นักวิจัยเผย “วัคซีนต้านไวรัสโคโรนา” ใกล้สำเร็จแล้ว

นักวิจัยเผย “วัคซีนต้านไวรัสโคโรนา” ใกล้สำเร็จแล้ว

นักวิจัยเผย “วัคซีนต้านไวรัสโคโรนา” ใกล้สำเร็จแล้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก เผยว่าวัคซีนที่อาจช่วยป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 (COVID-19) ได้รับการพัฒนาและประสบความสำเร็จในขั้นทดลองกับหนูแล้ว

“เราอยากนำวัคซีนไปใช้กับผู้ป่วยอย่างเร็วที่สุด” แอนเดรีย แกมบอตโต อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก แถลง ขณะที่หลุยส์ ดี. ฟาโล จูเนียร์ อาจารย์ประจำภาควิชาโรคผิวหนัง มหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์กก็ชี้ว่า การทดลองนี้อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 – 2 เดือน โดยพวกเขาเพิ่งเริ่มขั้นตอนดังกล่าว

ในขณะที่การระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนากินเวลามาเกือบ 3 เดือนแล้ว ซึ่งทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วกว่า 1 ล้านคน และเสียชีวิตแล้วเกือบ 1 แสนคน นั่นจึงเป็นความท้าทายของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อพัฒนาวัคซีนที่จะสามารถเอาชนะเชื้อไวรัสดังกล่าวได้

โดยปกติแล้ว การพัฒนาวัคซีนจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีเพื่อให้ได้รับการตรวจสอบจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ แต่ในวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา อาสาสมัครในซีแอตเทิลได้รับการฉีดวัคซีนที่สามารถป้องกันโรค COVID-19 ได้ ซึ่งวัคซีนดังกล่าวได้รับการพัฒนาโดยบริษัทโมเดิร์นนา และถูกใช้ในการวิจัยทางคลินิกของศูนย์วิจัยสุขภาพไคเซอร์ เพอร์มาเนนท์ วอชิงตัน

ขณะที่วัคซีนที่กำลังทดสอบอยู่ที่ซีแอตเทิลเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่และรวดเร็ว เพียงแต่ยังไม่ได้รับการทดสอบ วัคซีนที่มหาวิทยาพิตส์เบิร์กพัฒนาขึ้นมาใช้เทคนิคเดียวกับยาต้านไข้หวัด ซึ่งใช้ไวรัลโปรตีนที่ห้องปฏิบัติการสร้างขึ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันของคนต่อเชื้อไวรัส การทดสอบในหนูพบว่า วัคซีนที่ถูกพัฒนาขึ้นมานี้สามารถกระตุ้นการสร้างสารภูมิต้านทานที่ใช้ต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์

วัคซีนดังกล่าวถูกต่อยอดมาจากการวิจัยของแกมบอตโตและฟาโล ในปี 2003 โดยครั้งนั้น พวกเขาพยายามคิดค้นวัคซีนที่ใช้สำหรับโรคไข้หวัดมรณะ (Severe Acute Respiratory Syndrome หรือ SARS) นักวิทยาศาสตร์หลายคนชี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่วัคซีนสำหรับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์หนึ่งจะสามารถป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่น ๆ ได้

ทั้งนี้ แกมบอตโตยังอธิบายว่า พวกเขาปรับเทคนิคที่เคยใช้พัฒนาวัคซีนสำหรับเชื้อไวรัสโคโรนาก่อนหน้านี้ เพื่อสร้างรูปแบบที่เจาะจงสำหรับเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 ซึ่งขั้นตอนการถอดรหัสการทำงานของพวกเขาเพื่อนำมาใช้สำหรับโรค COVID-19 นั้น นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลา 10 – 12 วัน

วัคซีนที่แกมบอตโตและฟาโลพัฒนาขึ้นมานี้ จะต้องฉีดที่ต้นแขนส่วนบน แต่ไม่แนะนำให้เป็นการฉีดยาที่ใช้เข็มเหมือนกับวัคซีนป้องกันโรคหวัด ซึ่งนักวิจัยก็ได้พัฒนาแผ่นแปะขนาดปลายนิ้วประมาณ 1 เซนติเมตร ที่มีเข็มอันเล็กกว่า 400 เข็ม ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า แผ่นแปะดังกล่าวจะรู้สึกเหมือนเราเอาแผ่นแปะตีนตุ๊กแกมาแปะที่ผิว

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือวัคซีนดังกล่าวไม่ต้องแช่แข็งเมื่อต้องจัดเก็บหรือทำการขนส่ง มันสามารถอยู่ในได้อุณหภูมิห้อง ซึ่งทำให้วัคซีนดังกล่าวมีราคาถูกเมื่อต้องทำการขนส่งไปยังต่างประเทศ แม้ในตอนนี้นักวิจัยยังไม่สามารถบอกราคาค่าใช้จ่ายของวัคซีนดังกล่าวได้ แต่พวกเขาก็ประมาณราคาของแผ่นแปะไว้ที่แผ่นละไม่เกิน 30 บาท

แม้จะมีรายงานที่ชี้ว่าวัคซีนสำหรับป้องกันหรือรักษาโรค COVID-19 อาจต้องใช้เวลาพัฒนานานกว่า 18 เดือน จึงจะสามารถนำมาใช้กับมนุษย์ได้ แต่วัคซีนตัวแรกจะใช้เวลานานแค่ไหนจึงจะใช้ได้ก็ยังไม่มีใครรู้ และนักวิทยาศาสตร์หลายคนก็พิจารณารายงานการวิจัยต่าง ๆ ดังเช่น ของพิตส์เบิร์กอย่างระมัดระวัง

“มีผู้ศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาวัคซีนเยอะมาก และก็อยู่ในขั้นตอนที่หลากหลาย” เดวิด โอคอนเนอร์ อาจารย์ประจำคณะแพทย์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ชี้

“วัคซีนที่สร้างปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญในการเลือกว่าวัคซีนตัวไหนควรได้ไปต่อ แต่มันก็เป็นขั้นตอนแรก ๆ ในอีกหลายขั้นตอนต่อจากนี้ที่จะได้มาซึ่งวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และรายงานการวิจัยชิ้นนี้ก็แสดงให้เห็นข้อมูลในขั้นตอนแรกแล้ว”

โอคอนเนอร์ยังชี้อีกว่า ผู้พัฒนาวัคซีนถูกบังคับด้วยเงื่อนของเวลาในการต่อสู้กับการระบาดใหญ่ แต่ว่าเรายังไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับเชื้อไวรัสนี้มากพอ ทั้งนี้ เรายังไม่รู้ว่ามนุษย์จะใช้เวลานานแค่ไหนในการสร้างภูมิคุ้มกัน ทั้งภูมิคุ้มกันธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการเอาชนะเชื้อไวรัสได้ และภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีน

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ต่างทำงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาวิธีการรักษาโรค COVID-19 นั่นคือการใช้พลาสมาของผู้ป่วยที่หายจากโรค และใช้ยาที่ถูกค้นพบแล้วว่าสามารถในกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย เช่น ยาคลอโรควิน เป็นต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook