อุตตม รัฐมนตรีคลัง อุบตอบแผนกันเลิกจ้าง-ตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบ โยนประกันสังคมดูแล
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตอบคำถามเกี่ยวกับมาตรการของรัฐบาล ต่อการชะลอเลิกจ้างแรงงาน และข้อมูลจำนวนผู้ถูกเลิกจ้าง โดยให้คำตอบที่ไม่ชัดเจนนัก ในวันนี้ (7 เม.ย.) ซึ่งเหตุการณ์นี้การเกิดขึ้นระหว่างการแถลงข่าวผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อผู้สื่อข่าวคนหนึ่งถามว่า แบ่งเป็น 4 ประเด็นหลักได้แก่
- การชะลอการเลิกจ้างมีผลกระทบอย่างไรบ้าง
- ใช้เงินจากการกู้มาพยุงสถานการณ์มากน้อยเพียงใด
- ทราบตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบจากการเลิกจากหรือไม่
- มีแผนการลดความเสียหายอย่างไร
"ตามที่เรากู้มา รัฐมนตรีก็บอกว่ามีมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเป็นเป็นรูปธรรมแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด ในแง่ของการเลิกจ้าง การชะลอการเลิกจ้าง เรายังไม่เห็นมีออกมา จะต้องอาศัยเงินในจำนวนนี้หรือเปล่า แล้วเรามีตัวเลขหรือเปล่าว่า จากผลกระทบของโควิดเนี่ย มีการเลิกจ้างไปแล้วเท่าไหร่ แล้วเราจะชะลอไม่ให้มันเกิดขึ้นเสียหายมากกว่านี้อีกเท่าไหร่ หรือจะต้องใช้เงินยังไงคะ" ผู้สื่อข่าว ถาม
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีรายนี้ไม่ได้ตอบชัดเจนอย่างที่ระบุไป เพียงแต่ระบุว่า ต้องพิจารณาก่อนว่า คนที่ถูกเลิกจ้างเหล่านี้ถูกเลิกจ้างด้วยลักษณะใด จะเข้าข่ายที่สำนักงานประกันสังคมจะให้ความช่วยเหลือได้หรือไม่ ส่วนผู้ที่ทำอาชีพอิสระ (รับจ้างทั่วไป ฟรีแลนซ์) ก็จะได้รับการช่วยเหลือนาน 6 เดือนจากรัฐบาลอยู่แล้ว
หลังจากนั้น ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าว ก็ลุกขึ้นอีก และถามว่าอะไรคือมาตรการของรัฐบาลที่ไม่ให้ผู้ประกอบการเลิกจ้างแรงงาน
"เอ่อ เป็นมาตรการที่ไม่ให้มีการเลิกจ้างอะค่ะ มีไหมคะ"
ให้เงินกู้ SMEs ดอก 2% เสริมสภาพคล่อง
นายอุตตม ตอบว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายให้ธนาคารต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดเล็กและกลาง (SMEs/เอสเอ็มอี)
"ก็นี่แหละครับ มาตรการที่ไม่ให้เลิกจ้างส่วนหนึ่งก็คือ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะให้เงินกู้พิเศษ ดอกเบี้ยพิเศษ ให้ผู้ประกอบการ ซึ่งเราคิดว่ามีความจำเป็นมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ ขนาดกลางขนาดเล็ก นะครับ ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ก็เรียกว่าต่ำมาก ร้อยละ 2 ขณะเดียวกันก็ยังพักต้น พักดอกเดิมอีก 6 เดือน อันนี้ก็จะไปช่วยเรื่องสภาพคล่อง แล้วก็จะช่วยเรื่องการรักษางานไว้นะครับ คือเราเอาเงินให้เข้าในส่วนของผู้จ้างงานนะครับ"
โยนประกันสังคมดูแลคนถูกเลิกจ้าง
รัฐมนตรีรายนี้ ตอบอีกว่า ถ้าหากแรงงานคนไหนที่ถูกเลิกจ้าง ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการดูแลของประกันสังคมอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้
"ส่วนผู้ที่ถูกกระทบ อย่างที่ถามเนี่ยนะครับ ตกงานแล้ว อันนี้ไปตามระบบเลยประกันสังคม หรือว่าถ้าจะมาทางนี้จ่าย 6 เดือน เราก็ว่ากันตามนั้น ทำทั้ง 2 อย่าง สภาพคล่องเข้า พยายามให้รักษางานนะครับ แต่ถ้าถูกผลกระทบ ก็ดูแลตามมาตรการระบบที่มี"