เมื่อมาตรการล็อกดาวน์ช่วง “COVID-19” นำไปสู่กับดัก “ความรุนแรงในครอบครัว”

เมื่อมาตรการล็อกดาวน์ช่วง “COVID-19” นำไปสู่กับดัก “ความรุนแรงในครอบครัว”

เมื่อมาตรการล็อกดาวน์ช่วง “COVID-19” นำไปสู่กับดัก “ความรุนแรงในครอบครัว”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มาตรการต่าง ๆ ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ประเทศไทยเองก็ออกมาตรการมากมายเพื่อยับยั้งโรคระบาดนี้เช่นกัน หนึ่งในนั้นคือมาตรการที่ให้ประชาชนเก็บตัวอยู่ที่บ้าน พร้อมสโลแกน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” แม้ว่ามาตรการนี้ดูจะได้ผลในแง่ของการชะลอการระบาด แต่ผลกระทบที่ตามมาก็น่ากังวลไม่น้อย โดยเฉพาะ “ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” เพราะในขณะที่ทุกคนหยุดทำงานและอยู่แต่ในบ้าน โครงสร้างความคิดแบบชายเป็นใหญ่และความเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้หยุดตามไปด้วย และปัจจัยเหล่านี้อาจนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงและความสูญเสียที่เพิ่มมากขึ้น

เมื่อทุกคนถูกสั่งให้อยู่บ้านเพื่อชาติ แต่บ้านก็อาจไม่ใช่ที่ที่ปลอดภัยสำหรับบางคน แล้วเราจะทำอย่างไรกับปัญหานี้

“ชายเป็นใหญ่ – ทุนนิยม” ปัจจัยที่สร้างบทบาทของชายหญิง

วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่” กำหนดให้ผู้หญิงกับผู้ชายมีภาระหน้าที่แตกต่างกันไป โดยถ่ายทอด สั่งสอน และส่งต่อผ่านสถาบันทางสังคมต่าง ๆ เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา หรือแม้แต่สถาบันทางศาสนา นำไปสู่วิธีคิดและความเชื่อที่สะท้อนสถานะของผู้หญิงและผู้ชายที่ไม่เท่าเทียมกัน คุณจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล อธิบายว่า โครงสร้างแบบชายเป็นใหญ่ให้อำนาจผู้ชายสามารถใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะได้มากกว่าผู้หญิง โดยมี “สังคมลูกผู้ชาย” ที่ออกไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ไปดื่มเหล้า ไปดูมวย เป็นต้น ในขณะที่ผู้หญิงกลับถูกสังคมคาดหวังให้ “อยู่กับเหย้า เฝ้ากับเรือน” และทำงานบ้าน ประกอบกับ “ระบบทุนนิยม” ที่บีบให้คนต้องออกไปทำมาหากิน ดิ้นรนเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว ส่งผลให้ครอบครัวไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกันและเรียนรู้กัน และยังผลิตซ้ำภาพของผู้หญิงที่ต้องทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน ซึ่งการทำงานบ้านไม่ถูกมองว่าเป็นงานที่มีคุณค่าหรือให้ผลตอบแทนใด ๆ

“ด้วยความที่ระบบชายเป็นใหญ่และระบบทุนที่กำหนดให้ผู้หญิงต้องทำงานนอกบ้านและงานในครัว ผู้หญิงจึงต้องทำงานหนักมาก และก็เกิดเป็นความเคยชินว่าผู้หญิงทำงานบ้านเป็นเรื่องปกติ ขณะผู้ชายจะอยู่นอกบ้านเสียส่วนใหญ่ กินเหล้า เข้าผับบาร์ ไปดูกีฬา ซึ่งมันสะท้อนความคิดแบบชายเป็นใหญ่ชัดเจนว่าเรื่องอยู่บ้านนั้น เป็นสิ่งที่เขาไม่สามารถทำได้” คุณจะเด็จชี้

สถานะที่ไม่เท่าเทียมกันของผู้ชายและผู้หญิงนี้เอง ที่หลายครั้งก็นำไปสู่ปัญหา “ความรุนแรงในครอบครัว” ซึ่งส่วนใหญ่ “ผู้หญิง” มักตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง

“เรี่ยวแรงของผู้หญิงสู้ผู้ชายไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเวลาที่ผู้ชายปล่อยอารมณ์ เขาก็มักจะทำกับผู้ที่อ่อนแอกว่า” คุณลานทิพย์ ทวาทศิน นายกสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ บ้านพักฉุกเฉิน ดอนเมือง กล่าว

เมื่อ “บ้าน” ไม่ใช่ที่ปลอดภัย

สถานการณ์ไวรัสโคโรนาส่งผลให้รัฐต้องใช้มาตรการ “อยู่บ้าน” ควบคู่ไปกับมาตรการอื่น ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทว่ามาตรการดังกล่าวกลับสร้างความกังวลเรื่องความรุนแรงในครอบครัวที่อาจมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความเครียดที่คนไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้ คุณลานทิพย์แสดงความคิดเห็นว่าความเครียดที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ COVID-19 มีแนวโน้มที่จะทำให้คนใช้ความรุนแรงกับครอบครัวมากขึ้น เพราะคนที่อยู่ใกล้กันมาก ๆ ก็มีโอกาสที่จะกระทบกระทั่งกัน

ไม่ว่าจะมีสถานการณ์ COVID-19 หรือไม่มี โครงสร้างความคิดแบบชายเป็นใหญ่ยังไม่ได้เปลี่ยนไป หมายความว่าสถานการณ์ความรุนแรงจะไม่หยุด มันยังดำรงอยู่ทุกวัน เพียงแต่ว่าเงื่อนไขของ COVID-19 อาจจะทำให้สถานการณ์แบบนี้มันเพิ่มขึ้น กล่าวคือ พอปิดเมืองแล้วผู้ชายต้องกลับเข้ามาอยู่ในบ้านกับลูกและภรรยา มันเลยอยู่ในช่วงที่ต้องปรับตัวสูงมาก เพราะเมื่อก่อนก่อนเจอกันแค่วันหยุด พอมาเจอแบบนี้ คุณต้องอยู่ด้วยกันหลายอาทิตย์หรือเป็นเดือน” คุณจะเด็จกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น ภาวะเศรษฐกิจก็อาจทำให้ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น มาตรการปิดเมืองที่อาจส่งผลต่อการเลิกจ้าง ภาวะตกงานที่สร้างความเครียด และนำไปสู่การปะทะกันในครอบครัว อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่มักมุ่งแก้ไข “ปัญหาปากท้อง” หรือปัญหาทางเศรษฐกิจมากกว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งคุณลานทิพย์และคุณจะเด็จต่างเห็นพ้องกันว่าปัญหาปากท้องเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ไม่ควรละเลยปัญหาความรุนแรง

“ผมเชื่อว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ที่จะร้องเรียนปัญหานี้ยังไม่มาก เพราะเขาเห็นปัญหาเฉพาะหน้าก่อน เขาต้องคิดถึงเรื่องจะทำยังไงให้ครอบครัวปลอดภัยจากไวรัส พอเจอปัญหาความรุนแรงก็อาจจะต้องอดทน เอาเรื่องนี้ไว้ทีหลัง ซึ่งผมไม่อยากให้เป็นแบบนั้น อยากให้เห็นว่า ถ้าเกิดปัญหาความรุนแรง เขาก็ต้องออกมาพูด ออกมาร้องเรียน เพราะมันจะนำไปสู่ปัญหาที่หนักตามมา” คุณจะเด็จแสดงความคิดเห็น

อย่านิ่งเฉยเมื่อโดนทำร้าย

แม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 จะเป็นช่วงเวลาที่น่ากลัวและเต็มไปด้วยความวิตกกังวล แต่เมื่อเกิดความรุนแรงภายในครอบครัว ผู้หญิงก็ต้องกล้าที่จะลุกขึ้นมาร้องทุกข์หรือขอความช่วยเหลือ

“ผู้หญิงที่โดนทำร้าย โดนลงไม้ลงมือ ควรรีบไปให้แพทย์ตรวจและไปแจ้งความ ผู้หญิงมีสิทธิ์ที่จะดูแลและปกป้องร่างกายของตัวเองจากความรุนแรง เพราะเราไม่รู้ว่าหนที่หนึ่งอาจตบ หนที่สองอาจโดนเตะ ต่อไปอาจจะมีอุปกรณ์อื่นเข้ามา ดังนั้น แม้จะโดนหนึ่งครั้งก็อย่าได้นิ่งนอนใจ อย่านึกว่าเราต้องปกป้องสามี อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่อย่างนั้นความรุนแรงจะเกิดแล้วเกิดอีกและมันก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ” คุณลานทิพย์แนะนำ

ด้านคุณจะเด็จก็มองว่า แม้ตอนนี้จะเป็นช่วงเวลาของโรคอุบัติใหม่ที่ทุกคนต่างหวาดกลัว แต่คงไม่สามารถหยุดช่วยเหลือผู้ถูกกระทำจากความรุนแรงในครอบครัวได้ เพราะความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่แค่เรื่องการถูกทำร้ายร่างกาย แต่เป็นเรื่องของการถูกทำร้ายจิตใจ มีความเครียด ซึ่งก็ต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน

“ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนก็ต้องรองรับคน ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ต้องออกมาช่วยเหลือผู้หญิงด้วย ซึ่งอันนี้เป็นกลไกหนึ่งที่มันยังต้องมีอยู่ และเจ้าหน้าที่ก็ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ด้วย หรือตำรวจเองก็ยังต้องรับแจ้งความ เพราะมันมีกฎหมาย และอย่าลืมว่าการใช้ความรุนแรงในครอบครัวมันผิดกฎหมาย” คุณจะเด็จชี้

ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้และปรับตัว

ในภาวะเช่นนี้ เป็นภาวะที่ทุกคนต้องใจเย็นและมีสติมากกว่าครั้งอื่น ๆ เพราะเมื่อไรที่ใช้ความรุนแรง มันก็จะยิ่งไปกันใหญ่ ดังนั้นต้องตั้งสติ ถ้าอยู่บ้านเฉย ๆ แล้วด่ากันไปมา รับรองว่าถึงไม้ถึงมือแน่นอน” คุณลานทิพย์กล่าว

ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ แม้จะเป็นช่วงวิกฤติโรคระบาด สะท้อนให้เห็นว่า วิธีคิดและวิถีปฏิบัติที่ทำตามกันมา ล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตของสังคมแบบชายเป็นใหญ่และระบบทุนนิยมที่ตอกย้ำบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงและผู้ชาย ทั้งเป็นตัวผลักดันให้เกิดการใช้ความรุนแรงในครอบครัวอีกด้วย ดังนั้น ในสถานการณ์ที่เราทุกคนต่างต้องหลบเชื้อโรคอยู่ในบ้านพร้อมกับคนในครอบครัว นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่หลายคนจะได้ใช้เงื่อนไขนี้เรียนรู้และปรับตัวให้อยู่กับครอบครัวได้อย่างมีความสุข

“สังคมต้องเข้าใจว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ต่อให้มีหรือไม่มี COVID-19 มันก็ยังดำรงอยู่ แต่เมื่อมี COVID-19 เข้ามา มันจึงสะท้อนให้เห็นชัดเจนขึ้น ผลพวงจากจีนเห็นชัดว่ามีการหย่าเพิ่มขึ้น หลายประเทศที่ออกมาตรการล็อกดาวน์ก็เจอปัญหาความรุนแรงเพิ่มขึ้น ของไทยก็จะไม่ต่างกันเพราะมันมีเงื่อนไขที่คนไม่ได้ไปทำงาน ไม่มีงานทำ หางานทำไม่ได้ ก็ต้องอยู่ด้วยกัน ดังนั้น นี่อาจเป็นโอกาสที่หลายคนจะใช้เงื่อนไขนี้ในการเรียนรู้และอยู่กับครอบครัว ขณะเดียวกันก็ค่อย ๆ ลดความคิดแบบชายเป็นใหญ่ลง และกลับมาเรียนรู้งานบ้าน เรียนรู้ภาระของภรรยา งดดื่มเหล้า มันจะทำให้ได้เห็นอะไรมากขึ้น มันคือการทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้มากขึ้นและอยู่สนับสนุนครอบครัวของตัวเองให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน” คุณจะเด็จ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว สามารถติดต่อ หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่หรือบ้านพักเด็กและครอบครัวในจังหวัดของตัวเอง หรือ โทรสายด่วน 1300 (ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง) หรือ โทรปรึกษานักสังคมสงเคราะห์บ้านพักฉุกเฉินที่หมายเลข 02- 929-2222 หรือมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล โทร 02-513-2889

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook