นักวิจัยชี้ เปิดเผยเรื่อง “ความไม่แน่นอน” ในภาวะ COVID-19 ไม่ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน

นักวิจัยชี้ เปิดเผยเรื่อง “ความไม่แน่นอน” ในภาวะ COVID-19 ไม่ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน

นักวิจัยชี้ เปิดเผยเรื่อง “ความไม่แน่นอน” ในภาวะ COVID-19 ไม่ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถานการณ์ COVID-19 ที่กินเวลานานกว่า 3 เดือนแล้วนี้ เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ไม่มีใครสามารถฟันธงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและตัวเลขได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้หลายคนเกิดความหวาดระแวงและตื่นตระหนก อย่างไรก็ตาม นักวิจัยได้เปิดเผยว่า ที่จริงแล้ว คนเราสามารถรับมือกับความจริงได้ และการเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบถึงความไม่แน่นอน ก็ไม่ได้ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนแต่อย่างใด

ดร.เดวิด สปีเกลฮอลเตอร์ นักสถิติและประธานศูนย์วินตันเพื่อการสื่อสารด้านความเสี่ยงและการพิสูจน์หลักฐาน ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวว่า ความไม่แน่นอนในเรื่องของข้อเท็จจริง ตัวเลข และวิทยาศาสตร์ เรียกว่า ความไม่แน่นอนในทางญาณวิทยา (epistemic uncertainty) ซึ่งเกิดจากการขาดความรู้เกี่ยวกับอดีตและปัจจุบัน

วิทยาศาสตร์นั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนทางญาณวิทยา สิ่งที่เราไม่รู้ที่กลายเป็นความจริงผ่านการโต้เถียงและการทดลอง คือสิ่งที่ก่อให้เกิดความก้าวหน้า แต่วิทยาศาสตร์ก็มักจะถูกคาดหวังให้เป็นสิ่งที่นำไปสู่คำตอบที่ถูกต้อง ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง ผู้วางนโยบาย รวมทั้งนักหนังสือพิมพ์บางคน ที่เชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์ จึงมักไม่ค่อยยอมรับความไม่แน่นอนซึ่งมีอยู่โดยธรรมชาติ และยังกังวลว่า ความตรงไปตรงมาจะทำลายความน่าเชื่อถือ

อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อนักวิทยาศาสตร์ยอมรับความไม่แน่นอน เป็นคำถามเบื้องหลังของการศึกษา ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ในวารสาร Proceedings of the National Academy of the Sciences การศึกษานี้สำรวจ “ผลกระทบของการสื่อสารเรื่องความไม่แน่นอนที่มีต่อความเชื่อมั่นในด้านข้อเท็จจริงและตัวเลขของประชาชน”

“การกล่าวโทษสังคมยุคหลังความจริง (Post-truth) และอ้างว่าประชาชนมีผู้เชี่ยวชาญมากพอแล้ว กระตุ้นให้เราสืบหาว่า ความเชื่อมั่นในตัว “ผู้เชี่ยวชาญ” ลดลงหรือไม่ เมื่อพวกเขายอมรับอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในสิ่งที่พวกเขารู้” ดร.สปีเกลฮอลเตอร์ หนึ่งในผู้ศึกษาหลักกล่าว

ผลการศึกษาระบุว่า ความโปร่งใสเกี่ยวกับความไม่แน่นอน ไม่ได้มีผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อข้อเท็จจริงหรือตัวแหล่งข่าว

“ผลการศึกษาชี้ให้เราเห็นว่าประชาชนสามารถรับมือกับความจริงเกี่ยวกับระดับความแน่นอนหรือไม่แน่นอนของข้อเท็จจริงหรือความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้” แอนน์ มาร์ธ ฟอน เดอ แบลส นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโกรนิงเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าว

การแถลงการณ์เกี่ยวกับตัวเลขที่แม่นยำจะมีประสิทธิภาพทั้งในการถ่ายทอดความไม่แน่นอนและการรักษาความเชื่อมั่น แม้ว่าในการวิจัยจะพบว่าความเชื่อมั่นของประชาชนลดลงเล็กน้อย แต่นักวิจัยก็มองว่าเป็นผลกระทบที่น้อยมาก

เอ็ด ฮัมเฟอร์สัน อธิบดีกรมข้อบังคับด้านสถิติของสหราชอาณาจักรกล่าวว่า “การเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีราศีของความถูกต้อง แต่ขึ้นอยู่กับความซื่อตรงและความโปร่งใส”

ด้านลอร์แรน ดาสตัน นักประวัติศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์จากสถาบันแม็กซ์ แพลงค์ เพื่อประวัติศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ในกรุงเบอร์ลิน กล่าวว่า ประชาชนเองก็จะต้องเปิดกว้างเพื่อพิจารณาและปรับตัวตามหลักฐานใหม่

“ประชาชนอย่างเราต้องคาดหวังมุมมองทางวิทยาศาสตร์ที่มีต่อธรรมชาติของไวรัส และวิธีการที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับมัน เพื่อเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีหลักฐานเข้ามาเป็นจำนวนมาก และเตรียมตัวเปลี่ยนแปลงวัตรปฏิบัติของเราเอง” เธอกล่าว

ความรู้ทั่วไปจากมุมมองของนักจิตวิทยาก็คือ คนเราไม่ชอบความไม่แน่นอน โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับอนาคต และความรู้สึกนี้จะก่อให้เกิดการตอบสนองเชิงลบ และจากมุมมองของนักสถิติ สมมติฐานก็คือ คนเราจะมีปฏิกิริยาในเชิงบวกและเชื่อมั่นในข้อมูลมากกว่า เมื่อผู้สื่อสารเปิดเผยเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของข้อเท็จจริงและตัวเลข

“แรงจูงใจก็คือการพยายามตัดสินระหว่างสมมติฐานทั้งสองนี้” แซนเดอร์ แวน เดอร์ ลินเดน นักวิจัยหลัก นักจิตวิทยา และผู้อำนวยการศูนย์ทดลองด้านการตัดสินใจทางสังคมของเคมบริดจ์กล่าว “ที่สุดแล้ว เราไม่พบข้อมูลสนับสนุนว่า การสื่อสารเรื่องความไม่แน่นอนจะเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชน แต่มันก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่มีอยู่อย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด”

ในระยะแรกของการระบาด ที่ข้อมูลต่างๆ เริ่มออกมาจากประเทศจีน เราอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “ความไม่แน่นอนเชิงลึก” (deep uncertainty) หรือ “ความไม่แน่นอนอย่างสุดโต่ง” (radical uncertainty) ซึ่งถือเป็นบ่อโคลนของความไม่รู้ที่ไม่รู้ แต่ดร.สปีเกลฮอลเตอร์กล่าวว่า “ยิ่งมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากเท่าไร การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ก็ยิ่งกลายเป็นปัญหาที่มีจุดสิ้นสุดเร็วขึ้นเท่านั้น”

ข้อจำกัดและความไม่แน่นอนต่างๆ มักจะหนีไม่พ้นที่จะถูกใช้แบบผิดๆ ในทางการเมือง และยังเกี่ยวพันกับการให้ข้อมูลผิดๆ และข่าวปลอม ทำให้การเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนกลายเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตาม ดร.สปีเกลฮอลเตอร์กล่าว การวิจัยนี้เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นถึงคุณค่าของการยอมรับความไม่รู้เหล่านี้ และเป็น “การทดลองเชิงประจักษ์ของความอ่อนน้อมถ่อมตน”

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook