“ไวรัสโคโรนา” จะนำไปสู่จุดจบของภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ได้หรือไม่
หลังจากประสบความสำเร็จครั้งใหญ่เมื่อปี 2019 จาก Avengers: Endgame และ Spider-Man: Far from Home ค่ายหนังยักษ์ใหญ่อย่าง Marvel Cinematic Universe ก็ดูจะกลายเป็นอมตะ จากภาพยนตร์ยอดฮิต ที่มาพร้อมกับนักแสดงในชุดรัดรูป เอฟเฟ็กต์สุดปัง และบทพูดคมๆ ต่อคิวเข้าฉายในโรงจนกระทั่งวันสิ้นโลก จนแทบจะเรียกได้ว่าต่อจากนี้คงไม่มีปีใดที่ขาดภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่
แต่น่าเศร้าที่วันสิ้นโลกมาถึงอย่างรวดเร็วกว่าที่เราคาดคิด เพราะแม้จะสามารถต่อกรกับเหล่าร้าย ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีสมคบคิดของนาซี มนุษย์ต่างดาว หรือกองทัพหุ่นแอนดรอยด์ แต่ซุปเปอร์ฮีโร่ขวัญใจคอหนังกลับไม่สามารถเอาชนะโรคระบาดในชีวิตจริงได้
ไวรัสโคโรนาสร้างความโกลาหลให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างมาก กำหนดการฉายภาพยนตร์ของ MCU ที่วางไว้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน ต้องล่าช้าออกไปเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วง หรือเลื่อนไปเป็นปีหน้า การเลื่อนกำหนดฉายภาพยนตร์สะท้อนให้เห็นความท้าทายในขณะนี้ และยิ่งกว่านั้น ยังแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์แนวซุปเปอร์ฮีโร่แทบไม่มีความเกี่ยวข้องกับโรคระบาดเลย เพราะที่ผ่านมา ภาพยนตร์แนวนี้ได้รับความนิยมจากการต่อสู้ในรูปแบบของสงคราม ไม่ใช่การกอบกู้โลกจากโรคระบาดใหญ่ อย่างความสำเร็จครั้งใหญ่ของภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ ที่เกิดขึ้นหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้น โดยในการผจญภัยครั้งแรกๆ ของ Superman เขาได้จับตัวฮิตเลอร์และสตาลินเพื่อยุติสงคราม รวมทั้งวีรบุรุษและวีรสตรีของชาติอย่าง Captain America และ Wonder Woman ที่ต่อสู้กับกองทัพนาซีและญี่ปุ่น เพื่อปกป้องบ้านเกิดของตัวเอง
ส่วนหนังสือการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่ก็ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่มีการทำ “สงครามแห่งความกลัว” Iron Man ต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายในอัฟกานิสถานในภาพยนตร์ที่ฉายเมื่อปี 2008 ส่วนใน Spider-Man: Far From Home ในปี 2019 ฮีโรของเราก็สามารถควบคุมกองทัพโดรนที่ทรงอาณุภาพยิ่งกว่าสหรัฐอเมริกา และในช่วง 11 ปี ระหว่างภาพยนตร์ทั้งสองเรื่อง แฟรนไชส์ของ MCU ทำรายได้ถึง 22.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
การต่อสู้ของซุปเปอร์ฮีโร่ในภาวะสงครามนั้นก็ตรงไปตรงมา สร้างภาพแฟนตาซีเกี่ยวกับความแข็งแกร่ง ความรุนแรง และชัยชนะ รวมทั้งอิงอยู่กับภาพของผู้ชายร่างกำยำและผู้หญิงที่เตะต่อยต่อสู้กับคนชั่ว จนกระทั่งคนชั่วเหล่านั้นพ่ายแพ้ไป การเล่าเรื่องของ MCU ที่มีทั้งการรวมทีมและข้ามเรื่องกันไปมา มักจะเกี่ยวกับการที่คนที่มีพลังพิเศษหลายคนมารวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับศัตรู ด้วยยุทธวิธีแบบทหาร มีศัตรูอยู่ข้างนอกนั่น และเราจะร่วมมือร่วมใจกันเป็นหนึ่ง พร้อมด้วยกองกำลังที่แข็งแกร่ง เพื่อเอาชนะศัตรูของเรา
แต่กองกำลังที่แข็งแกร่งไม่สามารถต้านเชื้อไวรัสได้ และการรวมตัวกันก็เป็นสิ่งที่อันตราย การตอบสนองต่อไวรัสต้องใช้การหยุดการเคลื่อนไหว แยกตัว และไม่ทำกิจกรรมใดๆ จนกระทั่งเศรษฐกิจทรุดตัวและเราก็รอคอยอย่างกระวนกระวายว่าเมื่อไรจะไอ และแทนที่จะเน้นต่อสู้โดยการแลกหมัด เราถูกเรียกร้องให้ช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่นขณะที่บั่นทอนกำลังใจตัวเอง
หากจะพูดถึงการเป็นวีรบุรุษ ก็คงจะเป็นวีรบุรุษที่มีความอดทนในขณะที่คนอื่นๆ มีพลังน้อยลง ภาพยนตร์เกี่ยวกับภัยพิบัติ อย่าง Contagion หรือภาพยนตร์ซอมบี้ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของหายนะจากการไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เหล่านี้มีความใกล้เคียงกับสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่าภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ เราไม่อาจจินตนาการถึงการกอบกู้โลกได้เลย เมื่อเรายังแทบนึกไม่ออกว่าจะเดินทางไปเยี่ยมคนที่เรารักได้อย่างไร
แล้วเชื้อไวรัสโคโรนาจะทำให้ภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ถึงจุดจบหรือไม่ คำตอบคืออาจจะไม่ แม้ว่าก่อนที่จะเกิดโรคระบาด ภาพยนตร์แนวนี้ก็มีสัญญาณที่แผ่วลงและไม่ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นเช่นที่เคย อย่างในกรณีของ Birds of Prey จากค่าย DC ที่เปิดตัวเมื่อต้นปี ก็ไม่ประสบความสำเร็จในแง่รายได้ อย่างไรก็ตาม แฟนคลับของ MCU ก็ยังคงเฝ้ารอภาพยนตร์จากค่ายนี้อย่างตื่นเต้นอยู่
ไวรัสโคโรนาจะไม่นำ MCU ไปสู่จุดจบอย่างถาวร แต่การที่ค่ายยักษ์ใหญ่สายซุปเปอร์ฮีโร่ต้องหยุดชะงักครั้งนี้ก็เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนว่า ภาพยนตร์แนวซุปเปอร์ฮีโร่นั้นสร้างกรอบปัญหาและทางออกที่จำเพาะ รวมทั้งมีการตอบสนองต่อเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์เฉพาะ Iron Man อาจจะเอาชนะกองทัพของธานอสได้ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เมื่อรัฐบาลที่อ่อนแอพาประเทศเข้าสู่วิกฤตโรคระบาดใหญ่ ซุปเปอร์ฮีโร่อาจจะต้องอยู่เงียบๆ ไปก่อน เพราะพวกเขาไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยพวกเราในสถานการณ์นี้