ผู้ชายติด “COVID-19” อาการหนักกว่าผู้หญิง จริงหรือไม่
จากสถิติผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ทั่วโลก พบว่าส่วนใหญ่ผู้ชายจะมีอัตราการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิง นอกจากนี้ เจมส์ กิลล์ ผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยแพทย์วอร์ริค ยืนยันว่าผู้ชายมีแนวโน้มที่จะมีอาการหนักกว่าและมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิงด้วย
การวิเคราะห์กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้ป่วย COVID-19 กว่า 127,700 เคส ในอิตาลี พบว่า 52.9% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดเป็นผู้ชาย และ 47.1% เป็นผู้หญิง และเกือบ 68% ของผู้เสียชีวิตกลุ่มแรก ซึ่งมีจำนวน 14,860 คน เป็นผู้ชาย ส่วนรายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีนระบุว่า ในชุดข้อมูลของผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อ จำนวน 44,672 เคส อัตราการเสียชีวิตจาก COVID-19 ของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 1.1%
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ผู้ชายป่วยหนักกว่าและมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า ประกอบด้วย ความเสี่ยงด้านพฤติกรรม จากการที่ผู้ชายโดยทั่วไปไม่ได้ดูแลร่างกายมากเท่ากับผู้หญิง ซึ่งรวมถึงการล้างมือและการดูแลเรื่องอนามัยน้อยกว่า และการสูบบุหรี่ บริโภคแอลกอฮอล์ ความอ้วน และพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพอื่นๆ โดยในหลายประเทศ ผู้ชายมีอัตราการสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคปอด และมะเร็ง
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางชีววิทยา โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า ผู้หญิงจะมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่รุนแรงกว่าผู้ชาย ทั้งการตอบสนองต่อวัคซีน การติดเชื้อ ไปจนถึงโรคภูมิต้านเนื้อเยื่อของตนเอง (autoimmune diseases)
ฟิลิป โกลเดอร์ ศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยา จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า มีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้หญิงมีระบบภูมิคุ้มกันที่รุนแรงกว่า หนึ่งในนั้นคือการที่ผู้หญิงมีโครโมโซม X 2 ตัว ในขณะที่ผู้ชายมีโครโมโซม X เพียงตัวเดียว และยีนที่เป็นภูมิคุ้มกันสำคัญจำนวนหนึ่งจะพบในโครโมโซม X เท่านั้น
“โปรตีนที่จะเข้าไปจับกับไวรัสอย่างไวรัสโคโรนาจะถูกเข้ารหัสในโครโมโซม X นั่นหมายความว่าโปรตีนชนิดนี้จะก่อตัวในเซลล์ภูมิคุ้มกันของผู้หญิงเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ชาย ทำให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถของร่างกายผู้หญิงในการต่อสู้กับเชื้อ COVID-19 ได้มากกว่า” โกลเดอร์กล่าว