ผู้เชี่ยวชาญเรียกร้อง WHO จับมือรัฐบาลทั่วโลก ปิดตลาดค้าสัตว์ ป้องกัน COVID-19
กลุ่มนักอนุรักษ์ทั่วโลกกว่า 200 กลุ่ม ลงนามในจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกมีมาตรการใดๆ ก็ตาม ในการป้องกันโรคใหม่ ที่เกิดขึ้นจากการค้าสัตว์ป่าและนำไปสู่โรคระบาดใหญ่ที่แพร่กระจายทั่วโลก เช่นที่เกิดขึ้นในกรณีของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า โรค COVID-19 มีที่มาจากสัตว์ ซึ่งอาจจะเป็นค้างคาว ที่ถูกขายในตลาดค้าสัตว์ และนำมาฆ่าเพื่อทำเป็นอาหาร เช่นเดียวกับโรคระบาดในอดีต อย่างโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือ โรคซาร์ส (SARS) ที่คร่าชีวิตผู้คนเกือบ 800 คน ในปี 2002 – 2003 และอีโบลา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้อย่างน้อย 11,300 คน ก็มีความเกี่ยวโยงกับเชื้อไวรัสที่แพร่จากการล่าสัตว์และบริโภคสัตว์ป่า
จดหมายเปิดผนึกฉบับใหม่นี้มีใจความเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกแนะนำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ แบนตลาดค้าสัตว์ป่าอย่างถาวร รวมทั้งปิดตลาดหรือจำกัดการค้าสัตว์ป่า เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังต้องการให้ตัดการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่า ซึ่งรวมถึงสัตว์ที่เลี้ยงในที่คุมขัง ออกจากคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก รวมทั้งตัดออกจากการสนับสนุนให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนโบราณ “โดยสิ้นเชิง”
นักอนุรักษ์กล่าวว่าองค์การอนามัยโลกควรทำงานร่วมกับรัฐบาลและองค์กรนานาชาติ เช่น องค์การการค้าโลก เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการค้าสัตว์ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์และสังคม รวมทั้งสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดโครงการที่สร้างแหล่งโปรตีนทางเลือกให้ผู้คนสามารถบริโภคแทนเนื้อสัตว์ป่าได้
ขณะเดียวกัน ผู้นำโลกต่างๆ ก็ได้รับรายงานทางวิทยาศาสตร์จากสมาคมมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (Humane Society International) ที่เตือนว่า COVID-19 นั้นเป็น “ยอดภูเขาน้ำแข็งที่รัฐบาลทั่วโลกไม่ควรมองข้าม” และเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือกลุ่มผู้ค้าสัตว์ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถหาแนวทางในการหาเลี้ยงชีพใหม่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และหากไม่มีการลงมือทำ โรคใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตก็เป็นได้
เอลิซาเบธ มารุมา เรมา หัวหน้าแผนกความหลากหลายทางชีวภาพขององค์การสหประชาชาติ ก็พยายามมุ่งเน้นเรื่องการแบนตลาดค้าสัตว์ โดยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดใหญ่ พร้อมเตือนว่า ชุมชนยากจนจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน เพื่อไม่ให้พวกเขาหวนกลับไปพึ่งพาการค้าสัตว์ที่ผิดกฎหมายและทำให้สัตว์ป่าสูญพันธุ์
มาร์ก โจนส์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายขององค์กร Born Free กล่าวว่า การค้าสัตว์ป่าไม่เพียงแต่จะส่งผลเสียต่อสวัสดิภาพของสัตว์หลายล้านตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกลดลงด้วย
“เราจำเป็นต้องลงลึกและสร้างความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างเรากับธรรมชาติใหม่ ทบทวนจุดยืนของเราในธรรมชาติ และดูแลโลกของเราและประชากรทั้งหมดของโลกด้วยความเคารพอย่างสูงสุด เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย” เขากล่าว
จากการสำรวจโดยองค์กรการกุศลเพื่อสัตว์ป่าอย่าง WWF พบว่าประชาชนจำนวนมากในเอเชียสนับสนุนให้ตลาดค้าสัตว์ป่าและการค้าสัตว์ป่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย
ดร.โจนส์ระบุว่า “องค์การอนามัยโลกมีอำนาจในการส่งเสริมสุขภาพของมนุษย์ ทำให้โลกปลอดภัย และปกป้องกลุ่มคนที่เปราะบาง เราจึงเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกแนะนำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ปิดตลาดค้าสัตว์เป็นการถาวร และควบคุมการค้าสัตว์เพื่อทำเป็นอาหาร ยาแผนโบราณ และการใช้ประโยชน์เพื่อวัตถุประสงค์เล็กน้อย ซึ่งเป็นการสูญเปล่า ทั่วโลกจำเป็นต้องตอบสนองต่อมาตรการควบคุมการค้าสัตว์ป่า เพื่อป้องกันวิกฤตสุขภาพของมนุษย์ และเพื่อชะลอการเสื่อมโทรมของธรรมชาติ”