นโยบายจีนเดียวคืออะไร ไต้หวันเป็นประเทศหรือเป็นส่วนหนึ่งของจีน

นโยบายจีนเดียวคืออะไร ไต้หวันเป็นประเทศหรือเป็นส่วนหนึ่งของจีน

นโยบายจีนเดียวคืออะไร ไต้หวันเป็นประเทศหรือเป็นส่วนหนึ่งของจีน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การปะทะฝีปากกันของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยและชาวจีนตลอดคืนวันเสาร์ (11 เม.ย.) เรื่อยมาถึงเช้าวันอาทิตย์ (12 เม.ย.) ที่เริ่มต้นจากการโพสต์ในโซเชียลมีเดียของแฟนสาวนักแสดงหนุ่มดาวรุ่ง ไบร์ท-วชิรวิญช์ ชีวอารี ในที่สุดก็ลุกลามเป็นการถกเถียงกันว่าไต้หวันเป็นประเทศ หรือเป็นส่วนหนึ่งของจีนกันแน่ 

ความสับสนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในโลกออนไลน์เท่านั้น แต่ยังมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั่วโลกอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างเกี่ยวข้องกับ "นโยบายจีนเดียว" หรือ One China Policy ในภาษาอังกฤษ

นโยบายจีนเดียว มีที่มาสืบย้อนกลับไปหลังจากกลุ่มชาตินิยม (ก๊กมินตั๋ง) ที่นำโดยจอมพลเจียง ไค-เช็ก ล้มล้างการปกครองระบอบกษัตริย์ลง และสถาปนาประเทศใหม่ที่ชื่อว่า "สาธารณรัฐจีน" ขึ้นมา ระหว่างนั้นประชาชนจำนวนมาก ที่เป็นเกษตรกร ก็ยังไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลในหลายเรื่อง ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง และการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนใหญ่ ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยหันไปสนับสนุนกลุ่มแนวคิดคอมมิวนิสต์ และเกิดการต่อสู้กันเป็นสงครามกลางเมืองเมื่อปี 2489-2492

แม้กลุ่มจีนคอมมิวนิสต์จะได้ครอบครองแผ่นดินใหญ่ และสถาปนา "สาธารณรัฐประชาชนจีน" ขึ้นมา กลุ่มชาตินิยมก็ยังไม่ยอมแพ้ และยึดเอาเกาะฟอร์โมซา ทางตะวันออกของประเทศ เป็นสถานที่ตั้งหลักของรัฐบาลพลัดถิ่น ซึ่งทัั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐจีน ต่างก็อ้างว่าตนคือรัฐบาลที่แท้จริงของ "จีน" เรื่อยมา

มีเขา ต้องไม่มีฉัน! ความสัมพันธ์ที่ต้องเลือก

เหตุนี้ทำให้รัฐบาลต่างประเทศต้องเลือกว่าจะมีความสัมพันธ์กับจีนใดกันแน่ และแน่นอนว่าในยุคแรกมีเพียงประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมและเผด็จการเท่านั้นที่เลือกมีความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือจีนแผ่นดินใหญ่ ในทางกลับกันประเทศจำนวนมาก ที่นำโดย สหรัฐ ต่างรับรองว่าสาธารณรัฐจีน หรือ ไต้หวัน เป็นจีนที่แท้จริง ซึ่งไทยก็เลือกแนวทางนี้ด้วย

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นของเรื่องนี้ เกิดขึ้นเมื่อเกิดสงครามเวียดนามและสหรัฐมีแนวโน้มว่าจะแพ้ จึงหันไปสานสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น เพราะเห็นว่าแม้จะปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมเหมือนกัน แต่เวียดนามเหนือ ที่สหภาพโซเวียตสนับสนุน และจีนในขณะนั้นกำลังมีความขัดแย้งกัน สหรัฐจึงเล็งเห็นโอกาสในการถอนตัวจากสงครามเวียดนามโดยให้จีนรับช่วงต่อ แต่ก็ต้องแลกกับการจบสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน

เมื่อสหรัฐในฐานะที่เป็นประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ "ย้ายค่าย" แล้ว ประเทศอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตร รวมถึงไทย จึงตัดสินใจตามเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2518 ในยุค ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช สถานทูตไต้หวันในไทยเป็นอันต้องปิดตัวลง และแปลงรูปเป็นเพียงองค์กร ที่ทำหน้าที่แทนสถานทูต ที่มีชื่อเรียกในยุคหลังว่า "สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป" เพื่อดำเนินความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการระหว่างกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม นโยบายจีนเดียวทำให้ไทยรับรองว่าจีนแผ่นดินใหญ่คือจีนที่แท้จริง และไต้หวันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจีน แม้คนจำนวนมากรับรู้ว่า ไต้หวันมีระบอบการปกครองที่แยกจากจีน มีสกุลเงินของตัวเอง มีนโยบายต่างๆ ของตัวเอง ที่จีนเข้ามาแทรกแซงไม่ได้ ก็ตาม เพราะฉะนั้นคำตอบว่าไต้หวันเป็นประเทศหรือไม่ จึงมีการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน

ส่วนทั้งโลกนั้น เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2563 เหลือเพียง 15 ประเทศที่รับรองไต้หวันว่าเป็นจีนที่แท้จริง ได้แก่

  • กัวเตมาลา
  • เซนต์คิตส์และเนวิส
  • เซนต์ลูเซีย
  • เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์
  • ตูวาลู
  • นครรัฐวาติกัน
  • นาอูรู
  • นิการากัว
  • เบลีซ
  • ปารากวัย
  • ปาเลา
  • หมู่เกาะมาร์แชล
  • เอสวาตินี
  • ฮอนดูรัส
  • เฮติ

ขณะเดียวกันประเทศที่รองรับจีนแผ่นดินใหญ่ ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาอยู่ที่ 180 ประเทศ

ไม่รามือแม้เผชิญไวรัสโคโรนา

นโยบายการเมืองนี้ยังส่งผลให้ไต้หวันถูกกีดกันจากการเป็นสมาชิกในองค์กรระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เท่ากับว่าไต้หวันก็ไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของยูเอ็น ไปด้วย 

เมื่อการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มาถึง ไต้หวันก็เขียนอีเมลเตือนองค์การอนามัยโลกไปว่า เกิดการแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากคนสู่คนในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ของจีน ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2562 แต่องค์การอนามัยโลก ที่มีนายเตดรอส อะดานอม เกเบรเยซุส เป็นผู้นำ ก็ไม่สนใจคำเตือนดังกล่าว

เมื่อสถานการณ์แย่ลงเรื่อยๆ องค์การอนามัยโลกก็จะการประชุมวิชาการเกี่ยวกับวิธีการรับมือและระดมองค์ความรู้เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาที่สำนักงานใหญ่ในเมืองเจนีวา ของสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อต้นเดือน ก.พ. โดยเชิญนักวิชาการจากไต้หวัน ที่รับมือกับการแพร่ระบาดของโรคได้ดี มาร่วมสนทนาผ่านวิดีโอภายใต้ชื่อ "ไทเป" แต่หลังจากนั้นนายเกิ๋ง ส่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ก็แถลงวิจารณ์องค์การอนามัยโลก ที่ให้ตัวแทนจากไต้หวันเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้

องค์การอนามัยโลกยังได้รับเสียงวิจารณ์จาก นายอะโสะ ทาโร รองนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ว่าเหตุใดจึงไม่ยอมให้ไต้หวันเป็นสมาชิก เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ทำงานร่วมกัน หรือเป็นเพราะองค์การอนามัยโลกเกรงกลัวอิทธิพลของจีนกันแน่

ไม่ใช่แค่นั้น นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐก็วิจารณ์องค์การอนามัยโลกว่าตกอยู่ใต้อิทธิพลของจีน ตั้งแต่การกดดันให้จีนเปิดเผยข้อมูลตัวเลขการระบาดที่แท้จริงไม่ได้ จนทำให้ระบาดไปทั่วโลก หรือการเปลี่ยนชื่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จากเดิมที่เรียกว่าโรคปอดอักเสบอู่ฮั่น ทั้งยังขู่ว่าจะลดเงินที่สหรัฐมอบให้ด้วย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook