใช้เงินเดือนชนเดือน ก็อยากให้คิดถึงการเก็บออมสักนิด เพราะในวิกฤติแบบนี้การมีเงินสำรองไว้ จำเป็นมากทีเดียว และสำหรับคนที่ต้องหาเงินจริงๆ ก็ให้รีบตั้งตัวและก้าวเดินต่อไป
แน่นอนว่า เมื่อเปลี่ยนมาใส่ชุดคนเดลิเวอรี่แล้ว อาจโดนลูกค้าบางคนดูถูก แต่บางครั้งพบกับความเห็นอกเห็นใจของลูกค้าบางคน ที่ไม่ทราบว่าตนเป็นนักบิน ด้วยการให้เงินเพิ่มเพราะคิดว่าตนจะขาดรายได้ ซึ่งก็ทำให้ตนรู้สึกซาบซึ้งไม่น้อย
เปลี่ยนอาชีพแต่ความปลอดภัยไม่เปลี่ยน
คุณกฤตธีเล่ารายละเอียดของการรับส่งอาหารและพัสดุให้ฟังว่า เรื่องหนึ่งที่ต่างจากเมื่อก่อน คือ มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับโรค ที่รัดกุมกว่าเดิม อย่างเช่น การสวมถุงมือ และหน้ากากอนามัย จนถึงการเปลี่ยนจากการรับเงินสดจากลูกค้า มาเป็นการชำระผ่านการโอน ไม่ใช่แค่นั้น ลูกค้าก็รับรู้ถึงความเสี่ยงเช่นกัน บางคนนำเงินใส่ถุงไว้ให้หน้าบ้าน หรือให้วางของไว้หน้าบ้านแล้วจะออกไปหยิบเอง
สิ่งนี้ตนไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าทำงานยากขึ้น เพราะช่วงที่ผ่านมาเมื่อยังทำงานในเครื่องบิน ตนและลูกเรือคนอื่นๆ ก็ต้องป้องกันตัวเองจากโรคมากขึ้นอยู่แล้ว โดยจะเห็นว่า แม้ในเครื่องบินจะมีความเสี่ยงติดโรคไม่น้อย แต่ตามข่าวที่ตนรับรู้ ก็มีลูกเรือแค่ไม่กี่คนเท่านั้นที่ติดโรคโควิด-19
วอนวิกฤติผ่านไปโดยเร็ว
นักบินรายนี้ เผยว่า ส่วนตัวแล้วยังพอประคับประคองสถานการณ์ของครอบครัวไปได้ ถ้าหากยังเป็นแบบนี้ในช่วง 3 เดือน แต่ถ้าหลังจากนั้นไปแล้วก็ไม่ทราบว่าจะไหวมากน้อยเพียงใด แต่อย่าลืมว่ายังมีคนจำนวนมากที่ลำบากมากกว่าตน และอาจจะไม่ไหวแม้กระทั่งเดือนเดียวด้วยซ้ำไป
เพราะฉะนั้น ตนจึงอยากให้โรคระบาดนี้ถูกควบคุม หรือหายไปโดยเร็ว ให้ทุกอย่างกลับมาปกติ เดินต่อไปได้เช่นเดิม