เมื่อ “COVID-19” ระบาดทั่วโลก ประเทศใดจะเป็นปลายทางสุดท้ายของไวรัส

เมื่อ “COVID-19” ระบาดทั่วโลก ประเทศใดจะเป็นปลายทางสุดท้ายของไวรัส

เมื่อ “COVID-19” ระบาดทั่วโลก ประเทศใดจะเป็นปลายทางสุดท้ายของไวรัส
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชื้อไวรัสโคโรนาปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน ช่วงเดือนมกราคม และหลังจากนั้นไม่นาน เชื้อไวรัสดังกล่าวก็กลายเป็นปัญหาของโลก เมื่อมีการพบผู้ติดเชื้อไวรัสในประเทศไทย ก่อนจะแพร่ระบาดไปในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นกว่า 1 ล้านรายในช่วงเวลาไม่ถึง 3 เดือน

แต่ในช่วงวิกฤติของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ก็ยังมีประเทศจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มีรายงานการระบาดของเชื้อไวรัส จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ แสดงว่ามี 18 ประเทศทั่วโลกที่ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา ได้แก่ คอโมโรส คิริบาส เลโซโท หมู่เกาะมาร์แชลล์ ไมโครนีเซีย นาอูรู เกาหลีเหนือ ปาเลา ซามัว เซาตูเมและปรินซีปี หมู่เกาะโซโลมอน เซาท์ซูดาน ทาจิกิสถาน ตองกา เติร์กเมนิสถาน ตูวาลู วานูอาตู และเยเมน

ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนชี้ว่าอาจมีบางประเทศที่ไม่รายงานผู้ติดเชื้อ เช่น เกาหลีเหนือที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็น 0 เช่นเดียวกันประเทศเยเมน อย่างไรก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสจะยังเดินทางไปไม่ถึงบางประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหมู่เกาะเล็ก ๆ ที่มีนักท่องเที่ยวไม่มาก ในรายงานขององค์การสหประชาชาติ 7 ใน 10 ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวน้อยที่สุดในโลกยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาเลย

ความห่างไกลของหมู่เกาะเหล่าชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่ทุกคนกำลังทำการรักษาระยะห่างทางสังคม ประเทศที่เป็นหมู่เกาะถือเป็นต้นกำเนิดของการรักษาระยะห่างทางสังคมมาอย่างยาวนาน แต่ประเทศเหล่านี้ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะพวกเขาได้ยกให้ COVID-19 เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินของประเทศแล้วเช่นกัน

ประเทศนาอูรู ในมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากหมู่เกาะบานาบา ซึ่งเป็นเกาะที่ใกล้ที่สุดราว 320 กิโลเมตร เมืองที่ใหญ่ที่สุดที่มีเที่ยวบินตรงคือเมืองบริสเบน ที่ต้องบินไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศประมาณ 4,000 กิโลเมตร นาอูรูเป็นประเทศที่เล็กเป็นอันดับ 2 ในรายงานขององค์การสหประชาชาติ (รองจากโมนาโก) และมีประชากรกว่า 10,000 คน

นี่เป็นอีกสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวน้อยที่สุดในโลก โดยมีนักท่องเที่ยวเพียงปีละ 160 คนเท่านั้น แต่ถึงแม้จะอยู่ห่างไกล แต่ประเทศแห่งนี้ที่มีโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียว ไม่มีเครื่องช่วยหายใจ และมีบุคลากรทางแพทย์น้อย ก็มีมาตรการรับมือกับโรค COVID-19 เช่นกัน โดยตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. เป็นต้นมา มีการสั่งห้ามนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน เกาหลีใต้ และอิตาลีเข้าประเทศ และ 5 วันหลังจากนั้นก็เพิ่มอิหร่านเข้าไป

ต่อมาในช่วงกลางเดือน มี.ค. สายการบินนาอูรูยกเลิกเที่ยวบินไปยังฟิจิ คิริบาส และหมู่เกาะมาร์แชลล์ แต่ยังเหลือเที่ยวบินไปยังบริสเบน ซึ่งลดจำนวนเที่ยวบินลงจาก 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็น 2 สัปดาห์ครั้ง หลังจากนั้น ประกาศให้ประชากรที่เดินทางกลับจากประเทศออสเตรเลีย ต้องทำการกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน ในโรงแรมที่จัดหาให้

“เราผลักให้ทุกอย่างไปอยู่ที่ด่านชายแดน โดยใช้สนามบินเป็นด่านชายแดนและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนเครื่องเป็นส่วนหนึ่งของชายแดน” ประธานาธิบดีลิโอเนล อินจิเมียกล่าว และชี้ว่านโยบายที่เขาใช้ คือ “จับและยับยั้ง”

คนที่ต้องกักตัวจะต้องเฝ้าสังเกตอาการทุกวัน หากใครสักคนมีไข้ เขาก็จะถูกแยกตัวออกไปและตรวจหาเชื้อ COVID-19 ซึ่งอุปกรณ์การตรวจถูกส่งมาจากออสเตรเลีย แต่ผลที่การตรวจเป็นลบทั้งหมด

ขณะที่ใช้ชีวิตอยู่ในวิกฤติของโรค ประชาชนชาวนาอูรูต่าง “สงบและไม่ตื่นตระหนก” ซึ่งประธานาธิบดีเองก็รู้สึกซาบซึ้งใจสำหรับการช่วยเหลือจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศออสเตรเลียและไต้หวัน และถึงแม้ว่านาอูรูจะพยายามป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อเกิดขึ้นในประเทศ ประธานาธิบดีก็รู้ดีว่าประเทศอื่นทั่วโลกไม่ได้โชคดี

“ทุกครั้งที่เราดูแผนที่การระบาด มันเหมือนกับว่าโลกเป็นโรคหัด มีจุดแดง ๆ เต็มไปหมดเลย” เขากล่าว

นาอูรูไม่ใช่ประเทศเล็ก ๆ ในมหาสมุทรแฟซิฟิกเพียงประเทศเดียวที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คิริบาส ตองกา วานูอาตู และอีกหลายประเทศก็ทำเช่นเดียวกัน ซึ่งนายแพทย์คอลิน ทูคูอิทองกา จากประเทศนีวเวในแปซิฟิกใต้ชี้ว่ามันเป็นนโยบายที่เหมาะสม

“สิ่งสำคัญที่สุดคืออย่าให้ไวรัสเข้ามาในประเทศ เพราะถ้ามันเข้ามาได้ ก็จะแย่กันหมด” นายแพทย์คอลินกล่าว “ประเทศเหล่านี้ไม่มีระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง พวกเขาเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่บอบบาง เหลายประเทศไม่มีเครื่องช่วยหายใจ ถ้าเกิดการแพร่ระบาดขึ้น มันคงจะคร่าชีวิตประชากรในประเทศ”

ทั้งนี้ เขายังชี้ว่า ประชาชนในหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกเหล่านี้มีสุขภาพที่ไม่ดีอยู่แล้ว โดยหลายคนมีภาวะของโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคที่เกี่ยวกับทรวงอก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาการที่จะแย่ลงหากเกิดการติดเชื้อ และหากมีผู้ติดเชื้อขึ้นมาจริง ๆ ประเทศเหล่านี้ต้องส่งผู้ป่วยไปรักษาในต่างประเทศเท่านั้น การป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด

“ประเทศเล็ก ๆ ที่มีประชากรไม่มากท่ามกลางมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ เป็นปัญหาสำหรับพวกเขาอยู่แล้ว พวกเขาจึงต้องทำการปกป้องตัวเอง” นายแพทย์คอลินกล่าว

ขณะที่ประเทศมาลาวี ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล พร้อมด้วยประชากรกว่า 18 ล้านคนในแอฟริกาตะวันออก ก็พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนารายแรกของประเทศ แต่พวกเขาเตรียมการรับมือเอาไว้แล้ว โดยมาลาวีประกาศ “ภาวะภัยพิบัติ” สั่งปิดโรงเรียน และยกเลิกวีซ่าเข้าประเทศก่อนวันที่ 20 มี.ค. พร้อมกันนี้ ยังมีการตรวจคัดกรองโรคอีกด้วย

นายแพทย์ปีเตอร์ แมคเฟอร์สัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจากภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ชี้ว่า มาลาวีได้ทำการเตรียมตัวล่วงหน้ามากว่า 2 สัปดาห์ และเขามั่นใจมากว่ามาลาวีจะสามารถรับมือปัญหานี้ได้

“เราได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคเอดส์มากว่า 30 ปี รวมทั้งวัณโรคด้วย การตอบสนองที่มีประสิทธิผลคือระบบสาธารณสุขพื้นฐาน แต่ก็มีประสิทธิภาพ การทำงานที่เป็นขั้นตอนในระดับเขต ทำง่าย ๆ แต่ทำอย่างดี” นายแพทย์ปีเตอร์กล่าว ทั้งนี้ เขายังยกการศึกษาที่ชี้ว่าไวรัสโคโรนาจะแพร่ระบาดไปทุกประเทศทั่วโลก คำถามก็คือ แล้วประเทศไหนจะเป็นประเทศสุดท้ายที่จะมีผู้ติดเชื้อ COVID-19

“คงเป็นประเทศแถบแปซิฟิกใต้ หมู่เกาะห่างไกลมาก ๆ ผมพนันได้เลย” แอนดี้ ทาเทม อาจารย์ประจำภาควิชาประชากรศาสตร์และระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน ชี้ “แต่ในระบบเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ ผมก็ไม่มั่นใจว่าจะมีที่ไหนรอดพ้นการติดเชื้อไวรัสนี้ได้”

การล็อกดาวน์เหมือนที่ประเทศนาอูรูทำอาจจะได้ผล แต่อาจารย์แอนดี้ก็มองว่า พวกเขาไม่สามารถทำแบบนี้ได้ตลอดไป

“ประเทศเหล่านี้ต้องใช้ของที่นำเข้ามาจากนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ของใช้ หรือการท่องเที่ยว หรือไม่พวกเขาก็ต้องส่งออกสินค้าของตัวเอง การล็อกดาวน์ทั้งหมดมีความเป็นไปได้ แต่มันจะส่งผลกระทบ ซึ่งทำให้ไม่ว่าจะยังไง พวกเขาก็ต้องเปิดประเทศ”

แต่อาจารย์แอนดี้ก็เตือนว่า จำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่ถึงจุดสูงสุด

“เราต่างทำการล็อกดาวน์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง และเราก็ยังมีคนอีกมายมายที่ยังไม่ติดโรค ซึ่งมันดีต่อระบบสาธารณสุข แต่ก็หมายความว่าเรามีคนที่จิตใจอ่อนไหวง่ายอยู่มากมายบนโลก ดังนั้น เราคงต้องอยู่กับเชื้อไวรัสนี้ไปอีกสักพัก”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook